“รสนา” ประกาศแผนถ้าเป็นผู้ว่าฯ กทม. จะใช้หนี้ “บีทีเอส” โดยที่ไม่ต้องนำเงินจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อยกเลิกต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี มั่นใจค่าโดยสารสายสีเขียว 20 บาท ตลอดสายทำได้จริง
วันที่ 17 เม.ย. 2565 น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 7 ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ...
“รสนา” ประกาศแผนถ้าเป็นผู้ว่าฯ จะลดค่าโดยสาร บีทีเอสสายสีเขียวเหลือ 20 บาทตลอดสาย โดยไม่ถูกบีบให้ยอมจำนนต่ออายุสัมปทาน บีทีเอส สายสีเขียวสูงสุด 65 บาทไปอีก 30 ปีได้อย่างไร ?
ดิฉันชวนชาว กทม. มาทำความเข้าใจกับมหากาพย์แห่งการสร้างหนี้ให้ กทม.อย่างมโหฬาร เพื่อบีบเส้นทางนำไปสู่เงื่อนไขการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี
รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนหลัก จากสถานีหมอชิต-สถานีอ่อนนุช กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอีก 7 ปีข้างหน้า คือปี 2572 รถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงเส้นทางหลักจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. โครงสร้างระบบรางที่คน กทม. เป็นผู้จ่ายค่าก่อสร้างที่รวมอยู่ในราคาค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท ดังนั้น หลังปี 2572 ค่าโดยสารควรจะสามารถลดลงเหลือเพียง 20 บาทได้
แต่มี “ขบวนการ” ทำให้ กทม.มีหนี้สินล้นพ้นตัวเพื่อนำไปสู่การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 30 ปี ในราคาสูงสุด 65 บาทต่อไป
มีการประเมินมาแล้วว่าการก่อสร้างส่วนต่อขยายไม่คุ้มค่าทางธุรกิจตลอด 25 ปี ดังนี้
1) จากสถานีอ่อนนุช-ถึงสถานีแบริ่ง-สถานีการเคหะสมุทรปราการ (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ อัตราผลตอบแทนทางการเงิน -1.44%)
2) จากหมอชิต-ถึงสถานีสะพานใหม่-สถานีคูคต (มีการประเมินว่าช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ อัตราผลตอบแทนทางการเงินเพียง 0.70%)
กทม. สมควรรู้ว่าโครงการเดินรถส่วนต่อขยายจะไม่มีกำไร หากรัฐบาลไม่จัดสรรงบประมาณมาให้ แต่ปรากฎว่า กทม. ได้ให้บริษัท กรุงเทพธนาคม วิสาหกิจของ กทม.ไปดำเนินการจ้างบริษัท บีทีเอส เดินรถในส่วนต่อขยายตั้งแต่ 16 ธันวาคม 2563 เดือนละ 593 ล้านบาท โดยไม่ได้เก็บค่าโดยสารจากประชาชนในส่วนต่อขยายที่ 2 เพราะอ้างว่าเป็นช่วงวิกฤตโควิด ทำให้ กทม. มีหนี้สินค่าจ้างเดินรถเพิ่มขึ้นในแต่ละปี ปัจจุบันมีหนี้ค่าจ้างเดินรถ (O&M) และ หนี้ค่าระบบอาณัติสัญญาณ ไฟฟ้า และเครื่องกล (E&M) ที่ต้องจ่ายบริษัทบีทีเอสประมาณ 35,884 ล้านบาท
บริษัท บีทีเอส ยื่นเงื่อนไขให้ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งส่วนหลัก และ ส่วนต่อขยายไป 30 ปี โดยเก็บค่าโดยสาร คน กทม. สูงสุด 65 บาทตลอดสายไปอีก 30 ปี แต่ถ้าหากไม่ต่อสัมปทาน กทม.ก็ต้องจ่ายหนี้คืน หรือหากไม่มีเงินจ่าย ก็จะถูกฟ้องร้องต่อศาลปกครอง
คนที่จะมาเป็นผู้ว่ากทม.จากการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องให้คำตอบกับบริษัทบีทีเอส ภายในปี 2567 (5 ปีก่อนหมดสัมปทาน) ว่าจะต่อสัมปทานให้บีทีเอสอีก 30 ปีหรือไม่ หากไม่ต่อสัมปทาน ก็ต้องหาเงินมาใช้หนี้แสนกว่าล้านบาท
รสนาและทีมขอเสนอทางออกที่จะจ่ายหนี้บริษัท บีทีเอส โดยไม่ต่อสัมปทานไปอีก 30 ปี ที่จะทำให้ชาว กทม. ไม่ต้องแบกรับราคาค่าโดยสาร 65 บาท ไปอีก 30 ปี และเงินใช้หนี้จะไม่นำมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อไม่เป็นภาระทางภาษีของชาว กทม. ด้วยดังนี้
1. ให้ กทม.ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ให้ทำการกู้เงินเพิ่มจากกระทรวงการคลัง จากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเดิม 51,785 ล้านบาท เมื่อปี 2561 ให้รวมดอกเบี้ยจนถึงปี 2564 จริงเป็น 66,851 ล้านบาท เพื่อดำเนินการโอนทรัพย์สินและหนี้สินส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-บางสะพาน-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้มาเป็นของกรุงเทพมหานครให้ถูกต้องเสียก่อน
2. ให้ กทม.ขอเงินกู้กระทรวงการคลังจำนวน 66,851 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 แล้วนำเงินดังกล่าวมารับทรัพย์สินชำระหนี้สิ้นของ รฟม. เพื่อทำให้ข้อพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกรุงเทพมหานครยุติอย่างสมบูรณ์
3. เมื่อได้รับโอนทรัพย์สินส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว อย่างสมบูรณ์แล้ว จึงทำหนังสือแจ้งบริษัทบีทีเอส ถึงการไม่ต่อสัมปทานสายสีเขียวหลังปี 2572 และเตรียมการรับโอนกรรมสิทธิ์เส้นทางสายสีเขียวส่วนเส้นทางหลักเป็นของ กทม. หลังปี 2572
4. แจ้งบริษัท บีทีเอส ยกเลิกสัญญาจ้าง ระหว่างกรุงเทพธนาคม กับบริษัท บีทีเอส ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย มูลค่าจ้างเดินรถถึงปี 2585 สูงถึง 161,698 ล้านบาท เนื่องจากสัญญาดังกล่าวผิดกฎหมายในการเดินรถซึ่งเป็นทรัพย์สินของ รฟม. ที่ยังไม่ได้โอนทรัพย์สินให้เป็นของกรุงเทพมหานคร และจะเตรียมส่งหลักฐานให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบและกล่าวโทษผู้กระทำความผิดในกระบวนการทำสัญญาฉบับดังกล่าวต่อไป
5. ให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการเจรจาทำสัญญากับบริษัท บีทีเอส ใหม่ เพื่อจ้างเดินรถส่วนต่อขยายนี้ให้ถึงเพียงแค่ปี พ.ศ. 2572 เพื่อให้หมดสัญญาจ้างตามรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทางหลักในปี 2572 ป้องกันมิให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลเดินรถเมื่อหมดสัญญา และให้ กทม.พร้อมรับซื้อหัวขบวนและขบวนรถต่อจากบีทีเอส หลังหมดสัญญาปี 2572 เพื่อยุติสัญญาเดิมซึ่งจ้างนานเกินไปถึงปี 2585 และมูลค่าที่มากเกินไปถึง 161,698 ล้านบาท หากเจรจาได้ ก็จะดำเนินการชำระหนี้ที่บริษัทบีทีเอสได้ดำเนินไปแล้วจริงประมาณ 36,000 ล้านบาท ภายในไม่เกิน 6 เดือน หากตกลงกันได้ให้ทำการยกเลิกสัญญาที่กระทำไม่ถูกต้องก่อนหน้านี้ตามข้อ 4
6. ดำเนินการเก็บค่าโดยสารในสถานีส่วนต่อขยาย 2 หมอชิต-คูคต และ แบริ่ง-สมุทรปราการ ตามตารางอัตราค่าโดยสารเดิมของบีทีเอส สูงสุดไม่เกิน 65 บาท เพื่อนำรายได้มาลดภาระการขาดทุนและชำระหนี้แก่บริษัท บีทีเอส
7. เปิดประมูลเอกชนเหมาช่วงหาผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ใน 23 สถานีหลัก (หลังปี 2572) และ 36 สถานีส่วนต่อขยาย (ทันทีในปี 2566) (ค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่ และค่าเชื่อมต่ออาคารเอกชน) และแบ่งส่วนแบ่งให้รัฐ คาดว่าจะได้ส่วนแบ่งราว 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปี
8. ดำเนินการให้บริษัทกรุงเทพธนาคม ออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุน (securitization) โดยนำรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3,000-5,000 ล้านบาทมาชำระหนี้คืนผู้ลงทุน คาดว่า จะได้เงินราว 36,000 ล้านบาท เพื่อมาชำระหนี้ให้แก่บริษัทบีทีเอสได้ทั้งหมด ณ ปี 2566 (ทั้งในส่วน O&M และ E&M) ระยะเวลาคืนเงินตราสารหนี้ 15-20 ปีที่อัตราค่าตอบแทน 2.5-3.0% ต่อปีให้แก่ผู้ลงทุน
9. กำหนดราคาค่าโดยสารใหม่สูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายสีเขียว รวมส่วนต่อขยาย หลังปี 2572 และนำรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3,000-5,000 ล้านบาทต่อปีมาชำระหนี้สินให้แก่กระทรวงการคลังในค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายประมาณ 70,000 ล้านบาท ใช้เวลา 20-25 ปี
จากข้อมูลรายรับรายจ่ายของ บริษัท บีทีเอส 5-6 ปีที่ผ่านมา พบว่า ต้นทุนในการเดินรถ (O&M) ปัจจุบันอยู่ที่ราว 10-16 บาทเท่าต่อเที่ยวเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่า กทม. จะสามารถเจรจาต่อรองค่าเดินรถและประมูลจ้างเดินรถหลังปี 2572 ได้ในอัตราต่ำใกล้เคียงต้นทุนจึงสามารถกำหนดราคาค่าโดยสารที่ 20 บาทสูงสุดตลอดสายได้ นอกจากนี้ หลายประเทศสามารถบริหารระบบรถไฟไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้มีต้นทุนในระดับเดียวกันที่ได้ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง เป็นต้น จึงทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้แน่นอนหากเราเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้งในการตัดสินใจ
หากเราไม่ลุกขึ้นสู้ และยอมจำนนในหนนี้ ภาระค่าโดยสาร บีทีเอสสูงสุด 65 บาท ชาว กทม. คงต้องแบกรับไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเราไปอีก 30 ปีอย่างแน่นอน