“พรรคสร้างอนาคตไทย” แนะทางออกแก้วิกฤตพลังงานแพง ชี้ ระยะเร่งด่วนต้องเร่งสร้างสมดุล “เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข”- ทบทวนอ้างอิงราคาสิงคโปร์ชั่วคราว ลดต้นทุนแฝง พร้อมชง 3 แนวทางแก้ปัญหาเชิงรุกระยะยาว รัฐต้องพยุงดีเซลไม่เกินเพดานที่สูงเกินไป สกัดสินค้าพาเหรดขึ้นราคา
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ทำการพรรคสร้างอนาคตไทย พรรคสร้างอนาคตไทย นำโดย นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค และ นายสันติ กีระนันทน์ กรรมการบริหารพรรค ร่วมแถลงข่าวถึงมาตรการการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง เพื่อลดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตของเศรษฐกิจ ในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีความผันผวนในระดับสูงจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน
นายสนธิรัตน์ ในฐานะอดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า พรรคสร้างอนาคตไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ราคาน้ำแพง ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในขณะนี้ ซึ่งตนในฐานะที่เคยดูแลรับผิดชอบด้านพลังงาน มองว่า ยังมีแนวทางที่สามารถบริหารต้นทุนราคาน้ำมันให้ถูกลงเพื่อลดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนได้ โดยแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็น ต้องมีทั้งมาตรการแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน และการแก้ปัญหาเชิงรุกระยะยาวให้ครอบคลุม ที่สำคัญ รัฐไม่ควรปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลเกินเพดานที่สูงเกินไป เพราะจะทำให้ราคาสินค้าต่างๆ ขยับขึ้นตามค่าขนส่งกระทบค่าครองชีพประชาชน ขณะเดียวกัน ก็ยังกระทบไปถึงต้นทุนและการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนวิกฤตซ้ำวิกฤตอีกด้วย
“สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วนที่สามารถทำได้และต้องทำทันที คือ การสร้างสมดุลการอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์ชั่วคราว หัก FIL (ค่าขนส่ง+ค่าประกันภัย+ค่าการสูญเสียจากการขนส่ง) ในช่วงที่เกิดภาวะวิกฤตเช่นนี้ ที่ประชาชนลำบาก การงดการอ้างอิงราคาสิงคโปร์ชั่วคราวถือเป็นการลดต้นทุนแฝงในราคาน้ำมันได้ โดยรัฐต้องเป็นเจ้าภาพในการเข้าไปดูแล และหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่น เพื่อหาจุดตรงกลางที่สามารถเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขร่วมกันได้” นายสนธิรัตน์ กล่าว
ในส่วนของการแก้ปัญหาเชิงรุกระยะยาว นายสนธิรัตน์ ได้เสนอ 3 แนวทางสำคัญ คือ 1. การพิจารณาเพดานค่าการกลั่นให้มีความเป็นธรรมทั้งต่อประชาชนผู้บริโภคและผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยพิจารณาในส่วนของค่าพรีเมียมและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ยืดหยุ่นได้ ซึ่งตรงนี้รัฐต้องเป็นเจ้าภาพเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน 2. การหาแหล่งพลังงานราคาถูกในต่างประเทศเพิ่มเติม และ 3. การสร้างยุทธศาสตร์พลังงานระยะยาว 2 แนวทาง คือ 1. การวางแผนการสำรองน้ำมันในภาวะวิกฤต (Storage Petroleum Reserve) ซึ่งเป็นแผนที่ใช้รองรับช่วงที่เกิดวิกฤต โดยสามารถดำเนินการในช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาถูกลง เพื่อสำรองใช้เมื่อเกิดวิกฤต นอกเหนือจากการใช้เพียงกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว และ 2. การคิดภาษีคาร์บอน ที่สามารถนำมาปรับใช้แทนการคิดภาษีสรรพสามิต
ด้าน นายสันติ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน มีกำไรจากค่าการกลั่นไต่ระดับค่อนข้างสูง โดยเทียบตัวเลขย้อนหลัง 5 ปี พบว่า มีกำไรมหาศาล โดยคาดการณ์จากผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2565 มีแนวโน้มที่จะเห็น กลุ่มโรงกลั่นมีกำไรพุ่งขึ้นกว่า 28% หากคิดเป็นผลประกอบการเต็มปี นอกจากนั้น โรงกลั่นใหญ่ 3 โรง ซึ่งเป็นผู้นำตลาด ล้วนแล้วแต่มี ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นแต่ละโรงกลั่นไม่น้อยกว่า 45% ของหุ้นทั้งหมด และ ปตท. เอง ก็มีกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้น 51.11% และยังมีกองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้นอีก 12.16% ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของโรงกลั่น ก็คือ รัฐนั่นเอง