นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ ในฐานะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค แนะภาครัฐเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์เพราะไม่ได้นำเข้าจริงพร้อมชมคลังเก็บภาษีลาภลอย 25%จากกำไรในกิจการพลังงาน เหตุ ฟันกำไรจากสภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นายกมล กมลตระกูล นักวิชาการอิสระ ได้ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว "กมล กมลตระกูล" เรียกร้องยกเลิกราคาน้ำมันอิงตลาดสิงคโปร์ เพราะไม่ได้นำเข้าจริง พร้อมเสนอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษีลาภลอย 25%จากกำไรในกิจการพลังงาน ทั้งนี้เจ้าตัวได้ระบุข้อความว่า
"สภาองค์กรของผู้บริโภคเรียกร้องราคาน้ำมันอิงตลาดสิงคโปร์ควรยกเลิก เพราะไม่ได้นำเข้าจริง
สภาองค์กรของผู้บริโภค พบว่า การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเป็นการกำหนดโดยการอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซีย (ตลาดสิงคโปร์ – Mean of Platts : MOP Singapore) บวกด้วยค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงโคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังบวก ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ
แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน (สถานการณ์พลังงานไทย ๒๕๖๔) พบว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันสำเร็จรูปโดยโรงกลั่นในประเทศไทย จำนวน ๑,๐๑๖,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน (๑๖๑.๕ ล้านลิตรต่อวัน) โดยมีการใช้ภายในประเทศ ๑๓๓.๕ ล้านลิตรต่อวัน ที่เหลือจึงมีการส่งออก ๓๒.๓ ล้านลิตรต่อวัน (หรือคิดเป็นร้อยละ ๒๔ ของการใช้ทั้งหมด) แต่ก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพียง ๕.๖ ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้น เราสามารถกล่าวโดยประมาณได้ว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทยเราเอง ไม่ได้นำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์แต่ประการใด แต่กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยที่ขายให้คนไทยใช้ทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ โดยบวกเอาค่าขนส่งและค่าอื่นๆ (ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง)
การกำหนดราคาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคเป็นอย่างยิ่ง หากสมมุติว่ามูลค่าขนส่งและค่าอื่นๆเท่ากับ ๑ บาทต่อลิตร มูลค่าที่ผู้บริโภคชาวไทยต้องจ่ายโดยไม่จำเป็นถึง ๑๓๔ ล้านบาทต่อวันและเป็นเช่นนี้มานานแล้ว
สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงพลังงานให้ยกเลิกการบวกค่าขนส่งและค่าอื่น ๆ (ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง) ออกไปจากราคาหน้าโรงกลั่นโดยทันที
อนึ่ง กระทรวงพลังงานควรมีการทบทวนวิธีการอิงราคากับโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์โดยยึดเอาผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ขอให้กระทรวงการคลังเก็บภาษี “ลาภลอย (windfall tax)” จากกิจการน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมีกำไรที่เกิดจากส่วนต่างราคาวัตถุดิบกับราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ขยับตัวสูงขึ้นแบบก้าวกระโดดอันเนื่องจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในขณะที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงขอเสนอให้รัฐบาลเก็บภาษีลาภลอย (windfall tax) ในอัตราร้อยละ ๒๕ จากกำไรที่กิจการพลังงานได้รับ ซึ่งมาตรการดังกล่าวประเทศสหราชอาณาจักรกำลังดำเนินการอยู่
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่า การที่โรงกลั่นในประเทศไทย มีกำไรจากค่าการกลั่นอันเกิดจากส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ซึ่งมาจากผลกระทบสถานการณ์วิกฤตการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน นั้นไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันและประเทศไทย จึงขอเสนอให้รัฐบาลควบคุมราคาน้ำมันสำเร็จรูป ตามที่ได้กล่าวมาแล้วทั้ง ๔ ข้อ
หากผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไม่ให้ความร่วมมือ ขอให้รัฐบาลได้พิจารณา อาศัยอำนาจแห่งพระราชกำหนดแก้ไขและป้องกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ๒๕๑๖ หรือ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อประกาศการควบคุมราคาน้ำมันสำเร็จรูป ณ โรงกลั่น และราคาขายปลีก พร้อมทั้งห้ามนำน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตได้ในประเทศส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศ"