xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเทอม 1 เดือน! พบเด็กเสี่ยงหลุดนอกระบบกว่าแสนราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โครงการพาน้องกลับมาเรียน” พบ 1 เดือนหลังเปิดเทอมใหม่ยังมีเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนและเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษาช่วงรอยต่อกว่าแสนราย เหตุโควิด-19 ส่งผลยากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ไม่มีเงินค่าเดินทาง ภาคีเครือข่าย 14 หน่วยงานเร่งสร้างกลไกลช่วยเหลือ หลังพบระหว่างเดือน พ.ค-มิ.ย. เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด

”โครงการพาน้องกลับมาเรียน” เครือข่ายภาคเอกชน 14 หน่วยงาน ที่ประกอบด้วย กสศ. สพฐ . ปตท. ได้ร่วมกันสร้างกลไกการค้นหาและติดตามเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อพาน้องๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา

โดยพบว่าในช่วงเปิดเทอม 1 หนึ่งที่ผ่านมีนักเรียนช่วงรอยต่อปีการศึกษระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย.เสี่ยงหลุดออกนอกระบบ โดยเข้ามาขอความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา กสศ.จำนวนมาก สาเหตุมาจากโควิด-19 ให้ครอบครัวต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ยากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ทำให้โรงเรียนไม่ให้วุฒิการศึกษา ส่งผลให้ไม่สามารถเรียนต่อได้



เครดิตคลิป OBEC Channel

เพื่อร่วมกันหาทางออก และเร่งช่วยเหลือเด็กที่ยังไปไม่ถึงโรงเรียน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดเสวนา “เปิดเทอมใหม่ยังมีเด็กไปไม่ถึง…โรงเรียน”ที่ลานกิจกรรม อาคารเอส. พี. ชั้น 13 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (ชมคลิป) โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน , ดรไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พร้อมด้วย นายปิติ ยางกลาง ผู้อำนวยการโรงเรียนไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ,นายภานุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม จังหวัดราชบุรี ,ดร.พจนพร จิตเจริญทวีโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์จังหวัดราชบุรี ,ครูสุนิดา อุมา โรงเรียนบ้านคอลอกาเว จังหวัดนราธิวาส , นายกฤษณา เสมหิรัญ ศึกษานิเทศชำนาญการพิเศษ จังหวัดขอนแก่น ,นายสมคะเน ดาษดา ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ จังหวัดปทุมธานี และ นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนสามโคก จังหวัดปทุมธานี 


สพฐ.พร้อมรับนักเรียนไม่เงินจ่ายค่าเทอม

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กล่าวว่า ช่วงเวลาที่นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุดจะเป็นช่วงรอยต่อระหว่างปีการศึกษาระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. โดยข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา ของกสศ.พบว่าสาเหตุสำคัญของการหลุดนอกระบบการศึกษาในช่วงปีการศึกษา 1/2565 มาจาก ปัญหายากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม ไม่ได้วุฒิการศึกษา ส่งผลให้ศึกษาต่อไม่ได้

สำหรับนักเรียนที่มีปัญหาเหล่านี้ ขอให้ผู้ปกครองติดต่อไปยังสถานศึกษาสังกัดสพฐ.ที่อยู่ใกล้บ้าน ทุกแห่งพร้อมเปิดรับ แม้ยังไม่ได้มีวุฒิการศึกษาจากโรงเรียนปลายทางให้เข้ามาเรียนหนังสือก่อนได้เลยเงินจะต้องไม่เป็นอุปสรรค

ส่วนนักเรียนที่ไม่มีค่าเดินทางมาเรียน หรือไม่มีผู้อุปการะทางการศึกษา สพฐ. มีโรงเรียนพักนอน โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และมีโครงการอาชีวะอยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ โรงเรียนสังกัดสพฐ. กว่า 29,000 แห่งเพื่อรองรับเด็กที่มีปัญหากลุ่มนี้

“อยากให้โรงเรียน ผู้ปกครองและประชาชนทั่วไปเข้ามาช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อติดตามไม่ให้มีเด็กคนใดตกหล่น ถ้าพบเห็นเด็กและเยาวชนที่กำลังหลุดจากระบบการศึกษายังไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ว่าด้วยอุปสรรคใดใดก็ตาม ให้ติดต่อโรงเรียนใกล้บ้านเพื่อให้การช่วยเหลือทันที อย่าปล่อยให้เด็กไม่ได้ไปโรงเรียน”

นอกจากนี้ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าวว่า ยังมีทุนการศึกษา สำหรับนักเรียนทุนเสมอภาค (กลุ่มชั้นรอยต่อ)จากโครงการลมหายใจเพื่อน้องเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา อาทิ เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเดินทางมาเรียน ค่าครองชีพระหว่างเรียน ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพื่อการศึกษาอื่นๆ จำนวน 1,000-3,000 บาทจแม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมากแต่ก็เพียงพอที่จะช่วยต่อลมหายใจให้แก่น้องๆ กลุ่มรอยต่อนี้ให้คงอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้

แต่ต้องขอความร่วมมือโรงเรียนต้นทางช่วงชั้นรอยต่อ ป.6 และ ม.3 ปีการศึกษา 2564 ประสานกับโรงเรียนปลายทางให้นักเรียนกลับมารับทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนทุนเสมอภาค (กลุ่มชั้นรอยต่อ)จากโครงการลมหายใจเพื่อน้องเพื่อให้นักเรียนกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายและค่าอุปกรณ์ และยังคงเรียนต่อในโรงเรียนต่อไปได้


เด็กยากจนพิเศษเสี่ยงหลุดนอกระบบแสนราย

ขณะที่ ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมกับหน่วยงานต้นสังกัดทางการศึกษาทั้ง 6 สังกัดสำรวจความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาของครัวเรือนยากจนพิเศษที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1,094 บาท ต่อคน/เดือน หรือเฉลี่ยวันละ 30-40 บาทซึ่งมีบุตรหลานอยู่ในช่วงชั้นรอยต่อระดับ ป.6 และ ม.3 เมื่อปีการศึกษา 2/2564 ที่ผ่านมาพบจำนวนมากกว่า 350,000 คนทั่วประเทศ

นอกจากนี้ยังพบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษในช่วงชั้นรอยต่อดังกล่าวนี้ราว 100,000 คนที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะจำเป็นต้องย้ายสถานศึกษาในช่วงเปิดเทอมปีการศึกษา 2565 นี้ เนื่องจากสถานศึกษาเดิมไม่มีการจัดการศึกษาในชั้น ม.1 และ ม.4/ปวช. โดยในจำนวนมีนักเรียนจำนวนราว 10,000 คนที่แจ้งว่าจำเป็นต้องออกจากระบบการศึกษาหลังจากสำเร็จชั้น ม.3 เพื่อช่วยเหลือหารายได้เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19

มอบทุนการศึกษาเพื่อน้องจำนวน103,284 คน

ดร.ไกรยส กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาเด็กหลุดออกนอกระบบช่วงรอยต่อ กสศ. จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคเพิ่มเติม (กลุ่มชั้นรอยต่อ) ภายใต้โครงการลมหายใจเพื่อน้อง ที่บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) และ กสศ.ร่วมมือกัน จำนวน 103,284 คน

โดยให้ทุนการศึกษานักเรียนในสถานศึกษา สังกัด สพฐ. ตชด. อปท.และสช. รวม 17,432 แห่ง ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 20 - 24 มิถุนายน 2565 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา อาทิ ค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายเดินทางมาเรียน ค่าครองชีพระหว่างเรียน ค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเพื่อการศึกษาอื่นๆ จำนวน ทุนการศึกษาละ 1,000 บาท สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียนทุนเสมอภาค ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทุนการศึกษาละ 3,000 บาท

นอกจากนี้นักเรียนที่เสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษา สามารถติดต่อมายังศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษาเพื่อช่วยเหลือ โดยมี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเงินบริจาคเป็น “กองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา ได้ที่เบอร์โทร 065 506 9574 / 065 506 9352 02-079-5475 ต่อ 0

กรณีศึกษาจากนราธิวาสและราชบุรี

กรณีศึกษาจากขอนแก่นและนนทบุรี
เปิดเคสนักเรียนเปิดเทอม แต่ไม่ได้ไปโรงเรียน

สำหรับเคสนักเรียนที่ร้องเรียนมายังศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา กสศ. ในช่วงเปิดเทอม 1 เดือนที่ผ่านมา
กรณีแรก ครอบครัวไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมเพราะเลิกกิจการร้านอาหารหลังประสบปัญหาโควิด-19 ทำให้น้องนนท์ (นามสมมุติ) เด็กชายวัย 15 ปี ที่ต้องหยุดการเรียนนานถึงปีครึ่งเนื่องจากครอบครัวประสบกับภาวะเศรษฐกิจธุรกิจร้านอาหารขาดทุนและเลิกกิจการและผลกระทบจากโควิดระยะยาว ทำให้ยากจนเฉียบพลัน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เคสนี้ กสศ.โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษา และโรงเรียนไทรน้อย จ.นนทบุรี เข้าช่วยเหลือและน้องได้เข้าเรียนในชั้นม.2

ยากจน พิการไม่มีค่าเดินทางไปโรงเรียน

กรณีที่สองน้องใจเพชร (นามสมมุติ) เด็กชายวัย 14 ปี ที่ อ.จอมบึง ราชบุรี ที่น้องใจเพชรเป็นเด็กที่จัดอยู่ในกลุ่มเรียนรู้ช้า ร่างกายบกพร่อง(ขาพิการข้างหนึ่งจากอุบัติเหตุ) และน้องต้องช่วยพ่อทำงานในโรงฆ่าสัตว์ แลกกับค่าตอบแทนเป็นค่าแรงขั้นต่ำที่ 300 - 400 บาทต่อวัน
น้องใจเพชรต้องเป็นลูกมือพ่อ ช่วยล้างเครื่องในหมูที่เพิ่งเชือดเสร็จใหม่ ๆ มีเวลางานเริ่มตั้งแต่ช่วงหัวค่ำราว 1-2 ทุ่ม ไปจนถึงเกือบรุ่งเช้าประมาณตี 4-5 ทุกวันไม่มีวันหยุด ชีวิตประจำวันจึงเปลี่ยนเป็นทำงานกลางคืนและนอนในตอนกลางวันจนร่างกายเริ่มชิน

น้องใจเพชร ได้รับความช่วยเหลือ จาก กสศ. บ.แสนสิริ จำกัด(มหาชน) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) ได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ จ.ราชบุรี ริเริ่มโครงการ ‘Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยล่าสุดในเทอม 1 ของปีการศึกษา 2565 ที่ผ่านมา น้องใจเพชรได้เริ่มเรียนชั้น ม.1 ที่โรงเรียนรุจิรพัฒน์ พร้อมกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งที่มาจากห้องจัดการศึกษาพิเศษของโรงเรียนสินแร่สยามเช่นเดียวกันทั้งหมด

ครอบครัวยากจน ต้องเสียสละให้น้องเรียน

กรณีที่สาม น้องสา (นามสมมุติ) วัย 15 ปี เพิ่งเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนบ้านคอลอกาเว อ. ศรีสาคร จ.นราธิวาส ในปีการศึกษาที่ผ่านมาโดยผลการเรียนเป็นเด็กเรียนดี แต่เธอไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากยังมีพี่และน้องอีก 5 คน ที่อยู่ในวัยเรียน เธอจึงเสียสละขอพักการเรียนเพื่อไปช่วยแม่ทำงาน ปัจจุบัน น้องสา ได้รับทุนการศึกษาจากโครงการลมหายใจเพื่อน้อง และศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาเพื่อให้ได้กลับมาเรียน และป้องกันการหลุดนอกระบบซ้ำ

ครอบครัวทอดทิ้ง ไร้ผู้อุปการะทางการศึกษา

อีกเคส “น้องเนย" (นามสมมุติ) วัย 14 ปี อยู่ชั้น ม.2 เป็นเด็กที่ติดตามแม่เร่ร่อนไปตามจังหวัดต่าง ๆ ตามงานของแม่ โดยเธอเพิ่งย้ายมาจากจังหวัดปทุมธานี และมาเข้าเรียน ม.1 ที่โรงเรียนหนองแวงบวรวิทย์ ต.ท่าพระ อ.เมือง จ.ขอนแก่น ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ 2565 ที่ผ่านมา

น้องเนยเกือบจะไม่ได้เรียนต่อและชีวิตอยู่ในความเสี่ยงเมื่อต้องย้ายติดตามแม่และพ่อเลี้ยงไปทำงานตามต่าง แต่ด้วยการทำงานร่วมกันระหว่าง กสศ. ศึกษาธิการจังหวัดขอนแก่นที่ประสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น(พมจ.) สาธารณสุขจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงโรงเรียนในพื้นที่ ช่วยให้น้องเนย เด็กหญิงวัย 14 ปี สามารถที่จะกลับมาเรียน