เมืองไทย 360 องศา
จะเรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียจริงๆ สำหรับประเด็นการอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่เพิ่งผ่านวาระแรกไปด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น แต่ที่บอกว่ามันเกิดผลสั่นสะเทือนอย่างไม่คาดหมายก็คือ ประเด็นที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หยิบยกเอาเรื่องรายจ่ายงบประมาณที่เกี่ยวกับ “บำเหน็จบำนาญข้าราชการ” ที่ความหมายก็คือ ต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้จำนวนมาก จนเป็นภาระจนกระทบต่อการพัฒนา และการลงทุนของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งเปรียบเทียบในลักษณะ “ช้างป่วย” อะไรแบบนั้น
ซึ่งก็ได้ผล วันรุ่งขึ้นก็เกิดปฏิกิริยาจากฝ่ายข้าราชการ โดยเฉพาะข้าราชการที่เกษียณอายุราชการที่ได้รับบำนาญต่างออกมา ระดมขว้าง “ก้อนอิฐ” เข้าใส่จนรับไม่ทัน ขณะเดียวกันส่งผลกระทบไปถึงบรรดา ส.ส.และส.ว.ทั้งสภา ที่ชาวบ้านหลายคนยังไม่รู้ว่าคนพวกนี้ได้รับเงินบำเหน็จบำนาญไปด้วย ลักษณะเหมือนกับว่า “เคยรับกันอยู่เงียบๆ แต่ดันถูกลากพาซวยไปด้วย” อะไรทำนองนั้น
ขณะเดียวกันหากพิจารณากันต่อมาว่าผลจากการอภิปรายในเรื่องดังกล่าวของ นายพิธา มันส่งผลกระทบในทางมากน้อยแค่ไหน ก็ต้องสังเกตจากการออกมาปฏิเสธพัลวัน โดยอ้างว่ามีการบิดเบือนหรือ เข้าใจเจตนาไปอีกทาง หรือแม้แต่มีการขออภัยหากทำให้ไม่สบายใจ ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่า มันมีผลสะท้อนกลับมาอย่างรุนแรงทีเดียวจึงต้องแสดงออกมาแบบนั้น
อย่างไรก็ดีสำหรับการอภิปรายของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเรื่องเงินบำนาญข้าราชการ ที่มีการสรุปความบางตอนดังนี้
จากการพิจารณาปีนี้เป็นงบช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ รายได้ผันผวน รายจ่ายแข็งตัว การกู้จะหลุดกรอบ เพราะรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย เราจำเป็นต้องกู้เพิ่มอีก 6.95 แสนล้านบาท แต่ปัจจัยเสี่ยงการเก็บภาษีของเราถดถอยลง ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อที่สูงทำให้ภาระเงินกู้สูงขึ้นด้วย ในส่วนของเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ ข้าราชการ วงเงินงบประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท คือรายจ่ายที่สูงเท่ากับกระทรวงศึกษาฯทั้งกระทรวง
นี่คือปัญหาของช้างป่วยที่ปรับตัวไม่ได้ โครงสร้างงบประมาณตั้งแต่ปี 57- 65 งบประมาณ 75% เป็นงบประจำทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในประเทศ การตั้งงบประมาณไม่ได้ตอบสนองกับวิกฤต หรือโอกาสในปีหน้าแต่อย่างใด นี่เป็นยาขมที่พวกเราทุกคนต้องกลืน เป็นโครงสร้างงบประมาณที่น่ากลัว
ทุกๆ 1 บาท ที่เก็บภาษีและกู้มา 40% กลายเป็นเงินเดือน สวัสดิการ กับบำนาญข้าราชการ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เงินที่ใช้ไปกับบำนาญมากขึ้น 2 เท่า โดยปี 57 บำนาญอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท ปี 64 อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท ปี 66 อยู่ที่ 3.22 แสนล้านบาท ตอนนี้เรามีข้าราชการเกษียณ 8 แสนคน แต่ในปี 2580 จะมีข้าราชการเกษียณ 1.2 ล้านคน แค่บำนาญของบุคคลากรก็เกินงบประมาณที่เราจะใช้ไปเยอะมาก กระบวนการรัฐราชการ รัฐอุ้ยอ้าย จึงเป็นช้างป่วยที่ปรับตัว ไม่ได้ เราจะแก้ไขเรื่องนี้กันอย่างไร ถ้าปล่อยไว้แบบนี้ประเทศจะพัฒนาได้อย่างไร
สิ้นเสียงการอภิปราย ก็ได้รับ“ก้อนอิฐ” ระดมเข้าใส่ทันที โดยเฉพาะจากกลุ่มข้าราชการที่ออกมาตอบโต้อย่างรุนแรง และนายศรศักดิ์ อ้วนล้วน ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิและสวัสดิการข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย เขียนจดหมายเปิดผนึกไปถึง นายพิธา และพรรคก้าวไกลเพื่อให้ชี้แจงเรื่องดังกล่าว
ล่าสุดก็มีคำแถลงจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ของพรรคก้าวไกล ย้ำว่าไม่ได้มีเจตนาในการตัดงบบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ พร้อมทั้งระบุว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และในที่สุดก็มีการขออภัยหากทำให้เสียความรู้สึก
“ผมต้องเรียนท่านว่าผมมีคนในครอบครัวเป็นข้าราชการบำนาญ ตัวผมเองก็เคยทำงานที่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน เข้าใจหัวอกข้าราชการเรื่องค่าตอบแทนที่น้อยกว่าเอกชนและปัญหาของข้าราชการไทยในการดูแลประชาชนไม่มากก็น้อย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะมีอคติต่อข้าราชการครับ” นายพิธากล่าว
“ผมไม่เคยพูดว่าบำนาญ เป็นปัญหาหรือภาระ แต่พูดว่าหากหารายได้ เก็บรายได้ไม่ได้สอดคล้องรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีปัญหารวมถึงสวัสดิการประชาชนหรือแม้แต่สวัสดิการข้าราชการเองในอนาคต ในทางกลับกัน ถ้าไม่พูดถึงตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อช่วยกันแก้ไข เกรงว่าสถานการณ์อาจสายเกินแก้ และอาจกลายเป็นปัญหาขึ้นมาจริงๆ เมื่อรัฐบาลหารายได้ให้สอดคล้องกับรายจ่ายในอนาคตไม่ได้ จึงอยากกันไว้ดีกว่าแก้" นายพิธา ระบุ
ประเด็นที่ 3 ที่ท่านรู้สึกว่าการอภิปรายทำลายความรู้สึกของผู้อาวุโส พาดพิงให้เกิดความเสียหาย นายพิธา ตอบว่า ขอยืนยันในเจตนาและความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่มีเจตนาในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร เพื่อทำลายความรู้สึก ยืนยันว่าเคารพประชาชนทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือประชาชน โดยเฉพาะผู้อาวุโสในช่วงวิกฤตสังคมสูงวัย ที่ตนต้องการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนดีขึ้น
แน่นอนว่าหากพิจารณาจากปฏิกิริยาแบบนี้ ก็ย่อมมีผลมาจากผลกระทบ เพราะหากไม่รีบขออภัย ไม่รีบชี้แจงให้เคลียร์ มันก็อาจส่งผลบานปลายตามมาแน่นอน เพราะต้องไม่ลืมว่า บรรดาข้าราชการทั้งที่เกษียณอายุราชการไปแล้วที่กำลังรับเงินบำนาญย่อมมีอยู่นับแสนคน รวมไปถึงข้าราชการทั้งที่ไม่เกษียณอายุและกำลังจะเกษียณอายุอีกจำนวนมาก ย่อมต้องยืนอยู่ตรงข้ามกับพรรคก้าวไกลแน่นอน ซึ่งหากปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนานโดยไม่เคลียร์ ก็ไม่อยากจะคิดว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างในอนาคตหากมีการเลือกตั้ง และต้องการคะแนนเสียงจากทุกฝ่าย
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเคยถูกตอบโต้อย่างรุนแรงมาแล้วจากข้อเสนอของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เครือข่ายเดียวกับพรรคก้าวไกล ที่เสนอให้ยุบกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีครั้งนั้นเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันในเรื่องหลักการและเหตุผลในเรื่องการกระจายอำนาจและหลักประชาธิปไตย ที่มีทั้งคนเห็นด้วย และคัดค้าน
แต่คราวนี้การมาแตะเรื่องเงินบำนาญของข้าราชการที่กว่าจะได้เงินที่ว่านี้ ต้องรับราชการมาไม่น้อยกว่า 25 ปี มีสิทธิในการรักษาพยาบาล โดยแลกกับเงินเดือนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับภาคเอกชน และที่สำคัญทำให้เกิดการเปรียบเทียบแบบ “สะกิดความรู้สึก” เมื่อรับรู้ว่าบรรดา ส.ส. ก็ได้รับบำเหน็จ บำนาญ ทั้งที่ทำงานได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น มันก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะอย่างที่รับรู้กันว่า พวกนักการเมืองมีภาพจำในความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอย่างไร
เอาเป็นว่างานนี้การหยิบเอาเรื่อง “เงินบำนาญ” มาเป็นประเด็นในการอภิปรายงบประมาณ ถือว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” หรือจะเรียกว่า “เสียหายเกินคาด” ก็ว่าได้ และอาจกลายเป็นภาพฝังใจกับบรรดาข้าราชการทั่วประเทศไปแล้วก็เป็นได้
แม้ว่าจะรีบออกมาเคลียร์ว่าไม่ได้เจตนาและเข้าใจคลาดเคลื่อนก็ตาม แต่นั่นก็สะท้อนให้เห็นว่ารับรู้ถึงความสั่นสะเทือนตามมาไม่เบาทีเดียว ซึ่งจะว่าไปแล้วหากย้อนกลับไปฟังคำอภิปรายมันก็อาจโมโหได้เหมือนกัน !!