ผู้สมัครชิงผู้ว่าฯ กทม.เบอร์ 7 ลั่นเลือกผู้ว่าฯ หนนี้ ชี้ชะตาต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 65 บาทยาว 30 ปี หรือ 20 บาทตลอดสาย ลุยสานต่อ “จำลอง” รถไฟฟ้าราคาถูก ชี้ BTS หมดสัมปทานคืน กทม.จะไร้ต้นทุนเอาค่าก่อสร้างรวมค่ารถ 20 บาทตลอดสาย จึงทำได้ วางแผนใช้พื้นที่ไม่เกิน 15 ปี ล้างหนี้ 6.5 หมื่นล้าน
วันนี้ (10 เม.ย.) นางสาวรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หมายเลข 7 โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องสัมปทานรถไฟฟ้า มีหัวข้อว่า เลือกผู้ว่าฯ กทม.หนนี้ ชี้ชะตาต่อสัมปทานรถไฟฟ้า 65 บาท ไปอีก 30 ปี หรือ 20 บาทตลอดสาย !?
โดยมีเนื้อหาระบุว่า ดิฉันประกาศนโยบายผู้ว่าฯ ไม่ต่อสัมปทานบีทีเอส ลดค่าตั๋วเหลือ 20 บาทตลอดสาย มีเสียงเยาวชนคนรุ่นใหม่ บอกว่าแค่การหาเสียงหรือเปล่า!?
ขอตอบว่า แม้ตั๋วราคา 20 บาท จะไม่ได้เกิดวันนี้ วันพรุ่งนี้ แต่วันนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะได้ราคา 20 บาท หรือ 65 บาท ไปอีก 30 ปี ขึ้นอยู่กับการเลือกผู้ว่าฯในครั้งนี้
เมื่อปี 2535 พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยนั้น ได้ริเริ่มโครงการรถไฟฟ้าสายแรกใน กทม.และเจรจาสัมปทานให้ค่าตั๋วตลอดสายที่ 15 บาท ได้สำเร็จ แต่น่าเสียดายที่ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ไม่มีผู้ว่าฯ กทม. คนไหนเลยแม้แต่คนเดียวที่จะสานต่อนโยบายรถไฟฟ้าราคาถูกของพลตรี จำลอง ศรีเมือง
จากข้อมูลรายงานประจำปีของ บริษัท บีทีเอส ปี 2562/2563 พบว่า บีทีเอสมีรายจ่ายค่าเดินรถทั้งระบบ 241 ล้านเที่ยวอยู่ที่ 3,777 ล้านบาท หรือเท่ากับเที่ยวละ 15.70 บาทเท่านั้น และเมื่อดูงบดุลย้อนหลัง 6-7 ปี พบว่า ค่าใช้จ่ายเดินรถอยู่ระหว่าง 10-16 บาทเท่านั้น ซึ่งไม่แพงเลย แต่ค่าตั๋วโดยสารบีทีเอสสูงสุดอยู่ที่ 65 บาท/เที่ยว เพราะอ้างว่าต้องเอาค่าลงทุนก่อสร้างระบบรางมารวมในค่าโดยสาร ดังนั้น เท่ากับว่า คน กทม.เป็นผู้จ่ายค่าโครงสร้างระบบรางตลอด 30 ปี
ข่าวดีคือ รถไฟฟ้าบีทีเอสจะหมดสัมปทานในปี 2572 คือ อีก 7 ปี กรรมสิทธิ์รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะตกเป็นของ กทม. ดังนั้น นับจากปี 2572 ราคาค่าตั๋วโดยสารจะไม่มีต้นทุนค่าโครงสร้างอีก จะเหลือแต่ค่าใช้จ่ายการเดินรถและค่าบำรุงรักษา ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จึงเป็นไปได้แน่นอน
แต่ข่าวร้ายก็คือเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2565 พล.ต.อ อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้นให้สัมภาษณ์ว่า คณะกรรมการที่รัฐบาล คสช.ตั้งขึ้นจะให้มีการต่อสัมปทานกับบริษัท บีทีเอส ไปอีก 30 ปี และคิดค่าโดยสารตลอดสายสูงสุดที่ 65 บาท
แต่ถ้าเลือกรสนาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ดิฉันจะไม่ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่จะเปิดประมูลให้บริษัทเอกชนมาแข่งราคาการเดินรถ ในราคาไม่เกิน 20 บาท ตลอดสาย
เมื่อตัดสินใจไม่ต่อสัมปทานก็จะมีคำถามตามมาว่า แล้วจะจ่ายหนี้อย่างไร
ปัจจุบัน กทม.เป็นหนี้ส่วนต่อขยายและการเดินรถ 65,000 ล้านบาท เมื่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม. กทม.ก็จะสามารถหารายได้จากการให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟฟ้า การโฆษณา และการเชื่อมต่อสถานีกับพื้นที่ของเอกชน รายได้ทั้ง 3 ส่วน ปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม.สามารถจ่ายหนี้ได้หมดในเวลา 13-15 ปี โดยยังสามารถคุมค่าตั๋วราคาถูกให้ชาว กทม.20บาทตลอดสาย และยังสามารถเชื่อมต่อล้อ ราง เรือ ในราคา 20 บาทภายในระยะเวลาเดินทาง 1 ชั่วโมงอีกด้วย
ดิฉันสัญญาว่าจะสานต่อนโยบายรถไฟฟ้าราคาถูกของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ในสมัยนี้ให้จงได้หากได้รับฉันทานุมัติจากชาว กทม.เลือกรสนาเป็นตัวแทน
ถ้าพลาดการเลือกรสนาเป็นผู้ว่าฯ กทม. อาจจะต้องรอรถไฟฟ้าหมดสัมปทานอีกรอบใน 30-40 ปี
รสนา โตสิตระกูล
10 เมษายน 2565
#เลือกรสนากาเบอร์7