“กบง.” ถกวันนี้รอลุ้นชี้ชะตาขึ้นราคาLPG อีก1 บาทต่อกก.หรือขยับสู่ 378 บาทต่อถัง 15 กก. หลังกองทุนฯติดลบหนัก
รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)วันนี้( 15 มิ.ย.) จะมีการประชุมหลายประเด็นและหนึ่งในวาระสำคัญคือการทบทวนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG)ครัวเรือนที่มาตรการเดิมปรับขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ทุกเดือนเป็นเวลา 3 เดือนได้สิ้นสุดลงในมิ.ย.นี้โดยมีแนวโน้มว่าในวันที่ 1 ก.ค.จะขึ้นต่ออีก 1 บาทต่อกก. หรือ เป็น 378 บาทต่อถัง 15 กก. เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่บัญชีLPGติดลบถึง 36,515 ล้านบาทและเมื่อรวมกับ ส่วนเดือนถัดไปจะปรับอีกหรือไม่ ต้องรอดูสถานการณ์ตลาดโลกและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้ง
ปัจจุบันต้นทุนจริงของแอลพีจีอยู่ที่ประมาณ 450 บาทต่อถัง 15 กก. ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 363 บาทต่อถัง 15 กก. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นมาแล้ว 3 ครั้ง ใน 3 เดือน คือ เดิมตรึงราคา 318 บาทต่อถัง 15 กก. เดือนเมษายนขึ้นเป็น 333 บาทต่อถัง 15 กก. เดือนพฤษภาคม 348 บาทต่อถัง 15 กก. และเดือนมิถุนายน ราคา 363 บาทต่อถัง 15 กก. หากขึ้นกรกฎาคมจะเป็น 378 บาทต่อถัง 15 กก.
สำหรับการลดค่าการกลั่นขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อหาเงินมาอุดหนุนราคาพลังงานเบื้องต้นมีความเป็นไปได้ในการใช้อำนาจ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ตามมาตรา 14 โดยจะรายงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เพื่อทราบเร็วๆ นี้ ในการหารือร่วมกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อหาแนวทางปรับลดราคาช่วยประชาชน โดยการพิจารณาครั้งนี้ต้องพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างถูกโรงกลั่นฟ้องร้องได้ เพราะตลาดน้ำมันเป็นตลาดเสรี
โดยแนวทางที่มีการหารือในการเข้าบริหารจัดการค่าการกลั่นจะมี
3 แนวทาง คือ 1) การขอความร่วมมือให้โรงกลั่นน้ำมันลดกำไรจากค่าการกลั่นลง
และนำกำไรนั้นส่งผ่านมาช่วยลดราคาน้ำมันสำเร็จรูป 2) การเรียกเก็บภาษี (tax)
ค่าการกลั่นในลักษณะเดียวกันกับภาษีลาภลอย หรือwindfall tax และ
3) การใช้อำนาจของ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 14
ให้โรงกลั่นน้ำมันนำส่งค่าการกลั่นส่วนเกินจากอัตราปกติ
เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำมา “อุดหนุน” ราคาน้ำมันภายในประเทศให้ลดต่ำลง
“ กระทรวงพลังงานจะเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน หรือเรียกว่า ภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax เพื่อนำไปใส่ในกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอัยการสูงสุดและได้คำตอบมาแล้ว เบื้องต้นจะใช้มาตรการ 14 ตามพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันฯ ดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนนี้”แหล่งข่าวกล่าว