xs
xsm
sm
md
lg

“พรพรหม” ทีมชัชชาติ ปลุกแนวคิด “เริ่มจากตัวเอง” ใช้ กทม.เป็นต้นแบบดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พรพรหม” ทีมชัชชาติ ปลุกแนวคิด “เริ่มจากตัวเอง” ใช้ กทม. เป็นต้นแบบดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างความตื่นตัวให้ประชาชน พร้อมกระตุ้นหน่วยงานรัฐ-เอกชน ลดปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก”

วันนี้ (4 เม.ย.) นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามอิสระ และอดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า จาก “แคมเปญหาเสียง” สู่ “ศาลาว่าการ กทม.” การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวความคิด “เริ่มจากตัวเอง” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2565 ผมได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลักดันให้เกิดแนวคิด “การหาเสียงแบบรักเมือง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ภายใต้การนำของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร

ขบวนรถหาเสียงรักเมือง 23 คัน ประกอบไปด้วย “รถเมล์ไฟฟ้า” 2 คัน “รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า” 5 คัน “มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” 7 คัน “รถกระบะปิกอัพไฟฟ้า” 1 คัน และ “รถยนต์ไฟฟ้าอื่นๆ” อีก 8 คัน ขับออกจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) หลังจบการรับสมัคร และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน บริเวณเขตยานนาวา-บางคอแหลม เพื่อกระตุ้นประชาชนและสังคมตระหนักรู้ถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นภายในช่วงการ #เลือกตั้งผู้ว่าฯ และ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร

ในปัจจุบัน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อาจจะเป็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมหลักที่ชาวกรุงเทพฯเผชิญหน้าอยู่ แต่ตลอดระยะเวลาที่ผมขับเคลื่อนประเด็นสิ่งแวดล้อม พบว่า แท้จริงแล้วปัญหาใหญ่ที่จะกระทบทุกมิติของชีวิตประชาชน คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ “ภาวะโลกรวน” จากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ปัญหาดังกล่าวชัดเจนมากขึ้นเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา จากอากาศที่เย็นลงอย่างกะทันหันในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งแม้ว่าหลายคนอาจจะดีใจ แต่เป็นที่สังเกตได้ว่า ต้นตอมาจากปรากฏการณ์ “โพลาร์ วอร์เท็กซ์” ที่เกี่ยวโยงกับภาวะ ”โลกรวน" นอกจากนั้น ยังมีผลกระทบในอีกหลายรูปแบบ เช่น น้ำท่วม ระดับน้ำทะเลหนุน และ คลื่นความร้อน ซึ่งผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มผู้มีรายได้ตํ่าในกรุงเทพฯ กว่า 2 ล้านคน

จากปัญหาเบื้องต้น ทีมชัชชาติจึงได้เสนอแนวคิด “การหาเสียงแบบรักเมือง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ลดปัญหามลพิษ และ ปัญหาขยะ จากการหาเสียงครั้งนี้ ทางทีมผลักดันให้เกิดรถหาเสียงไฟฟ้า (EV) เพื่อเป็นการจำกัด “ก๊าซเรือนกระจก” และ PM 2.5 รวมถึงการลดป้ายหาเสียงโดยป้ายไวนิลต้องสะดวกต่อการหมุนเวียน (Recycle) และแผ่นพับหาเสียงที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (reuse) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น แนวทางการหาเสียงแบบรักเมืองนั้นเป็นมากว่าเพียง “แคมเปญหาเสียง” ที่ตอบโจทย์กับยุคสมัยปัจจุบัน แต่เป็นส่วนสำคัญของหลักคิดการจัดการสิ่งแวดล้อมโดย “เริ่มจากตัวเอง” แน่นอนว่าบริบทของ “ตัวเอง” นั้น มีหลายขนาด เช่น จากตัวบุคคล จากชุมชม จากบริษัท หรือ อื่นๆ โดยแต่ละบริบทก็มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ “ฟุตปรินต์” ที่แตกต่างกันไป ซึ่งในกรณีของนายชัชชาติก็จะต้องมีผลกระทบอยู่ไม่น้อยเนื่องจากจะต้องหาเสียงทั่วทั้ง 50 เขตของกรุงเทพฯ หากเพียงแค่ลองจินตนาการ ถึงมลพิษจากรถแห่ ป้าย และขยะจากใบปลิว

การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและท้าทาย มีหลากหลายปัจจัยกว่าที่จะประสบความสำเร็จ เช่น การต่อต้านจากกลุ่มผู้เสียประโยชน์ หรือบางครั้งแม้จะมีนโยบายภาครัฐอยู่แล้วแต่ถ้าการบังคับใช้ยังไม่ครบถ้วนก็ทำให้ปัญหายังคงอยู่ เป็นต้น ซึ่งเหตุนี้ทำให้หลักคิดการ “เริ่มจากตัวเอง” ที่ควบคุมปัจจัยต่างๆได้เองนั้นยิ่งมีบทบาทที่สำคัญ

ผมอยากเสนอหลักคิดที่สามารถและควรนำไปต่อยอดโดยผู้ว่าฯคนใหม่ที่จะเข้าไปบริหาร กทม. ไม่ว่าจะเป็นนายชัชชาติ หรือท่านอื่นใด คือ “ตัวเอง” บริบทของ กทม. มีขนาดใหญ่และเป็นองค์กรที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง เนื่องจาก กทม.มีทรัพย์สินมากมายและต่างมีการใช้พลังงานสูง ตัวอย่างเช่น “อาคาร” ต่างๆ ในสังกัด อย่างเช่น ศาลาว่าการทั้ง 2 แห่ง สำนักงานเขต 50 เขต โรงเรียนในสังกัด เกิน 400 แห่ง ศูนย์กีฬาและศูนย์เยาวชน รวมถึง “ยานพาหนะ” เช่น รถเก็บขยะ รถเทศกิจ รถของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ หรือมลพิษจากกองขยะและนำเสียที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กทม. เป็นต้น โดยทั้งหมดที่กล่าวนี้ต่างเป็นทรัพย์สินของ กทม. ซึ่งผู้ว่าฯมีอำนาจในการบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผู้ว่าฯท่านใหม่ จะกำหนดแนวทางที่จะลดการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” จากทรัพย์สินของ กทม. ผ่านการสนับสนุนวิธีการจัดหาแหล่งพลังงานสะอาด พร้อมกับยกระดับอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทางพลังงาน และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เช่น การส่งเสริมให้ติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ในอาคารต่างๆ หรือ “หลังคาสีขาวสะท้อนแสง” ที่ช่วยลดการดูดซับความร้อนเข้ามาในตัวอาคาร ส่วนสำหรับยานพาหนะคือการเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้า (EV) หรือ hybrid ทั้งหมด และมีการติดตั้งที่ชาร์จ EV หรือจุดแลกแบตเตอรี่ ในพื้นที่ของ กทม.

“ถ้า กทม. เป็นตัวอย่างในการจัดการเรื่องก๊าซเรือนกระจกผ่านการ “เริ่มจากตัวเอง” ได้ จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้กับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีการผลิต “ฟุตปรินต์” สูงๆ หรือ การลดค่าใช้จ่ายให้กับ กทม.ในระยะยาว เช่น การผลิตไฟฟ้าเองจากหลังคาโซลาร์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างการตระหนักรู้ และ การตื่นตัวแต่สาธารณะ รวมถึงเป็นต้นแบบแก่สังคมนานาชาติ ในการเป็นมหานครที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อมของนายชัชชาติ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น