xs
xsm
sm
md
lg

ผ่าการสื่อสารออนไลน์ คดี ผกก. โจ้ เขย่าวงการยุติธรรม นี่ตำรวจ หรือ โจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สิงหาคม 2564 เกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นคดีสั่นสะเทือนวงการตำรวจไทย เมื่อปรากฏคลิปตำรวจทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติด ภายในห้องสอบสวน ด้วยการใช้ถุงดำคลุมศีรษะ และทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต โดยผู้กระทำความผิดเป็นตำรวจระดับผู้กำกับการ คือ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ ผู้กำกับโจ้ ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ ซึ่งร่วมกระทำการกับลูกน้องตำรวจอีก 6 นาย ท้ายที่สุดผู้กำกับโจ้และตำรวจทุกคนได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและถูกจับกุมตามลำดับต่อมา

จากการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยิ่งทำให้ประเด็นดังกล่าวได้รับความสนใจจากประชาชน เกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อกระบวนการทำงานของตำรวจไทยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จนทำให้คำว่า "ผู้กำกับโจ้" ติดคำค้นใน Google Trends และแฮชแท็ก #ผู้กำกับโจ้ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์นานนับสัปดาห์

Media Alert กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงได้จัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ความคิดเห็น อารมณ์ ความรู้สึกในสื่อออนไลน์ต่อคลิปตำรวจซ้อมผู้ต้องหา : กรณีศึกษาผู้กำกับโจ้ วิเคราะห์ข้อความจากการทวีต (Tweet) ของกลุ่มตัวอย่างบุคคลทั่วไป จำนวน 100 ข้อความ พบว่า ร้อยละ 96 สะท้อนความรู้สึกเชิงลบต่อคดีผู้กำกับโจ้ โดยจัดเป็นกลุ่มความเห็น ความรู้สึกต่อ เหตุการณ์ซ้อมทรมานในคลิปวิดีโอที่ปรากฏ การสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี ข้อมูลผู้กำกับโจ้ในเรื่องชีวิต ทรัพย์สิน ทั้งบ้าน รถหรู รวมถึงระบบ ระบอบ วิถีและวัฒนธรรมตำรวจ และการเชื่อมโยงไปถึงประเด็นทางการเมือง ประเด็นทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อเกี่ยวกับการรายงานข่าว หรือการแสดงความเห็นจุดยืนของดาราและคนดัง

คดีผกก. สั่นสะเทือนวงการยุติธรรม นี่ ตำรวจ หรือ โจร
เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อย และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต อดีตนายตำรวจที่ปัจจุบันทำงานด้านวิชาการ ตลอดจนเป็นวิทยากรและให้ความเห็นเกี่ยวกับตำรวจในด้านต่าง ๆ เช่น การปฏิรูปตำรวจ กระบวนการยุติธรรม อาชญาวิทยา เป็นต้น รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ วิเคราะห์ว่า เหตุที่พฤติกรรมของผู้กำกับโจ้และตำรวจที่ปรากฏในคลิปสร้างความสะเทือนใจให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ตามมา เพราะการกระทำในลักษณะดังกล่าวนั้น ไม่ใช่พฤติกรรมของตำรวจที่เป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หากแต่เป็นพฤติกรรมของโจร เพราะตามปกติแล้วตำรวจสมควรเป็นผู้ผดุงกระบวนการยุติธรรม หากแต่ในกรณีของผู้กำกับโจ้ สะท้อนให้เห็นถึงข้อปัญหาที่ทำลายกระบวนการดังกล่าว นั่นย่อมส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตำรวจไทยอย่างแน่นอน

ต้องปฏิรูปวงการตำรวจ แยกออกจากการเมือง
นอกจากนี้แล้วยังสะท้อนถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของตำรวจไทย ที่มีโครงสร้างแบบรวมศูนย์ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ทำให้ตำรวจอยู่ภายใต้การเมืองโดยสมบูรณ์ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้ามากำหนดทิศทาง นโยบาย การบริหารงาน และเป็นอุปสรรคในการพัฒนากระบวนการยุติธรรม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูปตำรวจให้เป็นไปตามหลักสากล เพื่อให้เกิดการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปสู่ระดับท้องถิ่น หรือในระดับภูมิภาค เพื่อให้เกิดความใกล้ชิดระหว่างตำรวจกับประชาชน รวมถึงมีการวางระบบการตรวจสอบ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างจังหวัด ภูมิภาคหรือระดับท้องถิ่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความโปร่งใส และเรียกศรัทธาจากประชาชนที่มีต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจให้กลับคืนมาได้

นอกจากนี้ เรื่องการสื่อสารของภาครัฐก็สำคัญ โดย รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ ได้แสดงความเห็นว่า ในกรณีของผู้กำกับโจ้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้องตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นการส่งสารไปยังประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น ต้องมั่นใจและแน่ใจว่าสารที่ส่งออกไปนั้นเป็นความจริง เพื่อไม่ให้เกิดความคลางแคลงใจของประชาชนในภายหลัง

ในส่วนการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน ปัจจุบันสื่อกระแสหลักมีการหลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอข่าวที่มีความหมิ่นเหม่ในประเด็นจริยธรรมและความรุนแรง โดยมีการใช้ภาพอินโฟกราฟิกเพื่อจำลองเหตุการณ์นั้น ๆ แทน อย่างไรก็ตาม ยังมีสื่อที่พยายามนำเสนอประเด็นข่าวในมิติมุมมองอื่น ๆ ที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก เพื่อพยายามดึงดูดความสนใจของผู้รับสารให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้รับสารเป็นสำคัญว่าเลือกที่จะรับสารในลักษณะและประเด็นใด

ให้อำนาจประชาชน เป็นผู้ช่วยตรวจสอบตำรวจ
รศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ ให้ข้อเสนอแนะอีกว่า ควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบพฤติกรรมตำรวจและบุคลากรภาครัฐอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เช่น ในกรณีของผู้กำกับโจ้ ที่มีอัตราในการเติบโตของตำแหน่งที่เร็วกว่า เมื่อเทียบกับรุ่นเพื่อนหรือแม้รุ่นพี่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ที่รับราชการมาด้วยกัน ตลอดจนการครอบครองทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างที่อยู่อาศัย และรถยนต์หรูเป็นจำนวนมาก เหล่านี้สะท้อนถึงช่องว่างของระบบการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนไม่มีการตั้งคำถามถึงพฤติกรรมที่ได้มาซึ่งตำแหน่งและทรัพย์สินนั้นๆ ดังนั้น จำเป็นที่ต้องให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อสร้างมาตรการโปร่งใส ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล และสามารถแลกเปลี่ยนเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันอย่างเปิดเผย

ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์ จะมีตำแหน่งที่เรียกว่าผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ คอยทำหน้าที่อย่างเข้มแข็ง แบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่มืออาชีพ ภายใต้ 3 มาตรการ คือ มาตรการเชิงป้องกัน ประชาชนสามารถเป็นผู้ร้องเรียนหน่วยงานรัฐ เมื่อพบเห็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำความผิด เพื่อทำการสืบสวนหาความจริงต่อไป มาตรการเชิงปราบปราม คือ ความต่อเนื่องและเอาจริงเอาจังกับเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น ให้รางวัลและค่าตอบแทนแก่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ช่วยงานเจ้าหน้าที่รัฐอย่างชัดเจน และมาตรการให้ความรู้ โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยการบ่มเพาะแนะแนวทางที่ถูกต้อง เพื่ออนาคตต่อไป กลุ่มคนเหล่านี้จะมีวิจารณญาณที่ถึงพร้อมจะตัดสินเองได้ว่าสิ่งใดถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ควรทำหรือไม่ควรทำ วิธีการเช่นนี้เป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาระบบยุติธรรมในวงการตำรวจไทย และสร้างต้นแบบของพฤติกรรมที่ดีให้กับเยาวชนต่อไปในอนาคต

ในส่วนประชาชนผู้ใช้สื่อออนไลน์ จำเป็นที่จะต้องพิจารณาว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอนั้น เป็นความจริง หรือความเท็จ ตลอดจนต้องเพิ่มความระมัดระวังในการส่งข้อมูลข่าวสารต่อไปยังผู้คนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ข้อความ ภาพ และเสียง ยิ่งเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนต่อสังคม ยิ่งต้องตระหนักมากเป็นพิเศษ และควรตั้งอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์สร้างความตื่นเต้น สนุก และท้าทาย ทั้งนี้ ถ้าหากร่วมกันสร้างบรรทัดฐานการใช้สื่อออนไลน์ไปในทิศทางที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่าง ๆ ตลอดจนการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ และป้องกันการกระทำความผิดจากการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ อันอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตภายภาคหน้า





กำลังโหลดความคิดเห็น