xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา”ชี้เลือกผู้ว่า กทม.หนนี้ ชี้ชะตาต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 65 บ.ไปอีก 30 ปี หรือ 20 บ.ตลอดสาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.รสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เลือกผู้ว่า กทม.หนนี้ ชี้ชะตาต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 65 บาทไปอีก 30 ปี หรือ 20 บาทตลอดสาย !?

ดิฉันประกาศนโยบายผู้ว่าไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส ลดค่าตั๋วเหลือ 20 บาทตลอดสาย มีเสียงเยาวชนคนรุ่นใหม่บอกว่าแค่การหาเสียงหรือเปล่า!?

ขอตอบว่า แม้ตั๋วราคา 20 บาทจะไม่ได้เกิดวันนี้ วันพรุ่งนี้ แต่วันนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะได้ราคา 20 บาท หรือ 65 บาทไปอีก 30 ปี ขึ้นอยู่กับการเลือกผู้ว่าฯ ในครั้งนี้

เมื่อปี 2535 พลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้ว่ากทม.ในสมัยนั้นได้ริเริ่มโครงการรถไฟฟ้าสายแรกใน กทม.และเจรจาสัมปทานให้ค่าตั๋วตลอดสายที่ 15 บาทได้สำเร็จ แต่น่าเสียดายที่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมาไม่มีผู้ว่า กทม. คนไหนเลยแม้แต่คนเดียวที่จะสานต่อนโยบายรถไฟฟ้าราคาถูกของพลตรีจำลอง ศรีเมือง

จากข้อมูลรายงานประจำปีของ บริษัทบีทีเอสปี 2562/2563 พบว่า บีทีเอสมีรายจ่ายค่าเดินรถทั้งระบบ 241 ล้านเที่ยวอยู่ที่ 3,777 ล้านบาท หรือเท่ากับเที่ยวละ 15.70 บาทเท่านั้น และเมื่อดูงบดุลย้อนหลัง 6-7 ปี พบว่าค่าใช้จ่ายเดินรถอยู่ระหว่าง 10-16 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่แพงเลย แต่ค่าตั๋วโดยสารบีทีเอสสูงสุดอยู่ที่ 65 บาท/เที่ยว เพราะอ้างว่าต้องเอาค่าลงทุนก่อสร้างระบบรางมารวมในค่าโดยสาร ดังนั้นเท่ากับว่าคนกทม.เป็นผู้จ่ายค่าโครงสร้างระบบรางตลอด 30 ปี

ข่าวดีคือรถไฟฟ้าบีทีเอสจะหมดสัมปทานในปี 2572 คืออีก 7 ปี กรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะตกเป็นของ กทม. ดังนั้นนับจากปี 2572 ราคาค่าตั๋วโดยสารจะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้างอีก จะเหลือแต่ค่าใช้จ่ายการเดินรถและค่าบำรุงรักษา ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จึงเป็นไปได้แน่นอน

แต่ข่าวร้ายก็คือเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2565 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม.ในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการที่รัฐบาล คสช.ตั้งขึ้นจะให้มีการต่อสัมปทานกับบริษัทบีทีเอสไปอีก 30 ปี และคิดค่าโดยสารตลอดสายสูงสุดที่ 65 บาท

แต่ถ้าเลือกรสนาเป็นผู้ว่า กทม. ดิฉันจะไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่จะเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนมาแข่งราคาการเดินรถ ในราคาไม่เกิน 20 บาทตลอดสาย

เมื่อตัดสินใจไม่ต่อสัมปทานก็จะมีคำถามตามมาว่า แล้วจะจ่ายหนี้อย่างไร

ปัจจุบัน กทม.เป็นหนี้ส่วนต่อขยายและการเดินรถ 65,000 ล้านบาท เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. กทม.จะสามารถหารายได้จากการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้า การโฆษณา และการเชื่อมต่อสถานีกับพื้นที่ของเอกชน รายได้ทั้ง 3 ส่วนปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งกทม.สามารถจ่ายหนี้ได้หมดในเวลา 13-15 ปี โดยยังสามารถคุมค่าตั๋วราคาถูกให้ชาว กทม.20 บาทตลอดสาย และยังสามารถเชื่อมต่อล้อ ราง เรือในราคา 20 บาท ภายในระยะเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงอีกด้วย

ดิฉันสัญญาว่าจะสานต่อนโยบายรถไฟฟ้าราคาถูกของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ในสมัยนี้ให้จงได้หากได้รับฉันทานุมัติจากชาว กทม.เลือกรสนาเป็นตัวแทน

ถ้าพลาดการเลือกรสนาเป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจจะต้องรอรถไฟฟ้าหมดสัมปทานอีกรอบใน 30-40 ปี