“กบน.” เคาะขึ้นดีเซลอีก 1 บาทต่อลิตรเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกันมีผลพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) หลังราคาตลาดโลกยังผันผวนระดับสูง ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลชนเพดาน 34.94 บาทต่อลิตร ยันราคาจริงตามมาตรการคนละครึ่งเพดานต้องอยู่ที่ 37 บาทต่อลิตร ขณะที่ลดค่าการกลั่นต้องรอ ก.พลังงานสรุป ด้านกลุ่มโรงกลั่นรอสัญญาณรัฐ
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เป็นประธานเมื่อ 13 มิ.ย.ว่า กบน.ได้ทบทวนราคาขายปลีกดีเซลประจำสัปดาห์โดยเห็นชอบให้ปรับราคาขึ้นอีก 1 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาปรับจาก 33.94 บาทต่อลิตร เป็น 34.94 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ 14 มิ.ย.เป็นต้นไป
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2565 มีฐานะสุทธิติดลบ 91,089 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 54,574 ล้านบาท และแอลพีจีติดลบ 36,515 ล้านบาท ขณะที่การอุดหนุนดีเซลอยู่ที่ 9.96 บาทต่อลิตร อย่างไรก็ตาม กรณีกลุ่มแก๊สโซฮอล์ที่มีการลดการชดเชยก่อนหน้านี้ทำให้ราคาขายปลีกช่วงเวลาดังกล่าวลดลงมา ซึ่งหากไม่ใช่มาตรการดังกล่าวราคาจะขยับแบบก้าวกระโดด ส่วนจะมีการพิจารณามาตรการดูแลเพิ่มเติมหรือไม่คงจะต้องติดตามเพื่อดูแลต่อไปเพราะยอมรับว่าราคาค่อนข้างผันผวน
“เรายังคงต้องติดตามราคาน้ำมันตลาดโลก ซึ่งหากอยู่ระดับนี้ก็ยังพอมีเงินสภาพคล่องช่วยได้อยู่ ก็น่าจะพอไหว แต่ทั้งนี้อยู่ที่ราคาตลาดโลก อย่างไรก็ตาม มติ ครม. 22 มี.ค.ได้กำหนดมาตรการอุดหนุนคนละครึ่งและประชาชนรับภาระครึ่งหนึ่ง ซึ่งหากสะท้อนมาตรการดังกล่าวเวลานี้ดีเซลจะต้องขึ้นไปอยู่ที่ 37 บาทต่อลิตร” นายวิศักดิ์กล่าว
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธสาสตร์ สกนช. กล่าวเสริมว่า กบน.จำเป็นต้องปรับดีเซลขึ้นจากปัจจัยที่ราคาน้ำมันค่อนข้างแกว่งตัวและมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงปลายสัปดาห์ที่มีการปรับขึ้นแรง เนื่องจากแนวโน้มฟื้นตัวเนื่องจากสหรัฐฯ มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงจีนจะเปิดประเทศแม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะมีการเพิ่มอัตรากำลังการผลิตแต่ก็ยังไม่สามารถฉุดราคาไว้ได้ โดยเฉพาะ 10 มิ.ย.ราคาดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกมีการปรับขึ้นสูงถึง 172.77 เหรียญต่อบาร์เรลซึ่งถือว่าแกว่งตัวสูงมาก
"กรณีค่าการกลั่นทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาอยู่ เราจึงยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งบทบาทเข้าใจว่ากระทรวงฯ ต้องดูให้ครบทุกมิติ ทั้งกฎหมายและความเป็นธรรม" นายพรชัยกล่าว
แหล่งข่าวจากกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันกล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มโรงกลั่นกำลังรอการพิจารณาจากกระทรวงพลังงานว่าจะให้ร่วมมืออย่างไร โดยขอให้ความเป็นธรรมต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยข้อเท็จจริงของธุรกิจการกลั่นฯ มีความเสี่ยงสูง ตั้งแต่กระบวนการสั่งซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้า 2 เดือน สั่งซื้อด้วยค่าพรีเมียมที่ขณะนี้สูงมาก 7-10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และจะรู้ราคาซื้อขายจริงก็วันที่ได้น้ำมันจริง ส่วนราคาขายก็ไม่ทราบล่วงหน้าเป็นปัจจัยที่ตลาดกำหนด
“กรณีมีข้อเสนอเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax) จากโรงกลั่นโดยให้คำนวณจากกำไรที่สูงเกินอัตราที่ควรจะเป็นนั้น เรื่องนี้ก็คงรอความเห็นจากภาครัฐเช่นกันเพราะกำไรที่เพิ่มขึันภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีนิติบุคคล 20% อยู่แล้วก็เป็นภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและหากเก็บอีกจะซ้ำซ้อนหรือไม่ ธุรกิจเองก็มีความเสี่ยงทั้งกำไรและขาดทุนแต่ละช่วง ซึ่งก็เข้าใจเรื่องราคาน้ำมันทุกฝ่ายก็เดือดร้อนไปหมด แม้แต่โรงกลั่นก็บริหารความเสี่ยงยากเช่นกัน" แหล่งข่าวระบุ