xs
xsm
sm
md
lg

เคาะ 3 แผนใช้เงิน 1.9 หมื่นล้าน ชดเชยท้องถิ่น โควิดกระทบภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง ปี 64 อนุฯ ก.ก.ถ.สั่งช่วยทุก อปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เดินหน้าแผนชดเชยท้องถิ่น 1.9 หมื่นล้าน ปี64 เหตุโควิด-19 กระทบจัดเก็บรายได้ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้าง หลัง “อนุจัดเก็บรายได้ท้องถื่น” เคาะ 3 แนวทางชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ทุกประเภท เผยเมื่อต้นปี “บิ๊กตู่” กังวล หลังมหาดไทย ขอใช้งบกลาง ชดเชยของปี 63 กว่า 1.9 ล้านบาท ให้ ก.ก.ถ.ไปกำหนดแนวทางชดเชยใหม่ ประเด็น ความเหมาะสม-แหล่งที่มาของงบที่ อปท.ควรจะได้รับ

วันนี้ (2 พ.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพัฒนาการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครั้งที่ 3/2565 ที่มี นายวีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ) เป็นประธาน

เห็นชอบ 3 แนวทางการชดเชยรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของปีงบประมาณ พ.ศ. 2564

แนวทางแรก “ชดเชยรายได้ตามส่วนต่างระหว่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บได้จริง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เต็มจำนวน”

แนวทางที่สอง “ชดเชยรายได้ตามส่วนต่างระหว่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บได้จริง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในอัตราร้อยละ 90”

แนวทางที่สาม “ชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. ทุกประเภท เปรียบเทียบเงินสะสมหลักหักภาระผูกพันและค่าใช้จ่ายที่สำรองตามระเบียบส่วนต่างระหว่างภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จัดเก็บได้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บได้จริง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562

“แนวทางที่สาม ประกอบด้วย ข้อมูลตามที่จัดเก็บจริงในอัตราร้อยละ 80 ข้อมูลการประเมินตาม LPA ด้านที่ 3 ในอัตราร้อยละ 10 และใช้ฐานคำนวณจากเงินสะสมในอัตราร้อยละ 10”

โดยมอบหมายกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ให้เป็นหน่วยงานในการคำนวณวงเงินชดเชยให้กับ อปท.ทั่วประเทศก่อนนำเสนออนุกรรมการชุดนี้

ทั้งนี้ มติ ครม. ต.ค. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ส่งเรื่องการชดเชยรายได้ให้แก่ อปท. กลับมายัง ก.ก.ถ. ไปพิจารณาใหม่ ตามคำสั่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ นร 0507/32214 (11 ต.ค. 64) ส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุถึงเรื่องการขอใช้งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อชดเชยรายได้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง

“ให้มีความ “เหมาะสม” ในส่วนของวงเงินที่ อปท.ควรจะได้รับ รวมทั้ง “แหล่งที่มา” ของงบประมาณ ก่อนจะเสนอ ครม.อีกครั้ง” มติ ครม.ดังกล่าวระบุ

ขณะที่ ก.ก.ถ.ได้พิจารณา 3 แนวทางการชดเชยรายได้ให้แก่ กทม. เมืองพัทยา ทน. และ ทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้เป็นไปตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี พร้อมกับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ในกรณีดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อยุติ และเสนอ ก.ก.ถ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ

แนวทางที่ 1 เสนอของบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อชดเชยรายได้ให้แก่ กทม. เมืองพัทยา ทน. และ ทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี พ.ศ. 2563

ตามสัดส่วนเช่นเดียวกับ ทต. และ อบต. ได้รับการจัดสรรในอัตราร้อยละ 90 ของเงินส่วนต่างระหว่างภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง ประจำปี พ.ศ. 2563 และภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ที่จัดเก็บได้จริง ประจำปี พ.ศ. 2563 คิดเป็นเงิน 19,816.56 ล้านบาท ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ

แนวทางที่ 2 เห็นควรพิจารณาชดเชยรายได้ให้แก่ กทม. เมืองพัทยา ทน. และ ทม. เมื่อเปรียบเทียบเงินสะสมกับรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 15,634.61 ล้านบาท ดังนี้ ชดเชย อปท. ที่มีเงินสะสมติดลบให้จัดสรรเงินชดเชยรายได้ในอัตราร้อยละ 90, ชดเชย อปท. ที่มีเงินสะสมมากกว่าส่วนต่างให้จัดสรรเงินชดเชยรายได้ในอัตราร้อยละ 70 และ ชดเชย อปท. ที่มีเงินสะสมน้อยกว่าส่วนต่างให้จัดสรรเงินชดเชยรายได้ ในอัตราร้อยละ 80

“ฝ่ายเลขานุการ เสนอตามมติ อนุฯเห็นควรดำเนินการตามแนวทางที่ 1 ที่ให้ชดเชยเงินรายได้ฯ ในวงเงิน 19,816.56 ล้านบาท โดยให้ สำนักงบประมาณ (สงป.) พิจารณาแหล่งเงินที่จะนำมาชดเชยได้ตามความเหมาะสม และขอให้พิจารณาชดเชยฯ จากงบประมาณ ปี พ.ศ. 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงินไม่เกิน 1,981.65 ล้านบาท”

ส่วนที่เหลือให้ สงป. พิจารณาชดเชยตามสมควร โดยขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาล ทั้งนี้ ให้นำสถานะเงินนอกงบประมาณของ อปท. มาพิจารณาประกอบ

จากข้อมูลของ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) รายงานรายได้ที่ลดลง ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2563 พบว่า อปท.ขนาดใหญ่ 226 แห่ง มีรายได้จากการจัดเก็บจริง 1,990.14 ล้านบาท ลดลงจากรายได้เดิมจากการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2562 ที่เคยจัดเก็บได้ 24,020.25 ล้านบาท โดยมีรายได้ลดลง 22,030.11 ล้านบาท

“194 เทศบาลเมือง รายได้ลดลง 3,943.47 ล้านบาท จำนวน 30 เทศบาลนคร รายได้ลดลง 3,697.87 ล้านบาท กทม.พบว่า รายได้ลดลง 13,969.61 ล้านบาท ขณะที่เมืองพัทยา รายได้ลดลง 419.16 ล้านบาท”.


กำลังโหลดความคิดเห็น