xs
xsm
sm
md
lg

เผย “ปรีดี” รับ “รู้อย่างนี้ไม่ทำ” นักวิชาการ ฉะ “3 นิ้ว” เรียกร้อง “เลือกตั้งผู้พิพากษา” อัยการสั่งไม่ฟ้อง “กวิ้น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ ปรีดี พนมยงค์ ขอบคุณภาพ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์
“อดีตบิ๊ก ศรภ.” ยก 7 บทเรียนปฏิวัติ 2475 “ปรีดี” รับมีอำนาจขาดประสบการณ์ รู้อย่างนี้ไม่ทำ นักวิชาการ ฉะ “3 นิ้ว” เรียกร้องผู้พิพากษามาจากเลือกตั้ง ควรสอบคัดเลือกนักการเมือง “อัยการ” สั่งไม่ฟ้อง “กวิ้น” หมิ่นศาล

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (25 มิ.ย. 65) พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า

“ขอร่วมระลึกถึงวันครบรอบ 90 ปีของการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ภายใต้การนำของคณะราษฎร เสียหน่อยครับ

มีหลายแง่มุมที่เราจะดูเรื่องนี้ แต่อาจยาวเกินไป ผมจึงขอพามาดูแค่แง่มุมเดียว ก็น่าจะพอบอกได้ว่า การทำปฏิวัติในครั้งนั้น ส่งผลดี หรือ ผลเสีย ต่อประเทศไทย

ก่อนเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติ ในรัชสมัยของ ร.5 และ ร.6 นั้น พระมหากษัตริย์ไทยทั้ง 2 พระองค์ ได้ทุ่มเทต่อการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทั้งในการสร้าง “คน” และ “โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ” จนครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ ไฟฟ้า น้ำประปา โรงงานปูนซีเมนต์ ขุดคลองส่งน้ำ สร้างสะพาน ถนน หนทาง ฯลฯ โดย ร.6 ทรงกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็สามารถส่งคืนเงินกู้ได้อย่างรวดเร็ว แค่ในปีแรกของ ร.7 เท่านั้น

เมื่อคณะราษฎร ปฏิวัติสำเร็จภายใต้การส่งเสริมของ ร.7 แล้ว คณะราษฎร ได้บริหารประเทศ แบบไร้ประสบการณ์ เล่นพรรคเล่นพวก จนทำลายโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ของประเทศลงเกือบทั้งหมด โดยไม่ตั้งใจ เพราะมุ่งแต่คิดจะต้องการรักษาอำนาจไว้เท่านั้น เช่น

(1) นักเรียนทุนต่างประเทศ ของ ร.5 ละ ร.6 จำนวน 510 คน ไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศเลย เพราะทุกกระทรวงเต็มไปด้วยคนของคณะราษฎร โดยอ้างเรื่องความมั่นคง แม้กระทั่งในพระมหาราชวัง ก็ส่งคนเข้าไปคุมไว้ นักเรียนทุนส่วนหนึ่งต้องคอยหลบหนีการจับกุม เพราะเห็นต่างไปจากแกนนำคณะราษฎร บางคนก็ถูกจับ ไปขังคุก บางคนก็ต้องหลบอยู่เฉยๆ การลงทุนสร้าง ทรัพยากรมนุษย์ของ ร.5 และ ร.6 จึงล้มเหลวลงโดยสิ้นเชิง คนเก่งที่สุดของประเทศจึงไม่มีโอกาสได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศชาติ

ในขณะนั้น (ญี่ปุ่นส่งนักเรียนทุนไปเรียนเหมือนไทยในจำนวนใกล้เคียงกัน แต่พวกเขากลับมาทำงานให้ชาติ ส่วนของไทยดันกลับมาทำปฏิวัติ คนที่ส่งตัวเองไปเรียน แบบซึ่งๆ หน้า นอกจากนั้นยังกีดกั้นคนเก่งไม่ให้เข้ามาช่วยชาติอีกด้วย)

(2) การทำลายการเรียนทางวิทยาศาสตร์ หันไปผลิตบัณฑิตทางสังคมศาสตร์แทน เพื่อสร้างฐานอำนาจทางการเมือง แทนประชาชนซึ่งไม่ยอมรับบทบาทของ คณะราษฎรนัก ทำให้ประเทศไทยต้องล้าหลังกว่าญี่ปุ่น เมื่อเวลาผ่านไปได้แค่ 5 ปี เท่านั้นเอง

(3) สร้างวิธีแก้ปัญหาทางการเมือง แบบผิดพลาดมาตลอดด้วยการใช้ อำนาจเงิน และ ปืน (การรัฐประหาร) จนส่งผลกระทบต่อค่านิยมที่ผิดพลาดทางการเมืองมาจนถึงในปัจจุบันนี้

(4) สร้างวัฒนธรรมการเล่นพรรค เล่นพวกขึ้นมา เป็นผลทำให้คนดี มีความรู้ในระบบราชการ อยู่ไม่ได้ หรือถูกให้ออก (ร.7 ทรงตั้ง ก.พ.ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจากแกนนำคณะราษฎร หลายคน)

ภาพ พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ จากแฟ้ม
(5) มีการแย่งชิงอำนาจกันตลอดเวลา 25 ปี ที่คณะราษฎรผลัดกันขึ้นมา บริหารงาน แย่งชิงกัน เสมือนไม่ได้เคยเป็นเพื่อนร่วมทำงานใหญ่กันมาก่อน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เลวร้ายมากในห้วงเวลานั้น จนเป็นผลทำให้เรื่องดีๆ คือ เป้าหมาย 6 ประการ ของคณะราษฎร ที่ประกาศว่า จะทำหลังการปฏิวัติก็ทำไม่สำเร็จเลย สักข้อเดียว

(6) ทำลายขบวนการยุติธรรม จนประชาชนพึ่งพาไม่ได้ เช่น การจัดตั้งศาลพิเศษ เพื่อเอาผิดฝ่ายตรงข้าม ซึ่งมีขึ้นเป็นประจำ, การสร้างรัฐตำรวจ, ไม่รักษาแบบธรรมเนียมที่ถูกต้อง เช่น รมว.มท.ซึ่งเป็นคนคุมตำรวจ ลงมาเป็นพยาน ให้ผู้ต้องหาคดี ร.8 เรื่องบ้าๆ แบบนี้มีอีกแยะครับ

(7) บริหารงานบ้านเมืองจนเกิดความแตกแยกขึ้นภายในชาติอย่างมากมาย เพียงต้องการ ลดบทบาทของพระมหากษัตริย์ลงมาให้เท่ากับ “รัฐธรรมนูญ” เท่านั้น

ยังมีอีกหลายสิบเรื่อง ซึ่งทางแกนนำคณะราษฎรเองก็ทยอยกันออกมายอมรับในข้อผิดพลาดดังกล่าวโดยเฉพาะฝ่ายทหาร หลายคนบอกว่า “ไม่น่าจะทำเลย” จอมพล ป.ก็ออกมายอมรับเช่นกัน ส่วน อ.ปรีดี นั้น ยอมรับว่า “เมื่อมีอำนาจก็ขาดประสบการณ์ “( สมเด็จพระนางรำไพพรรณี ได้ทรงเล่าว่า อ.ปรีดี ไปขอเข้าเฝ้าฯกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลำบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ก็ไม่ทำ…”)

การปฏิวัติ 2475 จึงควรเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศชาติมากกว่า เพื่อจะได้กลับไปเริ่มต้นทำงานให้บ้านเมืองกันอย่างจริงๆซะที ส่วนการนำเรื่องนี้มาปลุกระดม นั้น ไม่น่าจะมีผลอะไรในปัจจุบันนี้ เช่น เรื่องของหมุดคณะปฏิวัตินั้น ยิ่งเป็นเรื่องที่ไร้สาระเข้าไปใหญ่ ก็เหมือนกับการพยายามสร้าง“รูปปั้นรัฐธรรมนูญ”ไว้ให้ประชาชนกราบไหว้กันทุกจังหวัดในยุคของคณะราษฎร นั้นเอง เหลวไหลจริงๆครับ”
(อ้างอิงจาก หนังสือ วิวัฒน์รัตนโกสินทร์ /ศูนย์หนังสือจุฬาฯ)

ภาพ การจัดกิจกรรม คณะราษฎรยังไม่ตาย ของม็อบ 3 นิ้ว จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน จากกรณีกลุ่มม็อบ 3 นิ้วจัดกิจกรรม “คณะราษฎรยังไม่ตาย” ที่ลานคนเมือง โดยเรียกร้องให้ผู้พิพากษามาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ล่าสุด วันนี้ นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pat Hemasuk ระบุว่า

“กว่าจะสอบเป็นผู้พิพากษาได้ต้องคัดคนแล้วคัดคนอีกว่าเก่งจริง แม่นกฎหมายจริง และมีสภาพจิตใจที่เหมาะสม ต้องฝึกทำงานในศาลมานานพอ

สิ่งที่ควรเรียกร้อง คือ ให้บรรดานักการเมืองต้องสอบเข้มในความรู้ด้านการเมืองการปกครองตั้งแต่ อบต.ถึง ส.ส. ส.ว. ถึงจะมีสิทธิ์ลงสมัครน่าจะดีกว่า ใครสอบตกถือว่าขาดคุณสมบัติลงสมัคร อนาคตเมืองไทยน่าจะดีกว่านี้”

ภาพ นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิน จากแฟ้ม
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความระบุว่า

“เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องคดีอย่างเด็ดขาดของพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ในคดีของ #เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ถูกกล่าวหาในข้อหา #ดูหมิ่นศาล กรณีโพสต์วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยอัยการวินิจฉัยว่า คดีพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา

คดีนี้มี นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจให้ ส.ต.ท.มนตรี แดงศรี มาเป็นผู้กล่าวหาพริษฐ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 “ดูหมิ่นศาลหรือผู้พิพากษาในการพิจารณาหรือพิพากษาคดี หรือการกระทำการขัดขวางพิจารณาหรือพิพากษาของศาล” จากกรณีโพสต์เฟซบุ๊กเพจมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญ 2 ข้อความ ในช่วงวันที่ 2 ธ.ค. 2563 หลังจากศาลมีคำวินิจฉัยให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไปแล้ว

ต่อมา พริษฐ์ ถูกพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง เข้าแจ้งข้อกล่าวหาในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ระหว่างถูกคุมขัง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 โดยเขาเพิ่งทราบว่า ถูกศาลอาญาออกหมายจับ โดยที่ตำรวจไม่เคยเดินทางเข้ามาแจ้งข้อกล่าวหาจนกระทั่งมีรายงานว่าเขาจะได้รับการประกันตัว

ล่าสุด พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีนี้อย่างเด็ดขาดเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 แจ้งมายังพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง

เนื้อหาคำวินิจฉัยที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ ระบุว่า คดีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำให้การของ พ.ต.ต.กิตติพงศ์ อมฤตโอฬาร สารวัตรกองกำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้ทำการสืบสวน และทำรายงานผลการตรวจสอบ บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak” ให้การยืนยันว่า IP Address ที่ใช้โพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น มีผู้ใช้งานในเวลาเดียวกันจำนวน 232 ราย แต่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้ลงชื่อเข้าใช้งานและหมายเลข IP Address ของบัญชีดังกล่าวได้ เนื่องจากผู้ให้บริการเป็นของ Facebook ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ

ประกอบกับบัญชีเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว มีผู้ดูแลเพจหลายคน ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า เป็นบัญชีของผู้ใดบ้าง จึงไม่สามารถยืนยันว่า บัญชีใดเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว และมีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาอย่างไร การตรวจสอบดังกล่าว ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาเป็นคนโพสต์ข้อความดังกล่าว คดีพยานหลักฐานไม่พอพิสูจน์การกระทำความผิดของผู้ต้องหา

ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่พริษฐ์เริ่มทำกิจกรรมทางการเมือง เขาถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปรวมแล้ว 55 คดี (มีจำนวน 12 คดีที่สิ้นสุดไปแล้ว ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับ) โดยแยกเป็นคดีหลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา จำนวน 44 คดี

ล่าสุด พริษฐ์ เพิ่งถูกย้อนแจ้งกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาลในอีกคดีหนึ่งที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี จากกรณีให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมีเนื้อหาวิจารณ์เงื่อนไขการประกันตัวของศาล ระหว่างชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 63 โดยคดีมีสำนักงานศาลยุติธรรมมอบอำนาจให้ศาลจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ”

แน่นอน, ปัญหาการเมืองไทย นับจาก 24 มิ.ย. 2475 มาจนถึงวันนี้ 90 ปีเข้าไปแล้ว สิ่งที่ยัง “วน” อยู่กับที่ก็คือ “อำนาจอธิปไตย” ยังไม่ถึงมือประชาชนอย่างแท้จริง

หากแต่ยังอยู่ในมือของ “คณะบุคคล” ที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาแอบอ้าง “อำนาจอธิปไตยของประชาชน” หาประโยชน์เพื่อตัวเอง พวกพ้อง และวงศ์ตระกูล

โดยที่ประชาชนคนไทย นั่งดูตาปริบๆ

“ประชาชน” เป็นแค่ผู้ถูกอ้างว่า ใช้อำนาจผ่านพวกเขา พวกเขามาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่ทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียง ทำกันอย่างนี้มาเกือบ 90 ปีแล้ว

ยิ่งกว่านั้น ในรัฐสภา ก็ยังมีข้อกล่าวหากันในเรื่องขายตัว เพื่อเงิน แลกตำแหน่งทางการเมือง โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนได้ประโยชน์อะไรทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ยังมี “คนบางกลุ่ม” ออกมา เรียกร้อง “ปฏิรูปสถาบันฯ” สานต่อภารกิจ “24 มิ.ย. 2475” ให้มันจบที่รุ่นเราอีก ก็นับว่าน่าคิด “ประชาชน” จะยังคงถูกหลอกอีกนานแค่ไหน!?


กำลังโหลดความคิดเห็น