xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.อานนท์” ชี้ “พิธา” ลบหลู่ “สถาบันฯ” อุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ “ธนาธร” คิดการใหญ่ เลิกผู้ว่าฯ ถึงผู้ใหญ่บ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ขอบคุณข้อมูล-ภาพ จากเฟซบุ๊ก ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
เอาล่ะสิ “ดร.อานนท์” ชี้ “พิธา” เข้าข่ายลบหลู่สถาบันฯเป็นอุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ ผิด รธน.ม.6 - ม.112 “หมอวรงค์” ซัด โกหก ปชช. ตรรกะแบบมั่วๆ “ทอน” คิดการใหญ่ ยกเลิกผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (3 พ.ค. 65) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ตอบโต้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เสนอรัฐสวัสดิการ เอาใจแรงงาน แต่ดันพาดพิงสถาบันฯ ว่า

ภาพ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากแฟ้ม
“พูดอะไรโง่ๆ ไม่มีเหตุมีผลอีกแล้ว พูดเพื่อเสี้ยมแซะสถาบันฯอย่างเดียว เจตนาเลวทรามต้องการลบหลู่พระเกียรติ กระทบกระแทกแดกดันสถาบันฯแต่อย่างเดียว เป็นการทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 6 และ ป.อาญา มาตรา 112 โดยทำให้คนเข้าใจผิดและเกลียดชังสถาบันฯ ว่า เป็นอุปสรรคต่อรัฐสวัสดิการ เข้าข่ายล้มล้างการปกครองตาม รธน.มาตรา 49 และผิด ป.อาญา มาตรา 116 อีกด้วย

ผม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ขอท้า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ดีเบตในหัวข้อ พรรคก้าวไกลไม่มีวันสร้างรัฐสวัสดิการได้สำเร็จ กลับจะทำให้บ้านเมืองล้มละลายได้ ทางโทรทัศน์ช่องไหนก็ได้ เชิญรับคำท้า

ถ้านักเลงพอ ก็มาคนเดียว ตัวต่อตัว ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ถ้าคุณนักเลงจริง ใจถึง ก็มา”

ภาพ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม จากแฟ้ม
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊ก Warong Dechgitvigrom ของ “หมอวรงค์” นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี โพสต์ข้อความระบุว่า

“#ประชาธิปไตยกับเผด็จการและความเดือดร้อนของประชาชน

สังคมไทยเป็นสังคมที่แปลก ลืมง่าย ปั่นง่าย โดยเฉพาะนักการเมืองไทย จะถนัดมากกับ การปล่อยให้เหตุการณ์ผ่านไป แล้วมาปั่นเรื่องผิดให้เป็นถูก ปั่นเรื่องหมูให้กลายเป็นหมา

เอาแค่คำว่าประชาธิปไตยกับเผด็จการ ถ้าใจกว้าง มองกันอย่างลึกซึ้ง มองความจริงให้รอบด้าน ชีวิตไม่ได้ตรงๆ กับสองสิ่งนี้ เป็นประชาธิปไตย หรือเผด็จการ คำถามต้องถามกลับ ประชาธิปไตยที่อ้างนั้นจริงหรือ ทำไมที่ว่าเผด็จการ จึงมีคนออกมาให้กำลังใจ ต้องช่วยกันหาคำตอบ

คำว่าประชาธิปไตย ที่มีนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง พยายามอ้าง เอามาเป็นของตนเอง ในทางปฏิบัติ คำว่าประชาธิปไตยของคุณหมายถึงอะไร ครอบคลุมอะไรบ้าง ตรงกับสิ่งที่ประชาชนเข้าใจไหม

จ่ายเงินซื้อ ส.ส. 30 ล้าน ใช่ประชาธิปไตยไหม จ่ายเงินซื้อเสียงใช่ไหม ใช้อำนาจโกงชาติ ศาลฎีกาตัดสินแล้วหนีคุกใช่ไหม ใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายล้างผิดให้ตนเองใช่ไหม การสืบทอดอำนาจผ่านสายเลือด ผ่านดีเอ็นเอ ใช่ไหม

ยิ่งฝ่ายที่อ้างประชาธิปไตย ชอบพูดเรื่องความเท่าเทียม ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศคือเกษตรกร แล้วมีเกษตรจริงๆ สักกี่คน ที่ได้นั่งเป็น ส.ส. ส่วนใหญ่มีแต่นายทุน แบบนี้เท่าเทียมไหม

บางคนเลยเถิดไปถึง ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อสร้างรัฐสวัสดิการ โดยไม่สนใจวิธีการหาเงินเข้าประเทศ รวมทั้งพวกโกงระบบการจัดเก็บภาษี ซึ่งเป็นการโกหกประชาชน สร้างตรรกะแบบมั่วๆ และเรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล ถ้าหาเงินได้มากก็ทำได้ ไปเกี่ยวกับสถาบันตรงไหน

เราคงไม่ต้องมาพูดเรื่องเผด็จการกันมาก เพราะมันมีจุดที่ถูกโจมตีง่าย แต่ก็น่าแปลกใจ ที่ต้องการคำตอบแบบตรงไปตรงมา ทำไมพวกที่อ้างประชาธิปไตย แต่ประชาชนเป็นล้านๆ คน ออกมาขับไล่ และเหตุการณ์วันนั้น ทำไมมีประชาชนเอาดอกไม้ไปมอบให้ทหาร

ผมเป็นคนที่มองปัญหาแบบองค์รวม ที่ยืนบนความเป็นจริง แบบมีเหตุมีผล การที่เอาเรื่องปัจจุบัน ไปอธิบายอดีต มันก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะมีการโกหกบิดเบือนความจริง และถ้าจะมองบนหลักการ ของพระพุทธศาสนา นั่นคือ ทุกอย่างล้วนมีเหตุมีปัจจัย จึงเกิดบางสิ่งตามมา นั่นคือ อิทัปปัจจยตา

ดังนั้น พวกนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ที่กำลังปลุกปั่นเรื่องนี้ หยุดโกหกตัวเองได้แล้วครับ กลับสู่ความจริงที่ประชาชนต้องการ นั่นคือ ความอยู่ดีกินดีของประชน ลดความเหลื่อมล้ำ เกษตรกรต้องการน้ำเพื่อการเกษตร ชาวนาต้องการข้าวราคาดี ลูกหลานต้องการพูดได้สองภาษา อินเทอร์เน็ต ไฟฟ้า ปุ๋ย น้ำมันราคาถูก รัฐบาลดิจิทัล ลดสินบาทคาดสินบน สังคมไทยต้องการความโปร่งใส เพราะอะไรจึงไม่ได้สิ่งเหล่านี้

ช่วยกันคิดให้ดีว่าเพราะอะไร เพราะเผด็จการ เพราะประชาธิปไตย หรือเพราะโกง
#ปราบโกง”

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน เพจเฟซบุ๊ก คณะก้าวหน้า - Progressive Movement โพสต์หัวข้อ [ ปลดล็อกท้องถิ่น - ยุติระบบรัฐราชการรวมศูนย์ ที่ไม่เคยไว้ใจประชาชน ]

เนื้อหาระบุว่า “เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่เครื่องการรันตีว่า “ระบบรัฐราชการรวมศูนย์” จะหมดไป เพราะตราบใดที่ผู้ว่าฯ นั้น ยังอยู่ในสังกัดและถูกสั่งการจากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นรัฐราชการส่วนกลาง “อำนาจ” ในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในท้องถิ่นก็จะยังคงเป็น “จากบนลงมาล่าง” อยู่ดี

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรามีการ “เลือกตั้ง” ผู้บริหารในระดับจังหวัดมานานแล้ว นั่นก็คือ ตำแหน่ง “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” หรือ “นายก อบจ.”

แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เสมือนกับว่า มีผู้บริหารที่อยู่ในระนาบเดียวกันนี้ 2 รูปแบบ คือ 1. ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง กับ 2. นายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ทว่า ที่เลวร้ายและผิดหลักการกระจายอำนาจ ผิดหลักการปกครองตนเองเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ดันใหญ่กว่าอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง

ภาพ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากแฟ้ม
นี่คือ สิ่งที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า บอกว่า “รัฐส่วนกลางไม่ไว้ใจประชาชน” และ “เป็นรูปแบบการปกครองที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อระเบิดศักยภาพของคน แต่ใช้สำหรับปกครองและควบคุมคน”

ดังนั้น เมื่อกลับมาสู่หนทางที่ควรจะเป็น กับสิ่งที่เรียกว่า “ยุติรัฐราชการรวมศูนย์” จึงไม่ใช่แค่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่เป็นการยกเลิกผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นระบบราชการส่วนภูมิภาคที่เป็นแขนขาของรัฐราชการส่วนกลาง แล้วนำ “อำนาจ” นั้นไปให้กับนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้มีอำนาจในการออกแบบนโยบาย จัดเก็บภาษี จัดการทรัพยากรในจังหวัดของตนเองได้

ขณะที่ระดับเมืองก็ยกเลิกตำแหน่งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะมีนายกเทศมนตรีที่บริหารในระดับเทศบาล มีนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ นายก อบต. ทำหน้าที่อยู่แล้ว เพียงแต่ต้องไปเพิ่มอำนาจ งบประมาณ และบุคลากรให้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ให้ผู้บริหารแต่ละเทศบาล ให้แต่ละ อบต.สามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างแท้จริง

และนี่คือ สิ่งที่ “คณะก้าวหน้า” กำลังร่วมรณรงค์ เชิญชวนเข้าชื่อเสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น

ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ประธานคณะก้าวหน้าชิ้นนี้ แล้วเราจะรู้ว่า “การรวบอำนาจสู่ส่วนกลาง” คือ โครงสร้างการปกครองที่ผิดแปลกบิดเบี้ยว ที่ไม่เคยให้ท้องถิ่นและผู้คนในท้องถิ่นสามารถที่จะระเบิดศักยภาพของตัวเองออกมาได้เลย และเราก็ทนอยู่กับการปกครองแบบนี้มายาวนานกว่า 130 ปีแล้ว

ถึงเวลา #ปลดล็อกท้องถิ่น ได้เวลา #ยุติรัฐราชการรวมศูนย์”

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การเสนอนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” และการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” ของ “พิธา” และนโยบายกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น กำจัดรัฐราชการรวมศูนย์ ด้วยการยกเลิก ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของ “ธนาธร”

ทั้งสองเรื่อง ถือเป็นเรื่องใหญ่ และยากในขณะเดียวกัน

ที่สำคัญ จะนำไปสู่ความขัดแย้ง แตกแยกขึ้นมากมายทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

เอาแค่เรื่องการ “ปฏิรูปสถาบันฯ” ซึ่งสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของม็อบ “3 นิ้ว” ก็จะเห็นแล้วว่า คนไทยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ยิ่งมีการนำเอาเรื่องรัฐสวัสดิการ กับการปฏิรูปสถาบันฯมาเกี่ยวโยงกัน ก็ยิ่งชี้ให้เห็นคนต้นคิดเรื่องนี้ ว่า มีวาระซ่อนเร้นอย่างชัดแจ้ง อย่างที่ ดร.อานนท์ ชี้ให้เห็น

ส่วนนโยบาย ยกเลิก ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของนายธนาธร ถ้าวิเคราะห์ให้ดี อาจถือว่า เป็นแนวทางต่อสู้แบบเดียวกับ “ป่าล้อมเมือง” ในอดีตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งก็คือ “ท้องถิ่นล้อมประเทศ” นั่นเอง

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “เป้าใหญ่” เปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนบนยากลำบาก และมีแนวโน้มสูงที่จะล้มเหลว จึงหันมาเปลี่ยนแปลงในระดับล่างแทน และก็สอดคล้องกับที่ “คณะก้าวหน้า” เปิดแนวรบในระดับท้องถิ่นมาตลอด ด้วยการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น นายก อบจ. และนายกเทศมนตรี เพียงแต่ว่า แพ้ราบคาบเป็นส่วนใหญ่ แต่คณะก้าวหน้า ก็ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไป อย่างกรณี ผู้ว่าฯ กทม. และ นายกเมืองพัทยา เป็นต้น

จึงน่าจับตามองว่า ทั้งพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า มีการแบ่งบทบาทกันเรียบร้อย กล่าวคือ โครงสร้างส่วนบน รวมทั้ง “ปฏิรูปสถาบันฯ” อาจเป็นบทบาทของ “พรรคก้าวไกล” ที่จะใช้เวทีรัฐสภาเป็นหลัก โดยมีขบวนการ “3 นิ้ว” เคลื่อนไหวนอกสภา

ส่วนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่วนล่าง หรือระดับท้องถิ่น เป็นบทบาทของคณะก้าวหน้า ซึ่งจะมีนักการเมืองท้องถิ่นของคณะก้าวหน้าเป็นตัวขับเคลื่อน

ทั้งนี้ การปรับกลยุทธ์ ก็เนื่องจาก “คณะก้าวหน้า” ได้บทเรียนมาแล้วว่า ถ้าคิดเปลี่ยนแปลงในระดับบนให้สำเร็จ ประชาชนส่วนใหญ่ หรือ ระดับล่างจะต้องเห็นด้วย หรือ ทำงานความคิดกับคนส่วนใหญ่ได้สำเร็จนั่นเอง

เห็นหรือยังว่าน่าคิดแค่ไหน!?


กำลังโหลดความคิดเห็น