“เทพมนตรี” ฟาด “ปิยบุตร” อีกดอก ชี้ ภาพรวมมิตรสหายแฝงนัย “ขบวนการ” ระบุชัด “สมศักดิ์ เจียม-ปวิน” หนึ่ง-สอง “บูด” สาม “ดร.นิว” ชี้ “อาชญากรทางความคิด” ใช้จินตนาการล่อลวงให้คนจินตนาการตาม
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 มิ.ย. 65) เว็บไซต์สถาบันทิศทางไทย โพสต์ประเด็น อุทิศส่วนบุญให้! “เทพมนตรี” งัดภาพเด็ดฟาดปิยบุตร ย้อนเจ็บ ใช้สิทธิฟ้อง ม.112 เหมือนที่ชอบอ้างเสรีภาพวิจารณ์สถาบันฯ โดย เมลอน เนื้อหาระบุว่า
จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (20 มิ.ย. 65) นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า เดินทางเข้าพบคณะพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดุสิต ตามหมายเรียกผู้ต้องหา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ (ป.อาญา ม.112) จากการกล่าวหาของนายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ โดยมี นางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมกองเชียร์เดินทางมาให้กำลังใจ พร้อมชูป้ายยกเลิกมาตรา 112
นายปิยบุตร ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อความที่โดนกล่าวโทษจากนายเทพมนตรี ตนอ่านแล้วไม่มีข้อความผิดที่เข้าข่าย ม.112 คนที่มีเหตุผล สติสัมปชัญญะ สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ไม่เข้าข่ายความผิดหมิ่นประมาทสถาบัน แต่เมื่อพนักงานสอบสวนมีความเห็นแบบนี้ก็พร้อมจะสู้ต่อไป
ส่วนการที่โดนดำเนินคดีแบบนี้กระทบกับเสรีภาพหรือไม่นั้น ในปัจจุบัน ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมในสังคมอย่างสันติ ต้องมีการพูดคุยกัน ตนพยายามแสดงออกถึงความบริสุทธิ์ใจที่จะพูดถึงสถาบัน ทุกฝ่ายควรมาคุยกัน และมีพื้นที่ในการแสดงความเห็นร่วมกัน แต่ตนกับถูกกล่าวโทษ ความสำคัญเรื่องตนจะโดนคดี หรือจำคุกเป็นเรื่องเล็ก แต่ตนต้องการให้ประชาชนสามารถพูดคุยกันได้แบบสาธารณะ ความปรารถนาดีต่อสถาบันแต่กลับโดนดำเนินคดี ม.112 กฎหมายนี้ห้ามหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้าย ยืนยันตนจะขอพูดต่อไป
ส่วน นายเทพมนตรี มาร้องเอาผิดตนนั้น ตนไม่ว่าอะไร แต่เวลาจะร้องหรือแจ้งความเอาผิด ควรศึกษากฎหมายบ้าง อย่าจินตนาการและรู้สึกไปเอง อย่าแจ้งความเพื่อปิดปากผู้อื่น ควรใช้ความคิดและสมองมากกว่านี้ สังคมไทยต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องสถาบันฯ
นายปิยบุตร ยังกล่าวอีกว่า ตนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ตนหวังดี และข้อเสนอของผมตลอด 10 ปี ในฐานะนักวิชาการมีความชัดเจนมาโดยตลอด แต่พอมาอยู่การเมือง เอาประเด็นพวกนี้มาทำลายตน ทั้งที่พรรคอนาคตใหม่ก็ถูกยุบไปแล้ว ดังนั้นความคิดเห็นของตนที่แสดงออกแบบบริสุทธิ์ใจ เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ส่วนการบรรยายปี 59 ประเด็นในหลวง ร.9 ดำรัสเกี่ยวกับตุลาการนั้น เวลาตนถูกกล่าวหาก็มักจะโดนขุด หลักใหญ่คือ คำพูดตนหมิ่นประมาทจริงหรือไม่ เอาข้อความมาอ้าง อย่าใช้วิธีใส่ร้ายป้ายสี มีหลายครั้งที่สำนักข่าวท็อปนิวส์ เข้าข่ายหมิ่นประมาทชัดเจน แต่ตนไม่ฟ้องดำเนินคดีกับ ท็อปนิวส์ หรือนักข่าว คนจะรักต้องพูดคุยกัน ไม่ใช่เอากฎหมายมาปิดปาก แต่สิ่งที่นายเทพมนตรี กล่าวหา และสำนักข่าวท็อปนิวส์ นำมาขยายหลายอย่าง ถือเป็นการหมิ่นประมาทตนเอง ประชาชนจะตัดสินใจเอง ขอให้ทำตัวเป็นสื่อมวลชนมากขึ้น
ส่วนการที่รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล วางเงื่อนไขให้มารายงานตัวทุก 7 วัน ตนเข้าใจดีว่าพนักงานสอบสวนโดนจับตา แต่ตนต้องเดินทางไปหาภรรยาที่ประเทศฝรั่งเศส แต่เพื่อความสบายใจ ตนจะออกนอกประเทศอย่างไรไม่ให้ ตำรวจโดนตำหนิ และไม่มีผลทางกฎหมาย ถ้าจะออกนอกประเทศ ต้องขอศึกษาในเรื่องกฎหมายเพิ่มเติม
ล่าสุด นายเทพมนตรี ได้โพสต์ข้อความถึงนายปิยบุตร ว่า เมื่อวานนี้ อ.ปิยบุตร ได้ต่อว่าผมออกสื่อใหญ่โต อาการมันออกอ่ะ ผมไม่ถือสาอะไร ไม่ต้องอธิบายอะไรกับผม เพราะที่ผมไปแจ้งความกล่าวโทษร้องทุกข์ไม่เคยมีเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องที่ผมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมันเป็นหน้าที่ในฐานะที่เป็นคนไทย เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนให้ผมมีสิทธิเสรีภาพ ผมก็ใช้เหมือนที่ อ.ปิยบุตรอ้างเสรีภาพทางวิขาการ วิพากษ์วิจารณ์สถาบันต่างกรรมต่างวาระ นั่นแหละ
ผมเห็นว่า เกินขอบเขตไป และ อ.ปิยบุตร ทำมาตลอดทั้งรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่แล้ว และรัชกาลของพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันนี้ มีเรื่องที่ อ.ปิยบุตร อาจไม่ทราบ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนบุญกุศลก็อยากจะแจ้งให้รับรู้ไว้
ความจริงแล้ว อ.สมศักดิ์ และ อ.ปวิน มันควรเป็นรายแรกและรายที่สอง บังเอิญมันอยู่ต่างประเทศต้องใช้เวลาอีกนิด มิฉะนั้นแล้ว อ.ปิยบุตร คงไม่ใช่คิวแรกอย่างที่เห็น อาจเป็นคิวที่สามก็เป็นได้ ผมไม่ใช่นักร้อง อันที่จริงใครก็ได้ที่สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษแต่พวกเขาอาจไม่มีเวลาว่าง จึงไม่ทำ
อีกเรื่องหนึ่งที่ อ.ปิยบุตร อาจไม่ทราบ เรื่องของภาพที่ไปถ่ายตามที่ต่างๆ ของอาจารย์นั้น มันไม่เกี่ยวกับการกดชัตเตอร์เพียงอย่างเดียว มันเกี่ยวกับความคิดและสิ่งที่อ.ปิยบุตรไปพูด หรือไปเขียนข้อความลงในสื่อต่างๆ ซึ่งสอดรับเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับคนเหล่านั้น บางครั้งก็ไปสนับสนุนการกระทำที่ว่านั้นเสียด้วยซ้ำ
ผมเป็นนักประวัติศาสตร์ (เป็นลูกศิษย์อาจารย์ชาญวิทย์ที่เขาเคยรักมาก) จึงยึดถือหลักฐานชั้นต้น พฤติกรรมของอาจารย์ ผมจึงไม่ใช่นักร้องอะไรนั่น ขอฝากคำทักทายไปถึงพี่จรัล ด้วย เสียดายไปเป็นพลเมืองฝรั่งเศสแล้ว
ขณะเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ของนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์ข้อความระบุว่า
“ผมก็นึกอยู่ว่าจะเป็นข้อความไหน เพราะปิยบุตรพูด-เขียน ภายใต้กรอบของกฎหมายเสมอ พออ่านแล้ว ก็ร้องว่า โธ่เอ๋ย เทพมนตรี นี่โง่ว่ะ ตำรวจ “ฉลาด” กว่าหน่อยนึง แต่สุดท้ายก็โง่พอๆ กัน
กำลังสงสัยว่า ด้วยข้อหาโง่ๆ แบบนี้ หรือว่ามี “อะเจนด้า” ที่จะเอาเข้าคุกให้ได้?”
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก Suphanat Aphinyan ของ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ “ดร.นิว” นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas โพสต์ข้อความระบุว่า
“อาชญากรทางความคิดอย่างนายปิยบุตร ยังยืนยันที่จะโกหกบิดเบือนให้ร้าย เดินหน้าสร้างความเกลียดชังสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไปอย่างเถื่อนท้าทาย
การที่ นายปิยบุตร กล่าวว่า “ผมยืนยันว่า จะแสดงความเห็นโดยสุจริตใจต่อไป ไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อให้ไทยมีสถาบันกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ สังคมไทยจะได้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ”
เท่ากับนายปิยบุตรจงใจบิดเบือนให้ร้าย ว่า “ทุกวันนี้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ” เพื่อให้เกิดความเห็นผิดและความเกลียดชังตามความเชื่อในลัทธิรัฐธรรมนูญหลอกลวงประชาชนของคณะราษฎร
ด้วยเหตุนี้ นายปิยบุตร จึงจำเป็นต้องตอบให้ได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญข้อไหนอย่างไรบ้าง? มิฉะนั้นก็เท่ากับว่านายปิยบุตรล้วนแต่ใช้จินตนาการบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น
นอกจากนายปิยบุตรจะถือแนวทางผิดของคณะราษฎร ซึ่งเป็นเผด็จการลัทธิรัฐธรรมนูญหลอกลวงประชาชน และได้ขัดขวางการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงมาโดยตลอด นายปิยบุตรยังถือแนวทางรุนแรงของการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ล้าหลังและป่าเถื่อนอนาธิปไตย ที่มีแต่จะนำไปสู่ความแตกแยกและความรุนแรงเท่านั้น
การเล่นลิ้นลมปากสร้างวาทกรรมโกหกบิดเบือนตามอำเภอใจของนายปิยบุตร ซึ่งไม่ได้เคารพต่อหลักวิชาใดๆ จึงไม่ใช่เสรีภาพทางวิชาการ หากแต่เป็นอาชญากรทางความคิด ที่คอยใช้จินตนาการของตนล่อลวงให้คนอื่นใช้จินตนาการตามๆ กัน
ความเห็นผิดของนายปิยบุตรตามแนวทางของคณะราษฎร จึงขัดขวางความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการสร้างประชาธิปไตยมาโดยตลอด เฉกเช่นที่คณะราษฎรได้สร้างระบอบเผด็จการลัทธิรัฐธรรมนูญ แล้วหลอกลวงประชาชนว่าเป็นประชาธิปไตยมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ ๒๔ มิถุนา ๒๔๗๕ จนถึงวินาทีนี้
เมื่อพิจารณาถึงความหมายที่แท้จริง Constitutional Monarchy คือ ระบอบการปกครองที่พระมหากษัตริย์ทรงสละพระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิมให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยและปกครองประเทศชาติร่วมกัน
“พระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิม” จึงกลายเป็นที่มาของ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงปกครองเองโดยตรง หากแต่ทรงปกครองผ่านรัฐธรรมนูญร่วมกับประชาชน แล้วทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงมีบทบาทและพระราชอำนาจอันพึงมีตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลก จึงล้วนแต่ทรงมีบทบาทและพระราชอำนาจอันพึงมีคล้ายคลึงกัน หากแต่มีรายละเอียดปลีกย่อยของพระราชอำนาจมากน้อยไม่เท่ากัน แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ของชาติ และวัฒนธรรมที่ต่างกัน
เมื่อ “รัฐธรรมนูญ” เกิดจาก “พระราชอำนาจส่วนใหญ่ที่มีมาแต่เดิม” ซึ่งถ่ายโอนจากพระมหากษัตริย์มาสู่ประชาชน พระมหากษัตริย์จึงไม่สามารถทรงอยู่ “เหนือ” หรือ “ใต้” รัฐธรรมนูญได้ หากโดยธรรมเนียมปฏิบัติของระบอบประชาธิปไตยแบบ Constitutional Monarchy พระมหากษัตริย์ทรงเคร่งครัดที่จะดำเนินตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญด้วยความระมัดระวัง
มีสาระสำคัญตามอรรถาธิบายดังที่ปรากฏในเว็บไซต์ www.royal.uk/queen-and-law ความว่า “Although civil and criminal proceedings cannot be taken against the Sovereign as a person under UK law, The Queen is careful to ensure that all her activities in her personal capacity are carried out in strict accordance with the law.”
ดังนั้น Constitutional Monarchy จึงควรถูกแปลอย่างชัดเจนว่า “ราชาธิปไตยตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” หรือ “ราชาธิปไตยที่ปกครองตามรัฐธรรมนูญ” มากกว่า “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งฟังดูกำกวมและถูกนำมาบิดเบือนให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ด้วยมายาคติระหว่างอยู่ “เหนือ” หรือ “ใต้” รัฐธรรมนูญมาโดยตลอด”
อ้างอิง...
https://www.britannica.com/topic/constitutional-monarchy
https://www.thoughtco.com/constitutional-monarchy...
แน่นอน, ประเด็นที่น่าคิด ก็คือ การต่อสู้ทางการเมือง ด้วยข้ออ้างเพื่อดำรงอยู่ของสถาบันฯในระบอบประชาธิปไตย ระหว่าง “ซ้ายสุดโต่ง” กับ “ขวาสุดโต่ง” คือ ความล้นเกินที่ประชาชนคนไทยยังอยู่บนทางสายกลาง คือ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ดังนั้น “ข้ออ้าง” กับ พฤติกรรมการแสดงออก ไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตาม คือคำตอบในตัวอยู่แล้ว ว่า ต้องการให้สถาบันฯอยู่คู่ระบอบประชาธิปไตย จริงหรือไม่
จริงแบบไหน แบบเหลือเพียง “สัญลักษณ์” อย่างที่บางฝ่ายต้องการ หรือแบบที่ฝ่ายอนุรักษ์ต้องการ แล้วอะไรที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนคนไทยส่วนใหญ่?
ดังนั้น ข้ออ้าง เป็นเรื่องที่ทุกคนอ้างได้ เหมือนทำผิด ทุกคนอ้างได้ว่า ไม่ได้ทำผิด แต่กระบวนการยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสินว่า ผิดจริงหรือไม่
เหนืออื่นใด การแสดงความคิดเห็น หรือมีความเห็นที่แตกต่าง ไม่ว่าต่อเรื่องใด เป็นสิทธิเสรีภาพอยู่แล้ว ตราบใดที่ไม่ไปละเมิดบุคคลอื่น หรือทำผิดกฎหมาย แต่การมุ่งที่จะปลุกกระแสความคิด ความเชื่อ เพื่อให้มีกระแสคล้อยตาม ผ่านสื่อสาธารณะ แล้วเกิดผลกระทบในลักษณะละเมิด ต่อสิ่งที่ต้องการสื่อสารไปยังวงกว้าง
อย่างกรณี นำเสนอด้วยความมุ่งหมายใดอย่างต่อเนื่อง แล้วมีม็อบนำไปขยายผลทางการเมือง นำไปเคลื่อนไหวโจมตี ต่อต้าน สร้างผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อสิ่งที่คนไทยส่วนใหญ่เคารพเทิดทูน แม้ไม่อาจเอาผิดได้ด้วยกฎหมาย แต่ “ประชาชน” ย่อมตัดสินได้ว่า ควรทำหรือไม่
ไม่แน่ ต่อไปอาจมีการแสดงออกของประชาชนในทางใดทางหนึ่งต่อเรื่องนี้มากขึ้น อย่างที่เคยมีการเคลื่อนไหวมาก่อนหน้านี้ ของประชาชนบางกลุ่ม แม้ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนต้องการก็ตาม!?