xs
xsm
sm
md
lg

พรุ่งนี้ลุ้นรัฐเคาะขึ้นดีเซลต่อหรือพอก่อน!จับตาเครือข่ายภาคปชช.ชงคุมค่าการกลั่น-รื้อสูตรLPG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัดใจ”กบน.”พรุ่งนี้จะเคาะตรึงราคาดีเซล 34 บาท/ลิตรหรือขยับต่อเป็น 35 บาทต่อลิตร หลังสภาพคล่องกองทุนน้ำมันติดลบหนักแต่ยังหากู้ไม่ได้ ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนเสนอกระทรวงพลังงานแก้วิกฤติราคาน้ำมันและแอลพีจีโดยให้คำนวณราคาขายปลีกหน้าปั๊มอิงราคาสิงคโปร์จากย้อนหลัง 2 วันเป็น 2 สัปดาห์ จำกัดค่าการกลั่น 1.50 บาท/ลิตรชั่วคราว รวมไปถึงการให้กลับไปใช้สูตรราคาแอลพีจีช่วงปฏิวัติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (13 มิ.ย.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) หารือราคาดีเซลรายสัปดาห์ว่าจะตรึงไว้ระดับ 34 บาท/ลิตรหรือจะอนุมัติขึ้นราคาอีกไม่เกิน 1 บาท/ลิตร ซึ่งจะส่งผลให้ราคาแตะ 35 บาท/ลิตร หลังระดับราคาน้ำมันโลกผันผวนและปลายสัปดาห์ลดลงเล็กน้อยแต่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังอยู่ในสภาพที่ติดลบหนักเกือบ 9 หมื่นล้านบาทขณะที่สถาบันการเงินยังไม่อนุมัติปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง


นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคกล่าวว่า ได้ร่วมประชุมคณะทำงานราคาพลังงานที่เป็นธรรมที่มีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธานที่ผ่านมา คณะทำงานส่วนของภาคประชาชนได้เสนอให้กระทรวงพลังงานลดผลกระทบราคาน้ำมันแพงและก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)โดยขอความร่วมมือกับเอกชนปรับหลักการคำนวณราคาขายปลีกหน้าปั๊มจากการอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ 2 วันย้อนหลัง เป็น 14 วันย้อนหลัง พร้อมกับลดราคาหน้าโรงกลั่นโดยเสนอให้ขอความร่วมมือชั่วคราว จำกัดค่าการกลั่นเป็นไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร เป็นการช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤติเท่านั้น

“ ไตรมาส 2/65 ค่าการกลั่นสูงถึง 5 บาท/ลิตร จากที่ไตรมาส 1/65 ได้ราว 1.00-2.00 บาท/ลิตรซึ่งถือว่าไตรมาสแรกขนาดค่าการตลาดเฉลี่ย 2 บาท/ลิตรก็กำไรมากแล้ว โดยเมื่อหักการขาดทุนของกลุ่มโรงกลั่นช่วงโควิด-19 เกือบ 3 หมื่นลานบาทตลอดทั้งปีโรงกลั่นก็กำไรสูงมากภาวะเช่นนี้ก็น่าจะมาแบ่งปันทุกข์และสุขกับประชาชนร่วมกัน ส่วนที่โรงกลั่นต้องลงทุน 5 หมื่นล้านบาทปรับคุณภาพน้ำมันไปสู่มาตรฐานยูโร 5 ปี2567 ขอให้ชะลอไปก่อนเพราะน้ำมันไทยมีมาตรฐานสูงอยู่แล้ว” นายอิฐบูรณ์กล่าว


ส่วนเรื่องราคาก๊าซหุงต้ม นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณะทำงานเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม (ภาคประชาชน) กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ เสนอให้ยกเลิกโครงสร้างราคาในปัจจุบัน และย้อนกลับไปใช้โครงสร้างราคาช่วงการปฏิวัติ ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยขอให้ใช้ราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯ ที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และให้ยกเลิกสูตรราคา ณ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติกส์ ณ ปัจจุบัน และให้กำหนดราคา ร้อยละ 24 ของราคาโรงแยกที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน + ร้อยละ 76 ของราคาตลาดโลก (CP) ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ส่วนที่มีการนำเข้า ให้อ้างอิงราคาตลาดโลก (CP) + ค่าใช้จ่ายในการนำเข้า โดยมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) 23 พฤษภาคม 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เริ่ม 1 เมษายน 2551 ตามเดิม พร้อมทั้งควรกำหนดราคาจัดหา ณ คลังก๊าซใหม่ เฉลี่ยราคาแบบถ่วงน้ำหนักจากแหล่งผลิต

“ การแก้ไขโครงสร้างราคา แอลพีจีเป็นอัตราปัจจุบัน ทำให้คนไทยต้องใช้ก๊าซหุงต้มในราคาตลาดโลกบวกค่าใช้จ่ายสมมติว่านำเข้าจากประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำให้ราคาสูงขึ้น ทั้งที่หากย้อนข้อมูลทางสถิติของกระทรวงพลังงาน ปี 2564 ประมาณการผลิตก๊าซหุงต้มได้มากจากโรงแยกก๊าซ ประมาณ 54% และผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันประมาณ 37% นำเข้าเพียง 9% เราสามารถผลิตได้เองในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น ราคาขายปลีกที่อ้างอิงราคาตลาดโลกเป็นการสร้างภาระให้ประชาชน และกองทุนน้ำมันฯ ต้องนำเงินจากผู้ใช้นำมันมาชดเชยราคาก๊าซหุงต้นประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2565)” นายปานเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น