xs
xsm
sm
md
lg

“อนุทิน” เปิดใจ “กัญชา” ไม่ใช่เสรีไร้ควบคุม “เป็นเสรีทางการแพทย์” “ปานเทพ” แฉ พรรคการเมืองกลับลำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข
“อนุทิน” เปิดใจ ไม่ใช่กัญชาเสรีไร้ควบคุม แต่เป็นเสรีทางการแพทย์ ระบุบางพรรคสกัดกั้น ค้านการออก พ.ร.บ.กัญชา “ปานเทพ” แถลงการณ์ตั้งข้อสังเกตพรรคการเมืองกลับลำ ลั่นทำตามคำเรียกร้องประชาชน
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (15 ก.ย. 65) ภายหลังจาก ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเสียงส่วนใหญ่มีมติให้ถอนร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 ออกจากระเบียบวาระการประชุมสภา

เพจอนุทิน ชาญวีรกูล โพสต์ในมุมมองของพรรคภูมิใจไทย ว่า

#ทีมแอดมิน กัญชา ในมุมมองของ “ภูมิใจไทย” #ไม่ใช่ยาเสพติด บางคน คิดถึงผลการเลือกตั้งในพื้นที่ มากกว่าผลประโยชน์ประชาชน

พรรคภูมิใจไทย ลงมติ เรื่อง กยศ. เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้กู้ ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา และเห็นว่า การกู้ยืมเพื่อการศึกษา ไม่ควรใช้หลักเดียวกับการกู้ไปทำธุรกิจ

เรื่อง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เราเสนอไป เพื่อกำหนดแนวทางการใช้กัญชา กัญชง ให้เป็นประโยชน์ และควบคุมการใช้ในทางที่ผิด

ซึ่งเป็นการป้องกันผลกระทบทางสังคม แต่ถูกขัดขวาง ถูกสกัด ซึ่งจะทำให้ไม่มีกฎหมายควบคุมการใช้กัญชากัญชงในทางที่ผิด

พรรคภูมิใจไทย เสนอกัญชาเสรีทางการแพทย์ ไม่ใช่กัญชาเสรีแบบไม่มีการควบคุม

แต่บางพรรคการเมืองที่สกัดกั้น คัดค้านการออก พ.ร.บ.กัญชา กัญชง นั่นล่ะ ที่ทำให้เกิดกัญชาเสรี ไม่มีการควบคุม

ต่อไปนี้ ถ้ามีการใช้กัญชา ในทางที่ผิด และไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ ต้องไปถามพรรคการเมือง ที่สกัดการออกกฎหมายกัญชา กัญชง ก็ต้องไปถามหาความรับผิดชอบจากบางพรรค ที่เล่นการเมืองจนไม่สนใจความถูกต้องเหมาะสม

พรรคภูมิใจไทย เห็นต่างจากบางพรรค

เรามองว่า กัญชา ไม่ใช่ยาเสพติด และจะคัดค้านการให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

เราเห็นกัญชา เป็นพืช เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเศรษฐกิจ ถ้าใช้ให้ถูกวิธี จึงต้องมี พ.ร.บ. กัญชา กัญชง มากำหนดแนวทางการใช้ และควบคุมการใช้ทางที่ผิด

#พูดแล้วทำ

#ทีมแอดมิน

ภาพจากแฟ้ม - นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ขณะเดียวกัน หลังสภามีมติคว่ำ พ.ร.บ.กัญชาฯ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ พร้อมด้วย นายเทวัญ ธานีรัตน์ และ นายอภิวัฒน์ จ่าตา ออกแถลงการณ์ มีเนื้อหาดังนี้

สืบเนื่องจาก 2 พรรค ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ กัญชา กัญชง และอยากให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดใหม่ อยากเรียนว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการ ได้ทำการระดมสรรพกำลัง นับตั้งแต่เกิดสุญญากาศทางข้อกฎหมาย เมื่อ 9 มิถุนายน 2565

รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาตรการหลายประการจำนวนมาก เพื่อคุ้มครองสังคม ในระหว่างที่รอกฎหมายกัญชา กัญชง แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ดีพอสมควร แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับร่าง พ.ร.บ กัญชา กัญชง ที่มีความรัดกุมรอบคอบหลายมิติ

และถ้ากฎหมายฉบับนี้ ยังไม่ผ่าน ฝ่ายการเมืองต้องคำนึงว่า สถานการณ์เดิมของภาวะสุญญากาศ จะยังคำดำรงอยู่ต่อไป

ข้อสังเกต

ประการที่ 1 การที่กัญชา ได้ถูกกำหนดให้ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 เกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ในครั้งนั้นมีการเปลี่ยนแปลงมาตรา 29 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และไม่ปรากฏ กัญชา ในรายชื่อยาเสพติด ประเภท 5 อีกต่อไป ซึ่งการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งนั้น ไม่ปรากฏว่า ขอมีการแก้ไขมาตรา 29 ทั้งจาก 2 พรรค แต่อย่างใด

ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 25464 ที่ประชุมรัฐสภา 2 สภา ลงมติเห็นชอบกับประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่แก้ไขทั้งฉบับ ลงมติ 467 เสียง เป็นเอกฉันท์ โดยไม่มีเสียงคัดค้าน จากทั้งสองพรรค แม้แต่คนเดียว

แสดงให้เห็นว่า มีส่วนร่วมอย่างยิ่ง ให้กัญชาออกจากยาเสพติด

ประการที่ 2 หลังจากการลงมติแล้วเมื่อ 24 สิงหาคม 2564 ให้กัญชาไม่ใช่ยาเสพติด ก็ได้ปรากฏว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ได้ดำเนินการตามมติสภา จึงได้ลงมติตามความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ให้กัญชาออกจายาเสพติด เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และให้มีผลบังคับใช้วันที่ 9 มิถุนายน 2565

ประการที่ 3 ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ที่ริเริ่มโดยพรรคการเมือง นำเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 27 มกราคม 2565 และมีการประชุมรับหลักการในวันที่ 8 มิถุนายน 2565 (เพียง 1 วันก่อนมีผลบังคับใช้) ซึ่งผลการลงมติวันนั้น ปรากฏเสียงข้างมากในสภาเห็นชอบ 373 เสียง ไม่เห็นชอบ 7 เสียง และทั้งข้างมาก รวมทั้งจากสองพรรคเห็นชอบรับหลักการของกฎหมายฉบับนี้

ประการที่ 4 ในการที่ทั้งสองพรรค เห็นชอบกับกฎหมายฉบับนี้ ในวาระรับหลักการเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นั้น ขณะนั้นกฎหมายมีเพียง 45 มาตราเท่านั้น กระนั้นสภายังเห็นชอบเกือบเป็นเอกฉันท์ แต่เมื่อได้มีการปรับปรุงแก้ไข ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง ฉบับใหม่โดยกรรมาธิการ 21 ท่าน และที่ปรึกษากว่า 40 ท่าน จากการประชุม 19 ครั้ง เปิดรับฟังความเห็นรอบด้าน รวมทั้งจากทั้งสองพรรค และการสงวนคำแปรญัตติรายมาตราตามกระบวนที่เห็นว่า เป็นไปตามที่เห็นชอบของคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ในท้ายที่สุด เป็นผลให้ มีข้อกฎหมายเพิ่มขึ้นอีก 50 มาตรา รวมทั้งหมดเป็น 95 มาตรา

มาตราที่เพิ่มขึ้นนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นมาตราที่มีบทบัญญัติการควบคุมหลายด้าน โดยควบคุมสังคม ควบคุมเยาวชน ควบคุมการขาย ควบคุมสถานที่ขาย ควบคุมวิธีการใช้ อย่างเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น กรณีกล่าวว่า หลังรับหลักการไป เกรงว่ากฎหมายจะมีความหละหลวมนั้น แท้ที่จริงแล้ว กฎหมายมีความเข้มข้นกว่าเมื่อครั้งมีการลงมติรับหลักการวันที่ 8 มิถุนายน 2565

ขอเรียนให้ทราบว่า แม้แต่เสียงจากพรรคการเมืองทุกพรรค รับฟังคณะกรรมาธิการก็รับฟัง ตั้งแต่ผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นกรรมาธิการ

ย้อนกลับไปยังวันที่มีการประชุมนัดแรก ผู้แทนพรรคการเมืองได้เสนอ “ฟูลมูนปาร์ตี้ในเกาะแห่งหนึ่งในการใช้กัญชาอย่างเสรี” ใช่หรือไม่ “เสนอมากกว่ากรรมาธิการเสียอีก”

คณะกรรมาธิการ เห็นว่า พึงรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน มีที่ปรึกษาจำนวนมาก มีการเชิญตัวแทนกระทรวงต่างๆ อาทิ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ การดูผลสำรวจประชาชน ถึงความต้องการปลูก ฯลฯ ด้วยหวังว่ากฎหมายฉบับนี้ จะไม่เป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนทางการแพทย์ กลุ่มทุนที่ต้องการผูกขาด และต้องการให้กัญชาเป็นของประชาชน

เราจึงกำหนดตาม อีสานโพล สำรวจความเห็นว่า จำนวนต้นที่ยอมให้ปลูกได้รวมกันไม่เกิน 20 ต้นนั้น ผลโพลระบุว่า 62% เห็นชอบด้วย แต่ในท้ายที่สุดต่อรองเหลือเพียง 15 ต้น

สิ่งที่เรา (คณะกรรมาธิการ) เสนอวันนี้ (14 กันยายน 2565) รัดกุมรอบคอบกว่าวันที่มีการลงมติรับหลักการเมื่อ 8 มิถุนายน อย่างชัดเจน

และกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีทางจะปล่อยให้กัญชา กลับไปเป็นยาเสพติด เพราะรัฐสภาเห็นชอบเองตั้งแต่ 24 สิงหาคม ในประมวลกฎหมายยาเสพติดให้กัญชา พ้นจากยาเสพติดอย่างเป็นเอกฉันท์

จึงขอวิงวอนว่า กฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่กฎหมายของพรรคการเมือง แต่กำเนิดขึ้นเพราะเสียงเรียกร้องของประชาชน เกิดขึ้นเพราะมีประชาชนต้องการใช้กัญชาทางการแพทย์ใต้ดินจำนวนมาก และกำลังถูกจับถูกรีดไถ อย่างไม่เป็นธรรม จึงเป็นเสียงเรียกร้องเพื่อการขอปลูก เพื่อการพึ่งพาตนเอง จากการศึกษาการลงพื้นที่ของประชาชน

เราขอวิงวอน กฎหมายฉบับนี้ทุ่มเทจากทุกภาคส่วน ตลอด 2-3 เดือนที่ผ่านมา เร่งรัดเพราะห่วงข้อความว่า “สุญญากาศ” จะเกิดขึ้น สังคมเป็นห่วง เราจึงทุ่มเทเพื่อให้มาบรรจุวาระในวันนี้ และจะไม่มีวันถอนออกจากสภา

เราจะเอาสู่สภา และให้พี่น้องประชาชนตัดสิน ว่า ผู้แทนเหล่านั้น กำลังเล่นการเมือง หรือยึดประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อเสียงที่คัดค้านในขณะนี้ เป็นเสียงที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิง จากสิ่งที่รับหลักการที่หละหลวมกว่ากฎหมายฉบับนี้

ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ รู้สึกผิดหวัง มีความรู้สึกว่าพรรคการเมืองเล่นการเมืองมากเกินไป เกินกว่าจะนึกถึงประโยชน์ประชาชนเป็นตัวตั้ง ขอวิงวอนครับ เราจะเข้าสภาครับ และเดินหน้า

ภารกิจของคณะกรรมาธิการเสร็จสมบูรณ์แล้ว ที่เหลืออนาคตว่าจะเกิดสุญญากาศต่อไปหรือไม่ หรือจะมีกฎหมายที่รัดกุมรอบคอบและดีกว่า ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ของพวกท่าน คือ ประชาชน ขอบคุณครับ
https://healthserv.net/

แน่นอน, พักหลังเห็นได้ชัดว่า มีอะไรแปลกๆเกิดขึ้นกับสภาผู้แทนราษฎร ที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชน หากแต่เป็นเกมการเมืองมากกว่า

การมีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ.…ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระ 2 ออกจากระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ก็เช่นกัน ดูเหมือนเป็นเกมที่ไม่ต้องการให้ “พรรคภูมิใจไทย” โกยคะแนนนิยม ในเรื่องกัญชาไปแต่เพียงพรรคเดียว เพราะถือว่า เป็นเจ้าของนโยบายนั่นเอง

สำหรับพรรคภูมิใจไทยนั้น เวลานี้ต้องบอกว่า เนื้อหอมที่สุด ซึ่งสามารถดูด ส.ส.เกรดเอเข้าพรรคได้จำนวนมาก จนหลายพรรคที่เป็นคู่แข่งในทุกภาคเริ่มกลัวขึ้นมาแล้ว ทั้งในเรื่องตัวบุคคลที่มีคะแนนนิยมต้นทุนสูง แถมหากมีนโยบายที่ทำสำเร็จ เป็น “จุดขาย” ด้วยแล้ว รับรองเบียดบางพรรคขึ้นเติบใหญ่แน่

ดังนั้น นี่คือ การสกัด “ดาวรุ่ง” ของแท้และแน่นอน

อย่าลืมว่า เรื่อง “กัญชา” นี่เอง ที่ทำให้พรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 62 โกย ส.ส.เข้าสภาได้จำนวนมาก

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้า หาก พ.ร.บ.กัญชา ยังออกเป็นกฎหมายไม่ได้ ไม่แน่เหมือนกัน การพ่ายแพ้ครั้งนี้ อาจทำให้ประชาชนเห็นใจ เทเสียงมากกว่าเดิมให้เข้ามาผลักดันอีกครั้งก็เป็นได้?

ส่วนที่มาที่ไปของร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ รวมถึงข้อสังเกต เกี่ยวกับพฤติกรรมเล่นเกมการเมืองของ ส.ส.ในสภา แถลงการณ์ของ “ปานเทพ” ตอบข้อสงสัยไปหมดแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น