xs
xsm
sm
md
lg

เคลียร์คัต “ตู่-ป้อม” ไปต่อหรือพอแค่นี้ !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน ที่ทำให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะแบบถล่มทลาย สร้างประวัติศาสตร์ที่ได้รับเสียงสนับสนุนโดยตรงจากประชาชนกว่าหนึ่งล้านสามแสนคน จนสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองใหม่เกิดขึ้นมาหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกัน ผลจากการเลือกตั้งดังกล่าว ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนออกไปในวงกว้าง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

โดยเฉพาะหากโฟกัสแยกไปที่ กลุ่ม “สาม ป.” หรือ เอาเฉพาะแค่ “สอง ป.” คือพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็ต้องถือว่าได้รับแรงกระแทกเข้าไปอย่างจัง ไม่ว่าจะพยายามเก็บอาการ หรือไม่ยอมรับก็ตาม แต่ในใจเชื่อว่าพวกเขาย่อมรับรู้ได้ดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันในรายละเอียดภายใต้สถานการณ์และความรู้สึกแบบนี้กลับสร้างความกดดันแตกต่างกันคนละแบบ นั่นคือ ระหว่าง “บิ๊กตู่” หรือ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ “บิ๊กป้อม” หรือ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แน่นอนว่า ความรู้สึกในใจของทั้งคู่นั้นน่าจะต่างกัน เพราะหากคาดเดาความรู้สึกในใจของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเวลานี้ คงอยากส่งผ่านความกดดันจากภายนอกไปถึง “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐมากกว่า แทนที่จะส่งสัญญาณออกไป “จากน้องไปถึงพี่” โดยตรง เพราะความเป็น “พี่น้อง” ที่ค้ำจุนกันมานับสิบปีมันค้ำคออยู่

ขณะเดียวกัน ทางการเมือง ในทางลึกก็ต้องยอมรับเช่นเดียวกันว่า ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังจำเป็นต้องใช้บริการของ พล.อ.ประวิตร โดยเฉพาะในเรื่อง “คอนเนกชัน” ที่รับรู้กันดีว่า “พี่ใหญ่” คนนี้กว้างขวางนัก ซึ่งในทางอำนาจก็ยังต้องการพึ่งพาคนแบบนี้ และปัจจุบันก็ยังมีบทบาทเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” ทำหน้าที่ประสานงานสิบทิศ ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงบรรดาพรรคเล็กพรรคน้อย อีกทั้งการเลี้ยงดูปูเสื่อกับ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐส่วนใหญ่ก็มาจากเขานี่แหละที่ประสานงาน ส่วนจะมีเรื่อง “กล้วย” หรือไม่ ก็ลองไปคิดดูเอาเองว่าใช่หรือไม่

แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ภายในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งกี่กลุ่ม กี่ก๊วนก็ตาม แต่ทุกคนก็ต่างเกรงใจไม่เคยก้าวล่วง “ลุงป้อม” กันเลย ความหมายก็คือ การควบคุมที่ดีและได้ผลที่สุด ก็คือ เรื่อง “ปัจจัย” นั่นเอง และที่ผ่านมา เขาก็เคยกล่าวให้ได้ยินมาแล้วว่า “ค่าใช้จ่ายทุกอย่างให้มาเอาที่ผม ดูแลเอง” ซึ่งคำพูดแบบนี้เคยได้ยินเมื่อครั้งที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กับพวกแยกตัวออกไป และ ร.อ.ธรรมนัส เคยรับหน้าที่ดูแล ส.ส.และประสานงานพรรคเล็ก ในความเข้าใจว่าทำหน้าที่เป็นตัวแทนของ “บิ๊กป้อม” นั่นแหละ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีบารมีในหมู่นักการเมือง ลูกพรรค และระดับข้าราชการ ในวงการธุรกิจ มีคอนเนกชัน เครือข่ายกว้างไปทุกวงการก็ตาม แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ในภาพลักษณ์ภายนอกในทางสังคมถือว่า “ติดลบ” ไม่เคยกระเตื้องขึ้นมาเลย และยิ่งมาในระยะหลังยิ่งทรุดลงหนัก ประกอบกับปัญหาสุขภาพ ที่สังคมมองเห็นจากท่วงท่าการเดินเหินไม่สะดวก มันก็ยิ่งมีเพิ่มเสียงเรียกร้องกดดันให้วางมือ กลับไปพักผ่อน ซึ่งที่ผ่านมา ตัวเขาเองก็มักยอมรับว่า “สุขภาพไม่ดี” อายุมากแล้ว แต่ก็ยังไม่เคยยืนยันว่าจะวางมือ หรืออย่างมากก็แค่พูดว่า “จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไปจนจบ” หรือไม่ก็กล่าวแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ไม่รู้จะไหวหรือเปล่า อะไรประมาณนี้

อีกทั้งที่ผ่านมา ในช่วงหลัง หากสังเกตจะเห็นว่า มี “ท่าทีคลุมเครือ” เหมือนจะชัด แต่ไม่ชัด มองได้แปลกๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง “แคนดิเดตนายกฯ” ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ชัดเจนว่า พรรคพลังประชารัฐ จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพียงคนเดียว แต่เหมือนกับมีการส่งสัญญาณให้เข้าใจว่า จะเสนอชื่อของ “บิ๊กป้อม” ประกบเข้ามา แม้ว่าในทางกฎหมาย รวมไปถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ถือเป็นเรื่องปกติที่จะเสนอชื่อไม่เกินสามชื่อก็ตาม แต่เพราะพรรคพลังประชารัฐ มีเงื่อนไขพิเศษที่มองว่า “สอง ป.” ไม่เหมือนเดิมนั่นเอง

เมื่อมองมาทาง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บ้าง อย่างที่รับรู้อาการว่าคงรู้สึก “อึดอัด” คงอยากทำให้เกิดความชัดเจน แต่ก็คงเข้าใจได้ว่า หากทำเช่นนั้นก็ต้องหมายถึงการ “หัก” กันอย่างไม่ไว้หน้า ซึ่งเชื่อว่า เขาคงไม่ทำแน่นอน เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์ อีกทั้งในสถานการณ์เฉพาะหน้ายังต้องพึ่งพากันอยู่

แต่ในทางการเมือง โดยเฉพาะบรรดา “กองเชียร์” ของ “บิ๊กตู่” ที่ต่างต้องการเห็นการสลัด “ลุงป้อม” ทิ้งไป หรือไม่ก็ต้องการมีการ “เคลียร์คัต” ให้เร็วที่สุดว่าต้องการให้พรรคพลังประชารัฐสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตบัญชีนายกฯ เพียงคนเดียว และยอมรับการนำเพียงคนเดียวเท่านั้น พร้อมกับการปรับปรุงภายในพรรคเสียใหม่ และเสริมสร้างภาพลักษณ์กันขนานใหญ่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสู้ศึกใหญ่ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

เพราะหลายคนเชื่อว่า หากยังคลุมเครือ อึมครึมแบบนี้ ต่อไปก็มีแต่ย่อยยับ และมีโอกาสที่พรรคพลังประชารัฐแตกสลาย หรือกลายเป็นพรรคต่ำสิบในอนาคต ซึ่งนั่นเป็นความคาดหมายที่ว่าพวกเขายังต้องการ “ไปต่อ” เท่านั้น

ขณะเดียวกัน หากออกมาในทางตรงกันข้าม คือ “พอแค่นี้” มันก็ต้องมาประเมินกันใหม่ หากออกมาในรูปนี้ นั่นก็หมายความว่า พยายามประคองสถานการณ์ไปจนครบวาระ หรือผ่านพ้น “งานสำคัญ” อย่างการประชุมเอเปกในช่วงเดือนพฤศจิกายน แล้วก็ยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ช่วงหลังปีใหม่ เป็นของขวัญกับประชาชน เพราะถึงตอนนั้นถือว่าน่าจะเหมาะสม ทั้งในเรื่องของกฎหมายสองฉบับ ที่เป็นกติกาการเลือกตั้งใหม่ที่หลายพรรคต้องการ และใกล้ครบวาระรัฐบาลและสภาครบสี่ปี

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงตอนนั้นก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีมานานกว่า 8 ปี ตามสถิติ ถือว่านานใช้ได้ ใกล้เคียงกับ “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ และหากไม่มองด้วยอคติก็ต้องยอมรับเหมือนกันว่า เขาก็ได้สร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอันไม่น้อย เพราะที่ผ่านมาในรัฐบาลของเขา ตั้งแต่ยุค คสช.เป็นต้นมาก็หลายโครงการที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในด้านการพัฒนา วางโครงสร้างพื้นฐานไว้มากมายก็เห็นกันอยู่ หากจบแบบนี้บางทีมันก็สวยงามเหมือนกัน

แต่ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังไม่เคยแสดงท่าทีออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน ว่า “ไปต่อหรือพอแค่นี้” มีแต่การคาดการณ์ว่าเขา “จะไปต่อ” ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เกิดแรงต่อต้าน ทั้งฝ่ายไม่ชอบ และพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ต้องการเข้ามา “สวมแทนอำนาจ” โดยเฉพาะในกลุ่มของ นายทักษิณ ชินวัตร นั่นแหละ

ขณะเดียวกัน สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นาทีนี้หากให้เดาก็เหมือนกับการรอเวลา และ “หยั่งท่าที” สังคมไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนตัดสินใจให้เด็ดขาดว่าจะ “ไปต่อหรือพอแค่นี้” ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสองทาง แต่จากผลการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มันกลับทำให้เป็น “ตัวเร่ง” และขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งบางทีเขาก็อาจเลือก “ยืมมือ” แรงกระแทกจากผลการเลือกตั้งดังกล่าวมาเป็นแรงกดดันไปถึง “พี่ใหญ่” ให้รีบหมอบ และเคลียร์คัตโดยเร็ว คาดว่า ไม่กี่อึดใจก็ต้องชัดแล้ว !!



กำลังโหลดความคิดเห็น