“ศุภชัย” เสียดายร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง โดนตีตก ชี้ ฝ่ายการเมืองจับมือคว่ำ ทั้งที่มีตัวแทนร่วมร่าง เห็นทุกขั้นตอน มีช่องหารือ แต่กลับเลือกใช้สภาล่มกฎหมาย ทำร้ายน้ำใจคนทำงาน ยันกฎหมายมีไว้ควบคุม ออกกฎสารพัดข้อห้าม เป็นแม่บทดูแลการใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม
เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... กล่าวกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ว่า การถอนร่างที่เกิดขึ้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากแรงกดดันทางการเมือง โดยอ้างความเป็นห่วงต่อสังคมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกัญทางการแพทย์ ปัญหาคือถ้าเป็นห่วงควรจะให้ร่างกฎหมายผ่าน เพราะกฎหมายฉบันนี้ควบคุมการใช้ ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง กมธ. ในฐานะผู้ร่างฯ นำทุกความเห็น ทุกข้อเสนอแนะ ทุกความห่วงใย มาทำเป็นกฎหมาย เพื่อให้การใช้เกิดประโยชน์สุงสุด และเกิดโทษน้อยที่สุด แต่บางพรรคการเมืองกลับตีตก กดดันให้มีการนำกลับไปพิจารณาใหม่ ย้อนแย้งกับที่บอกว่าเป็นห่วงเยาวชน เป็นห่วงสังคม เพราะถ้าเป็นห่วงกันจริงๆ มีกฎหมายดูแลการใช้ที่ดีมากขนาดนี้ มาอยู่ตรงหน้า ท่านต้องเร่งให้เกิดผลในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาค้านกันแบบนี้
“แล้วกฎหมายฉบับนี้ เราตั้งใจร่างกันอย่างมาก มีคนไปปั่นข่าวว่า ไม่มี พ.ร.บ. ออกมาคือเรื่องดี เพราะนี่คือ พ.ร.บ.ปลดล็อก ออกมาแล้ว จะใช้สายนันทนาการได้ ขอบอกว่า มั่วกันไปใหญ่แล้ว นี่คือกฎหมายที่เข้ามาดูแลการใช้ ให้มันถูกต้องเหมาะสม กฎหมายคุมเข้มกว่าเดิม เข้าใจง่ายกว่าเดิม ยกตัวอย่าง วันนี้บนถนนข้าวสาร มีร้านขายช่อดดอก ด้านหลังมีห้องสูบ แต่ในกฎหมายตาม พ.ร.บ. นี่ห้ามเลย คุณต้องขออนุญาต แล้วมันจะไม่มีห้องสูบเลย เพราะเขาไม่อนุญาต แล้วในกฎหมายมันคุ้มเข้มมาก ตามกฎหมายที่ถูกคว่ำ จะมาขายใกล้วัด ใกล้โรงเรียนไม่ได้เลย” นายศุภชัย
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า ประหลาดใจคือ ใน กมธ.ที่ร่างกฎหมายก็มี ส.ส.ของพรรคนั้นๆ เข้าไปร่วมร่างอย่างครบถ้วน สะท้อนว่าคณะผู้ร่างให้เกียรติทุกพรรคอย่างยิ่ง แล้วท่านที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองต้องเห็นทุกขั้นตอนอยู่แล้ว ว่า กมธ.จะเขียนกฎหมายอย่างไร มีเจตนาอย่างไร เท่ากับสามารถนำสิ่งที่ที่ท่านทราบในที่ประชุม ไปหารือกันในพรรคได้ แล้วถ้ามีข้อข้องใจก็นำกลับมาแก้ไขกันใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องรอคว่ำร่างเลย ทำแบบนี้มันคิดได้แต่เป็นเรื่องการเมือง ล้มกฎหมายโชว์กันซึ่งๆ หน้า ไม่ฟังเหตุผล ไม่สนใจคนทำงาน และเชื่อว่า ผู้ร่างกฎหมาย ที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมือง ได้คุยกันในพรรคแน่นอน เพราะท่านก็เหนื่อย ก็ตั้งใจ แต่เมื่อทางพรรคมีธงไว้อยู่แล้ว ความพยายามของท่านจึงไม่มีเหตุผลอันใด ส่วนตัวไม่ได้ตำหนิ ตัวแทนของพรรคที่มาเหน็ดเหนื่อยกับ กมธ. เพราะเชื่อว่า ท่านเองไม่ต้องการเห็นเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เนื่องจากตลอดระยะเวลาการทำหน้าที่ ทุกท่านแสดงออกถึงความทุ่มเทในการทำงาน แต่ปัญหาคือ เมื่อพรรคท่านมีเป้าหมายไว้แล้วว่าจะคว่ำกฎหมายฉบับนี้ และคงไม่ฟังความเห็นของตัวแทนที่เข้าไปร่วมร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ
“มันตลกมาก เมื่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคภูมิใจไทย บอกว่า การที่ กมธ.ปรับจากกฎหมายเดิมเยอะขึ้น แล้วท่านเกรงว่าไม่มีความรอบคอบ ทั้งที่การปรับเยอะขึ้น คือ การที่เราเห็นจุดบกพร่อง แล้วเรานำมาแก้ไข มีเจตนา เพื่อให้การใช้กัญชาเป็นไปอย่างเข้มงวด ที่เราทำให้กฎหมายมันเข้มข้น ก็เพราะตอนนั้น มีความห่วงกังวลกันมา เราก็แก้ไขตาม ไม่ได้แปลว่า จะไม่รอบคอบ และถ้าท่านกลัว ท่านก็ให้พิจารณาต่อ แล้วมาแก้กันทีละข้อสิ แต่ท่านก็ไม่ทำ ขอถามกลับ สมมติ ถ้าเราปรับแก้น้อย ท่านจะบอกว่าเราทำดีกระนั้นหรือ กลับกันผมสงสัยว่า ถึงจะปรับน้อย ท่านจะบอกว่าเราไม่รอบคอบอยู่ดี เพราะท่านมีธงในใจแล้ว” นายศุภชัย กล่าว
นายศุภชัย กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การถอนร่างออกไป ไม่ได้แปลว่า นโยบายของพรรคภูมิใจไทยล้มเหลว เพราะกัญชาได้ออกจากความเป็นยาเสพติดแล้ว เป็นไปตามการทำงานในสภาที่มีการแก้ไขประมวลกฎหมายยาเสพติด เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2564 ซึ่งตอนนั้น เดินหน้าได้อย่างราบรื่น ส.ส., ส.ว. เห็นด้วย ต่อมาจึงเป็นขั้นตอนของ คณะกรรมการ ป.ป.ส. ซึ่งก็เห็นชอบปลดกัญชาออกจากยาเสพติด แล้วให้รัฐมนตรีสาธารณสุขรับรองลงนาม ทำให้กัญชา ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีค่า THC สูงกว่า 0.2% กฎหมายบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 หลังจากนั้น มีประกาศมากมายออกมาควบคุมการใช้ เท่ากับว่า นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ทำสำเร็จแล้ว แต่ที่เราเสียดายคือ พ.ร.บ.ที่พรรคการเมืองเพิ่งตีตกไป มันจะทำให้การใช้กัญชานั้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก เพราะเราเอาทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องมารวมกันเลย คนที่ใช้ทางการแพทย์ จะมีหลักยึด ผู้ที่ใช้ในฐานะพืชเศรษฐกิจก็เช่นกัน ส่วนคนที่ใช้ในทางนันทนาการ จะมีกฎหมายควบคุมเข้มงวดขึ้น แต่ถามว่า เราท้อแท้ไหม จะปล่อยให้กฎหมายถูกตีตกไปดื้อๆ ไหม ขอตอบว่า ไม่ ทางพรรคภูมิใจไทย จะกลับมาทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ เช่นกัน กมธ. เท่าที่คุยกันมา ไม่มีใครท้อ ตัวแทนจากพรรคที่โหวตต้านกฎหมายก็ไม่ท้อ และรู้สึกเสียดายเช่นเดียวกับกระผม เราจะทำทุกทางเพื่อให้ พ.ร.บ. กัญชาผ่านมติในสภา และเป็นกฎหมายสำคัญ ที่จะทำให้กัญชา กลายเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. … จำนวน 25 คน แบ่งเป็นสัดส่วน ครม. 5 คน และสัดส่วนพรรคการเมือง 20 คน ได้แก่
สัดส่วน ครม. 5 คน ประกอบด้วย 1. นายธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 2. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 3. นายจิรวัฒน์ จงสงวนดี 4. นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ และ 5. นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรค ภท.
สัดส่วนพรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 6 คน ได้แก่ 1. นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี 2. นายอนันต์ ศรีพันธุ์ ส.ส.อุดรธานี 3. นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี 4. น.ส.ละออง ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย 5. นายอนุสรณ์ ปั้นทอง ส.ส.กทม. 6. นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร
พรรคพลังประชารัฐ 4 คน ได้แก่ 1. พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์ ส.ส.กาญจนบุรี 2. นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ ส.ส.สุโขทัย 3. นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา และ 4. นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์
พรรคภูมิใจไทย 3 คน ได้แก่ 1. นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และ 3. นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์
พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน ได้แก่ 1. นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ 2. นายวิรัตน์ วิริยะพงษ์
พรรคก้าวไกล 2 คน ได้แก่ 1. นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. และ 2. นายประสิทธิชัย หนูนวล
พรรคเศรษฐกิจไทย 1 คน ได้แก่ พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์
พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน ได้แก่ นายสัมพันธ์ แป้นพัฒน์
พรรคเสรีรวมไทย 1 คน ได้แก่ พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ ฉันทวรลักษณ์