xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” ถามถอนร่างกัญชาเอื้อใคร ซัด พท.- ปชป.ถ่วงเวลาไม่สนคนป่วย-ผู้ปลูก ลั่นดันต่อปิดสุญญากาศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ปานเทพ” ตั้งคำถามถอนร่างกัญชาเกิดสุญญากาศนานขึ้น เพื่อประโยชน์ของใคร สวน ปชป.- พท.อ้าง กม.หละหลวมทั้งที่ควบคุมมากกว่าที่รับหลักการ ย้อนแย้งอ้างสันทนาการทั้งที่เสนอเอง ซัดทำเพื่อถ่วงเวลาไม่สนคนป่วย-ผู้ปลูก ลั่นพยายามอีกครั้ง

วันนี้ (15 ก.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ “ปานเทพ” ตั้งคำถาม ถอนร่างกฎหมาย กัญชา กัญชง = เกิดสุญญากาศนานขึ้นเพื่อประโยชน์ของใคร? โดยมีเนื้อหาระบุดังนี้

ต่อกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 โดยต้องการให้กรรมาธิการถอนร่างออกไปจากสภาผู้แทนราษฎร และขอให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนการประกาศกำหนดให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก

จนในที่สุดในวันเดียวกันนั้นเอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากลงมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…..ออกจากวาระประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีจำนวนผู้ลงมติ 346 คน, เห็นด้วยให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ออกจากวาระประชุม 198 คน, ไม่เห็นด้วย 136 คน งดออกเสียง 12 คน

โดยผลการลงคะแนนที้แจ้งต่อพี่น้องประชาชนมีดังต่อไปนี้

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นควรให้กรรมาธิการฯถอนร่างออกไปรวมทั้งสิ้น 198 คน เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 93 คน, พรรคพลังประชารัฐ 47 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 29 คน, พรรคเสรีรวมไทย 9 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 7 คน, พรรคประชาชาติ 6 คน, พรรคเพื่อชาติ 2 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน, พรรครวมพลัง 1 คน, พรรคปวงชนไทย 1 คน, พรรคก้าวไกล 1 คน

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยให้กรรมาธิการถอนร่างออกไปและให้พิจารณาไปทีละมาตรา รวมทั้งสิ้น 136 คน เรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ พรรคภูมิใจไทย 59 คน, พรรคก้าวไกล 41 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 8 คน, พรรคเพื่อไทย 7 คน, พรรคพลังประชารัฐ 3 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 4 คน, พรรคท้องถิ่นไทย 3 คน, พรรคเศรษฐกิจไทย 3 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน, พรรคเพื่อชาติ 2 คน, พรรคชาติพัฒนา 1 คน, พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน, พรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน

เมื่อเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้ถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….. ก็เป็นอันทำให้กฎหมายดังกล่าวต้องถูกถอนวาระการพิจารณาออกไป

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ยังมีข้อกล่าวหาที่มีความไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการ ซึ่งจำเป็นต้องชี้แจงต่อพี่น้องประชาชนดังต่อไปนี้

ประการแรก การที่กัญชาได้ถูกกำหนดให้ออกจากบัญชียาเสพติดนั้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามมาตรา 29 ประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยไม่ปรากฏชื่อกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 อีกต่อไป ตามมติประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 โดยการลงมติในครั้งนั้นไม่ปรากฏขอให้มีการแก้ไขจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์แม้แต่คนเดียว และต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบประมวลกฎหมายยาเสพติดที่มีการแก้ไขทั้งฉบับในวาระที่สามด้วยคะแนน 467 เสียง อย่างเป็นเอกฉันท์โดยไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ได้ลงมติคัดค้านแม้แต่คนเดียวเช่นกัน

ขอย้ำว่า หากสมาชิกรัฐสภาไม่มีมติให้แก้ไขการลบกัญชาออกจากมาตรา 29 ของประมวลกฎหมายยาเสพติดตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2564 แล้ว กัญชาก็จะยังคงเป็นยาเสพติดต่อไปจนถึงปัจจุบันอย่างแน่นอน

ประการที่สอง เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางของประมวลกฎหมายยาเสพติดอันเป็นความเห็นชอบจากสมาชิกร่วมรัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย อีกทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริงจากงานวิจัยว่าโอกาสในการเสพติดกัญชานั้นยากกว่าการติดสุราและบุหรี่ จึงไม่ควรมีการรอนสิทธิหรือมีบทลงโทษในฐานะยาเสพติดอีกต่อไป

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน) ได้ลงมติเห็นชอบให้กัญชาออกจากยาเสพติด แต่ให้คงเหลือสารสกัดที่มีปริมาณสารเตรตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักยังคงเป็นยาเสพติดต่อไป ตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงลงนามในประกาศเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565

ประการที่สาม ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ได้เสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (นายชวน หลีกภัย) ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม 2565 แต่กว่าที่จะมีการประชุมรับหลักการในวาระแรกกลับเป็นวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ก่อนวันปลดล็อกกัญชาเพียงวันเดียว ซึ่งความล่าช้าของการพิจารณาวาระดังกล่าวนี้ สภาผู้แทนราษฎรย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าจะทำให้เกิดสุญญากาศทางกฎหมายในการควบคุมกัญชาอย่างแน่นอน

ซึ่งผลการลงมติวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่า เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในกฎหมายฉบับนี้มากถึง 373 เสียงต่อ 7 เสียง และเสียงข้างมากที่เห็นชอบหลักการนั้นเป็นเสียงข้างมากที่รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐด้วยแล้ว

ประการที่สี่ รัฐบาลไม่ได้มีนโยบาย “เลื่อน” การปลดล็อกกัญชาออกไป เพราะปรากฏข้อเท็จจริงว่าแพทย์ในระบบภาครัฐยังมีสัดส่วนการใช้กัญชาเป็นส่วนน้อย เทียบกับผู้ป่วยที่ใช้กัญชาใต้ดินเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์มากกว่าครึ่งหนึ่งอย่างผิดกฎหมาย

ผู้ป่วยคนเหล่านี้กำลังถูกคุกคามจับกุมหรือรีดไถด้วยเพราะกัญชายังคงเป็นยาเสพติด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อสารพิษ ยาฆ่าแมลง และการถูกเอาเปรียบด้านคุณภาพและราคาของน้ำมันกัญชา จึงจำเป็นต้องเดินหน้าไม่เลื่อนการปลดล็อกเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ป่วย ในขณะที่ความรุนแรงของกัญชามีโอกาสเสพติดในระดับที่ต่ำกว่าสุราและบุหรี่จึงสามารถใช้กฎหมายอย่างอื่นเข้ามาช่วยควบคุมชั่วคราวก่อนได้

แม้สังคมทั่วไปจะเห็นว่าเป็นสุญญากาศทางกฎหมายของกัญชา แต่ในความจริงแล้วรัฐบาลได้ใช้หลายมาตรการชั่วคราวโดยประยุกต์ใช้กฎหมายต่างๆที่มีอยู่เพื่อบรรเทาผลกระทบทางสังคม จึงเป็นผลทำให้สถานการณ์กลับมาควบคุมได้ และยังคงบรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้ป่วยที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างผิดกฎหมายด้วย

โดยหลักฐานปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2565 นายแพทย์กิตติ โล่สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันกัญชาทางการแพทย์ได้รายงานว่า จาการเก็บข้อมูลรายงานผู้ป่วยที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือภาวะพิษเฉียบพลันจากการใช้กัญชา ให้ห้องฉุกเฉินตั้งแต่ มิถุนายน ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2565 ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ 10 แห่ง โรงพยาบาลภาครัฐ 79 แห่ง พบมี 63 คนเท่านั้นจากทั่วประเทศที่มีการใช้กัญชาในรูปแบบนันทนาการหรือเฉลี่ยประมาณวันละ 1-2 คนต่อวันเท่านั้นจากทั่วประเทศและมีแนวโน้มลดลง ย่อมแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการต่างๆ ทั้งทางกฎหมายและข้อมูลข่าวสารสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้

แต่การออกมาตรการชั่วคราวและการให้ความรู้ประชาชนนั้นก็ยังไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วนรอบด้านเท่ากับ ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งพิจารณาเพื่อให้การควบคุมอย่างรอบด้านให้มากที่สุดในการคุ้มครองประชาชนให้เร็วที่สุด และทำให้กรรมาธิการได้ทุ่มเทในการประชุมและเร่งรัดการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา

ประการที่ห้า ในคราวที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐได้เห็นชอบในวาระรับหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 นั้น กฎหมายฉบับดังกล่าวมีเพียง 45 มาตราเท่านั้น แต่เมื่อทำการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจนเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 นั้นได้มีมาตราเพิ่มขึ้นมาเป็น 95 มาตรา หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 50 มาตรา หรือมากกว่าเดิมถึง 2 เท่าตัว และเป็นการเพิ่มบทบัญญัติ “ในการคุ้มครองประชาชน” ให้ดีขึ้นกว่าวาระรับหลักเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 อย่างชัดเจน โดยได้ประยุกต์ใช้กฎหมายควบคุมสุรา ควบคุมยาสูบ และพืชกระท่อมนำมาเป็นบทบัญญัติของกัญชาให้มีการควบคุมไม่น้อยไปกว่าสุรา ยาสูบ และพืชกระท่อม

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการคุ้มครองประชาชน เช่น การห้ามขายให้เด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร การควบคุมสถานที่ห้ามขาย เช่น วัด โรงเรียน ศาสนาสถาน ฯลฯ มีการควบคุมวิธีการขาย เช่น ห้ามเร่ขาย ห้ามขายอิเล็กทรอนิกส์ ห้ามขายผ่านเครื่องขาย รวมถึงการห้ามสูบในที่สาธารณะหรือที่อื่นใดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ฯลฯ

ดังนั้น การที่สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากมีมติถอนกฎหมายกลับไป ย่อมทำให้ยังไม่สามารถคุ้มครองประชาชนตามที่บทบัญญัติที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ….ที่กรรมาธิการได้เตรียมเอาไว้ได้ อันเป็นการเสียโอกาสในการคุ้มครองต่อสังคมให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างแน่นอน

การที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย มีข้อเสนอในสภาผู้แทนราษฎร ว่า ให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดก่อนในระหว่างนี้ โดยอ้างว่ากฎหมายหละหลวมนั้นไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมาธิการ เพราะร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมายของกรรมาธิการ ที่เกิดขึ้นนั้นมีมาตรการควบคุมมากกว่าวาระที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ได้ลงมติรับหลักการเอาไว้เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ในขณะที่มีการอ้างว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นชอบให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ แต่กลับย้อนแย้งกับการประชุมครั้งที่หนึ่ง ซึ่งปรากฏเป็นข่าวไปทั่วว่ากรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอเปิดโอกาสให้มีการปาร์ตี้กัญชาในคืนพระจันทร์เต็มดวงในพื้นที่ควบคุมเสียเอง

และหากไม่เห็นด้วยกับมาตราใด ทางกรรมาธิการได้มีผู้แทนทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย ย่อมสามารถเสนอแก้ไขได้ในกรรมาธิการ หากคณะกรรมาธิการเสียงข้างมากเห็นชอบก็ออกมาเป็นมาตราตามร่างของคณะกรรมาธิการฯ แต่หากกรรมาธิการจากพรรคใดยังไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการ ก็ยังสามารถสงวนคำแปรญัตติเสนอให้มีการแก้ไขในการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรได้ในทันที

ประการที่หก กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….นั้นมีองค์ประกอบทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านทั้งสิ้น 25 คน แต่มีการเสนอที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 41 คน​ ซึ่งมากกว่ากรรมาธิการ อีกทั้งยังมีการเปิดรับหนังสือจากภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนมีการเชิญให้ทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนและแสดงความเห็น ดังนั้นจึงเป็นการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านแล้ว

จึงเป็นที่น่าเสียดายว่าทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากกลับให้ถอนร่างดังกล่าวออกทั้งฉบับ แทนที่จะใช้วิธีรับฟังความเห็นของคณะกรรมาธิการฯเสียก่อนแล้วจึงลงมติในภายหลัง

ประการที่เจ็ด การที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอ้างว่าให้ถอนร่างดังกล่าวออกไป โดยไม่แม้กระทั่งรับฟังเหตุผลเพื่อพิจารณารายมาตรานั้น ในความเป็นจริงแล้วคือการ “ถ่วงเวลา” เหตุเพราะว่าทุกมาตราที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคที่ไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการที่ได้อภิปรายในวันดังกล่าวนั้นได้มีการสงวนคำแปรญัติเอาไว้หมดแล้ว

ดังนั้น หากมีความห่วงใยสังคมต่อภาะวะสุญญากาศทางกฎหมาย และมีความจริงใจในการเร่งบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสังคมให้ได้ตามความเชื่อของพรรคการเมืองของตัวเองจริงๆ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมสามารถทำการลงมติแก้ไขใหม่ได้ทุกมาตราที่มีการสงวนคำแปรญัตติได้อยู่แล้ว แต่หากไม่มีการสงวนคำแปรญัตติใดก็ย่อมแสดงความบกพร่องของพรรคการเมืองนั้นเองในชั้นกรรมาธิการ แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรกลับเลือกการถ่วงเวลาออกไป ซึ่งทำให้ประชาชนเสียโอกาสที่จะมีกฎหมายในการควบคุมกัญชา กัญชง แทนที่ในช่วงเวลาสุญญากาศนี้

ประการที่แปด การที่พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ที่เห็นชอบให้ถอนร่างดังกล่าวออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าให้นำกลับไปเป็นยาเสพติด ทั้งๆ ที่นอกจากจะมีผู้ป่วยที่ใช้กัญชาอย่างผิดกฎหมายไม่ได้ถูกคุ้มครองอีกต่อไปแล้ว ยังทำให้ผู้ที่ลงทะเบียนปลูกกัญชาอย่างสุจริตกว่า 1 ล้านคนให้กลายเป็นอาชญากร และต้องทำลายกัญชาของตัวเองทิ้งไป ข้อเสนอในการนำกลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง จึงปราศจากความรับผิดชอบในผลกระทบต่อประชาชนอย่างรอบด้าน และเชื่อว่าคงไม่สามารถบีบบังคับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามประกาศที่ไร้คุณธรรมและไร้ความรับผิดชอบเช่นนั้นได้

ประการที่เก้า แต่ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ที่ยังคงเห็นว่ากัญชาต้องเป็นยาเสพติดจริงโดยไม่สนใจผู้ป่วยที่ใช้กัญชาใต้ดินหรือผู้ที่ปลูกกัญชาไปแล้ว พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ สามารถรวมกันเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้วนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดได้ทันทีหากเชื่อว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอย่างแท้จริง

ประการที่สิบ การถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ… ออกจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้สถานการณ์สุญญากาศจำเป็นต้องทอดยาวออกไปนานขึ้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยผู้ที่รับผิดชอบก็คือสภาผู้แทนราษฎร

อย่างไรก็ตาม ทางกรรมาธิการฯยังคงเห็นความสำคัญในการเร่งรัดกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้เพื่อปิดสุญญากาศทางกฎหมายให้เร็วที่สุด แม้จะมีมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรให้ถอนวาระดังกล่าวออกไปและทำให้สถานการณ์สุญญากาศยืดเยื้อออกไปแล้วก็ตาม แต่กรรมาธิการฯจะพยายามอีกครั้ง โดยได้มีการจัดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…ทันทีในวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อพิจารณาแนวทางในการดำเนินการต่อไปให้ดีที่สุด

จึงเรียนมาเพื่อทราบ


กำลังโหลดความคิดเห็น