xs
xsm
sm
md
lg

เปิดความเห็น “มหาดไทย-กทม.” ตอกย้ำ! “ยุบสภาเขต-ปิดอำนาจ ส.ข.” ชูจัดตั้ง “คณะกรรมการชุมชน” เลือก ส.ข.กันเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดความเห็น “มหาดไทย-กทม.” ตอกย้ำ! “ยุบทิ้งสภาเขต-ปิดอำนาจ ส.ข.” แต่ไม่ปิดโอกาสข้อเสนอ “กมธ.กระจายอำนาจท้องถิ่น” ให้ “ประธานกรรมการชุมชน” เลือกกันเอง มาสวมบท “ส.ข.” ลบภาพเดิมเป็นแค่เด็กพรรคการเมือง ชู “สภาคู่” รูปแบบ สภาเขต-สภาประชาคมเขต พร้อมที่มาแบบผสมผสาน แต่ยังย้ำ “สก.” อำนาจชัดแล้ว ไม่จำเป็นต้องมี “ส.ข.” ที่ทำหน้าที่ซํ้าซ้อน

วันนี้ (27 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงมหาดไทย (มท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหนังสือแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้ความเห็นต่อรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง “การบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กรณี สภาเขตและสมาชิกสภาเขต (ส.ข.)” ของคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ภายหลังคณะรัฐมนตรี( ครม.) รับทราบเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา

กระทรวงมหาดไทย มีความเห็นในประเด็นการกำหนดให้มีสภาเขต และ ส.ข. ว่า ในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยระเบียบ บริหารราชการกทม. ควรมีการแก้ไขให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งในการแก้ไขควรพิจารณาประเด็นปัญหาในเชิงพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการสะท้อนปัญหาการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ให้กับประชาชน เพื่อให้การบริหารราชการกทม.เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ กทม. มีความเห็นต่อประเด็นการยกเลิกสภาเขต ว่า การยกเลิกสภาเขตไม่ขัดต่อหลักการกระจายอำนาจ เนื่องจากเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการภายในของกทม. ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์เมื่อ กทม. มีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

“แม้ไม่มี “สภาเขต” ตรวจสอบงานของสำนักงานเขต แต่มีสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) โดย ส.ก.ประจำเขตต่างๆ อาจใช้อำนาจในการตรวจสอบติดตาม การทำงานของสำนักงานเขต ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติตามกฎหมาย ซึ่งสอดคล้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ที่ต่างก็มี “ระบบสภาชั้นเดียว” ในการตรวจสอบฝ่ายบริหารในฐานะเป็นตัวแทนของประชาชน”

ซึ่งเป็นไปตาม หลักการถ่วงดุลอำนาจที่เหมาะสม และหากเห็นว่า ส.ก.มีจำนวนไม่เพียงพอ ต่อการตรวจสอบ ก็อาจปรับปรุงเพิ่มจำนวนสมาชิกสภาประจำเขตต่างๆ ให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับภารกิจได้

เห็นได้ว่า การเลือกตั้ง ส.ข. ที่ผ่านมา มีผู้ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งค่อนข้างน้อย เฉลี่ยประมาณร้อยละ 30-35 ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง จึงไม่ถือว่าเป็นผู้แทนประชาชนในพื้นที่เขตอย่างแท้จริง ประกอบกับในการจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก

“ส.ข.ส่วนใหญ่สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีตัวแทนกลุ่มอาชีพ หลากหลายจากในพื้นที่ การปฏิบัติหน้าที่จึงอาจดำเนินการเฉพาะที่เป็นนโยบายของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด ส่งผลให้การแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่เขตไม่ครอบคลุมในทุกด้าน”

ขณะที่ “ส.ข.และคณะกรรมการชุมชน” ส่วนหนึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน เพราะอยู่คนละพรรคการเมือง ทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาในระดับพื้นที่ ชุมชนใดที่มีความเห็นไม่ตรง กับ ส.ข.อาจจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณหรือวัสดุอุปกรณ์ในการพัฒนาชุมชนไม่เหมาะสม หรือเพียงพอ หรือไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ

“ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตพื้นที่เขตปกครอง มักจะไม่รู้จัก ส.ข. กรณีประชาชนมีความเดือดร้อน ต้องการความช่วยเหลือก็จะประสานไปยังสำนักงานเขตโดยตรง โดยไม่ผ่าน ส.ข. เนื่องจากปัจจุบันมีช่องทางในการขอความช่วยเหลือหรือร้องทุกข์ ร้องเรียนที่หลากหลาย สะดวก และรวดเร็วกว่า เช่น สายด่วน 1555 หรือ สื่อโซเชียล เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก เป็นต้น”

ขณะที่ กระทรวงการคลัง มีข้อเสนอแนะและข้อสังเกต ต่อประเด็นนี้ว่า หากจะให้มี สภาเขต และ ส.ข. ที่ควรมาจากการเลือกกันเองจาก “ประธานกรรมการชุมชน” และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเท่านั้น และให้ กทม.เข้ามาจัดตั้งเป็น “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ” ในการบริหาร จัดการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการ กทม. ตลอดจนกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในการให้บริการแก่ประชาชนใน กทม. ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม สุขอนามัย การศึกษา ฯลฯ พิจารณาประเด็นของการพัฒนาที่มีความหลากหลาย ประเด็นเชิงพื้นที่ทั้งระดับโลก ระดับอาเซียน และระดับประเทศ เพื่อให้การบริหารและพัฒนากทม.มีทิศทางการดำเนินงาน ที่ชัดเจน

ด้าน สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ถ.ถ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เห็นว่า การกำหนดให้มี ส.ข.ที่มาจากการเลือกตั้งและการเลือกกันเองของ “ประธานกรรมการชุมชน” ตามข้อเสนอของ กมธ. จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนเพราะ สข.จะได้เข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาซนในเขตนั้นๆ

ทั้งในการให้ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็น รวมถึงการตรวจสอบการทำงานของสำนักงานเขต ในการจัดทำบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ ของสำนักงานเขตได้ นอกจากนั้น ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงประสานงานระหว่างสำนักงานเขตกับประชาชนในพื้นที่ อีกด้วย

ส่วน สำนักงบประมาณ เห็นว่า ในเรื่อง “ค่าตอบแทนของ ส.ข. อาทิ เงินประจำตำแหน่ง เงินเบี้ยประชุม และเงินตอบแทนอื่นตามพระราชกฤษฎีกากำหนด จะใช้จ่ายจากงบประมาณของกรุงเทพมหานคร จึงไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณของประเทศ”

ด้าน “การกำหนดบทบาทหน้าที่และอำนาจของสภาเขตให้มีความชัดเจน" กทม.มีความเห็นว่า เนื่องจากตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ กทม. พ.ศ. 2528 ได้กำหนดให้สภาเขตมีอำนาจหน้าที่ทั้งการจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานเขต และสอดส่องติดตามการทำงานของสำนักงานเขต

จึงเปรียบเสมือนเป็นฝ่ายบริหารและฝ่ายสภาอยู่ในองค์กรเดียวกัน ซึ่งขัดต่อหลักการแบ่งอำนาจในทางปกครองที่ฝ่ายสภา ไม่ควรมีอำนาจตรวจสอบเรื่องที่ตนมีส่วนเกี่ยวข้อง ในการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบ ซึ่งทำให้การตรวจสอบไม่สามารถกระทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขัดต่อหลักการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารเป็นระบบชั้นเดียว แต่ฝ่ายสภามี 2 ชั้น ในการกำกับดูแลฝ่ายบริหาร และขัดต่อหลักการบริหารงาน ฝ่ายสภาใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานเขต ทำให้เกิดความสับสนในบทบาทหน้าที่

“โดยผู้อำนวยการเขต ต้องรับฟังคำสั่งของผู้ว่า กทม. และปลัดกทม. และอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของ สก.ตามกฎหมาย และยังมีสมาชิกสภาเขต เข้ามามีอำนาจในการควบคุมการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้นอีก”

นอกจากนี้ การกำหนดให้สภาเขต เข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณ ถือว่าขัดต่อกฎหมายในเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มีบทบัญญัติ “ห้ามมิให้ฝ่ายสภา” เข้ามาเกี่ยวข้องกับการอนุมัติหรือให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เห็นว่า การกำหนดให้สภาเขต สามารถเสนอความเห็นต่อผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อการพัฒนาเขต นับว่าเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนในแต่ละพื้นที่เขต ซึ่งเขตเป็นหน่วยงานระดับท้องถิ่น ที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด สามารถรับรู้ปัญหาและดำเนินการเพื่อแก้ไขให้กับประชาชนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ เพื่อให้ภารกิจในการพัฒนาพื้นที่เขตต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สภาเขตควรให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเขตที่มีความซัดเจน สอดคล้องกับแผนพัฒนา กทม. ตามศักยภาพและปัญหาของแต่ละพื้นที่เขต
รวมทั้งการดำเนินการให้มีระบบการสร้างการรับรู้ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่เขตอย่างใกล้ชิด รับฟังสภาพปัญหาในพื้นที่ซึ่งอาจรวมถึงการใช้สื่อทางสังคม เป็นช่องทางสะท้อนปัญหาและความต้องการของประชาชนในแต่ละเขตพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระทรวงมหาดไทย มีความเห็นต่อการกำหนดหน้าที่ของ “ประชาคมเขต” ว่า หากจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการ กทม. กำหนดให้มีประชาคมเขต ควรมีการกำหนดโครงสร้าง ที่มา องค์ประกอบ รวมทั้งบทบาทและหน้าที่ของประชาคมเขตให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วม ของประชาชน ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ การสะท้อนปัญหาและการแก้ปัญหาของประชาซนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการกทม. ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

กทม. มีความเห็นว่า เมื่อไม่มีสภาเขต ประชาชนก็ไม่ขาดที่พื่ง เนื่องจากตามร่างกฎหมายที่มีการปรับปรุงใหม่ กำหนดให้มีคณะกรรมการประชาคมเขต

“ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งในกลุ่มอาชีพ กลุ่มอาสาสมัครประเภทต่าง ๆ รวมกับกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ มีจำนวนทั้งสิ้นเขตละ 20 คน”

มีหน้าที่เข้าร่วมดำเนินกิจการกับสำนักงานเขตในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ในการจัดทำแผนงาน งบประมาณ ในโครงการที่สำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในลักษณะร่วมคิดร่วมตัดสินใจ โดยมีความเป็นผู้แทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งในแต่ละกลุ่มย่อมรู้ปัญหาและความต้องการของประชาชนได้มากกว่าการเลือกตั้งตัวแทนในระบบการเลือกตั้งทั่วไป

“ประชาชน สามารถเสนอปัญหาผ่านตัวแทนของตนในฐานะกรรมการประชาคมเขตเพื่อเข้าร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหา กับสำนักงานเขตได้ ขณะเดียวกัน ประชาชนก็ยังสามารถส่งปัญหาความต้องการผ่านไปยัง สก. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไปของประชาชนได้เช่นเดิม”

ท้ายสุด กระทรวงมหาดไทย มีความเห็น ประเด็น ส.ข.แบบผสมผสานระหว่างมาจากการเลือกกันเองและมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนว่า

“หากจะมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย ระเบียบบริหารราชการ กทม. โดยกำหนดให้ สข.ควรมีที่มาแบบผสมผสาน ควรมีการกำหนดโครงสร้าง ที่มา องค์ประกอบ รวมทั้งบทบาทและอำนาจหน้าที่ของ ส.ข.ให้มีความชัดเจน”

โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับการสะท้อนบีญหาและการแก้ปัญหาของประชาชน ในพื้นที่เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อประโยชน์แก่การบริหารราชการ กทม. ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

กทม. มีความเห็นว่า กรณีให้มีการปรับโครงสร้างสภาเขตในลักษณะ เป็นสภาคู่ คือ สภาเขตและสภาประชาคมเขต โดยสภาเขตให้มีที่มาแบบผสมผสานระหว่างการเลือกตั้งกันเองของประธานกรรมการชุมชน จำนวนอย่างน้อย 5 คน และมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จำนวนอย่างน้อย เขตละ 7 คน เห็นว่าไม่เหมาะสม

กล่าวคือ เหตุแห่งที่มา อำนาจหน้าที่ และสิทธิประโยชน์ของผู้แทนประชาคมเขต และ ส.ข.มีความแตกต่างกัน “ประชาคมเขต” เป็นผู้แทนที่มาจากความหลากหลายของกลุ่มอาชีพ กลุ่มอาสาสมัครและผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่มีค่าตอบแทนเป็นรายเดือน โดยจะมีเฉพาะค่าเบี้ยประชุมเป็นครั้งคราว ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งเพียงสองปี

ส่วน “สมาชิกสภาเขต” มาจากการเสือกตั้งของประชาชนในพื้นที่เขต ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากคะแนนเสียงของประชาชนในชุมชนที่มีความเห็นทางการเมืองเดียวกัน จึงไม่ใช่คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่มอบฉันทามติ ให้เป็นตัวแทนตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งมีค่าตอบแทน เป็นรายเดือนและมีสิทธิประโยชน์ในการเบิกค่ารักษาพยาบาล และการเข้ารับการฝึกอบรมที่มากกว่าประชาคมเขต

“กทม.มีผู้แทนประชาชนที่มาทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และพิจารณางบประมาณประจำปีอยู่แล้ว คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีสมาชิกสภาเขต เพื่อมาทำหน้าที่ซํ้าซ้อนกันอีก” รายงานระบุตอนท้ายสุด


กำลังโหลดความคิดเห็น