xs
xsm
sm
md
lg

“ชาญชัย” ชูยกระดับความยุติธรรมทางปกครอง ผลักดันวิเคราะห์เหตุแห่งคดีหวังแก้ปัญหาต้นน้ำ แนะราชการต้องรู้ กม.เหมือนฉีดวัคซีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปธ.ศาล ปค.สูงสุด ชูยกระดับอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง ผลักดันวิเคราะห์เหตุแห่งคดีปกครอง หวังแก้ปัญหาต้นน้ำ พ้อเคยเสนอรัฐบาลแต่ไม่สนใจทำ แนะราชการต้องรู้กฎหมายปกครองเหมือนเป็นวัคซีน

วันนี้ (9 มี.ค.) นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด บรรยายพิเศษเรื่อง “21 ปี ศาลปกครองกับการยกระดับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองและการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคม” เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี การเปิดทำการศาลปกครอง ระบุว่า สภาพปัญหาที่ผ่านมา ระบบกฎหมายไทยใช้ระบบประมวลกฎหมายที่มีหลายระบบศาล แต่การศึกษาด้านกฎหมายไทยยังศึกษาระบบศาลเดี่ยว และประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญามากกว่ากฎหมายปกครอง ซึ่งกฎหมายทางปกครองมีกว่า 800 ฉบับ และมีอนุบัญญัติกว่าแสนฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน แม้ประเทศไทยจะมีการจัดตั้งระบบยุติธรรมทางปกครองขึ้นมาแล้ว 21 ปี และมีศาลปกครองภูมิภาคอีก 14 แห่ง แต่การศึกษาด้านกฎหมายในสาขากฎหมายปกครองมีน้อยมาก ทำให้ขาดแคลนตุลาการศาลปกครองที่พึงประสงค์ ทำให้มีปัญหาความล่าช้าในการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองจากจำนวนตุลาการศาลปกครองไม่เพียงพอ โดยตุลาการศาลปกครอง 1 คน แบกรับคดี 216 คดี นอกจากนั้น ยังมีปัญหาความลักลั่นในการวินิจฉัยคดีทางปกครองที่มีลักษณะเดียวกันแต่พิพากษาแตกต่างกัน

นายชาญชัย กล่าวอีกว่า การยกระดับการอำนวยความยุติธรรมทางปกครองที่ผ่านมา ทั้งการยกระดับการดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาคดี อาทิ ลดขั้นตอนการพิจารณาคดีในชั้นการนั่งพิจารณาคดี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีปกครอง พัฒนา IT สนับสนุนกระบวนพิจารณาฯ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังยกระดับการบริหารจัดการคดี โดยบริหารจัดการคดีค้างสะสมและปรับแนวทางการบริหารจัดการคดีในศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ตลอดจนยกระดับคุณภาพของตุลาการและบุคลากร กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการคัดเลือกเป็นตุลาการ วางระบบการสรรหาตุลากร นอกจากนั้นยังมีการยกระดับการให้บริการคู่กรณี อาทิ ให้คำปรึกษาแนะนำในการฟ้องคดี อำนวยความสะดวกในการยื่นฟ้องคดีโดยไม่ต้องมาศาล พิจารณาคดีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ พัฒนา Mobile Application ศาลปกครอง เป็นต้น

ส่วนการเสริมสร้างธรรมาภิบาลในสังคมนั้น ตนเชื่อเรื่องการวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง และแนวปฏิบัติราชการที่ดีจากคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งเรื่องที่เป็นปัญหาการตีความระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ เช่น ค่าเช่าบ้านข้าราชการที่มีสิทธิเบิกได้ ก็ต้องบอกรัฐบาลให้มีมติ ครม.หรือมีหนังสือเวียนว่าเรื่องแบบนี้ทำได้ หรือการเวนคืนที่ดินต้องจ่ายค่าทดแทน เป็นต้น ทั้งนี้ เคยมีความพยายามทำตรงนี้แต่พอจะเสนอไปแล้วรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายบอกว่าไม่ต้องเสนอมารัฐบาลไม่ทำ แต่เรามองว่าแทนที่เราจะมาค้าความค้าคดี เราไปแก้ที่ต้นน้ำ ไปแก้เหตุที่เกิดขึ้น อย่าให้ทำผิดซ้ำซาก ซึ่งตนเชื่อว่า การแก้ปัญหาต้นน้ำจะทำให้คดีลดลง จึงคิดว่าต่อไปเราจะร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ช่วยขับเคลื่อนผลักดันในเรื่องนี้ต่อไป นอกจากนั้น จะต้องเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทภารกิจของศาลปกครองแก่ทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งตนคิดว่าการไม่รู้กฎหมายปกครองเป็นความเสี่ยงของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ทำงานภาครัฐ ดังนั้น จึงต้องมีความรู้ทางกฎหมายปกครองเป็นเหมือนวัคซีน ซึ่งที่ผ่านมา ภาคประชาชนรู้สิทธิตามกฎหมายปกครองไปมากแล้ว แต่ภาคราชการยังตามไม่ทัน ดังนั้น เชิญชวนให้องค์กรอิสระ องค์กรตุลาการมาร่วมกันอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง เพื่อทำให้หลักนิติรัฐเป็นรูปธรรม

ส่วน Roadmap การพัฒนาศาลปกครองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) มีเป้าหมายในปี 2565 มีการบริหารจัดการคดีการพิจารณาพิพากษาคดี และการบังคับคดีเป็นไปตามกรอบเวลามาตรการที่กำหนด ปี 2570 ศาลปกครองมีระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Admincourt) ปี 2575 ศาลปกครองเป็นศาลปกครองอัจฉริยะ (Smart Admincourt) และปี 2580 ศาลปกครองเป็นศาลแห่งความเป็นเลิศ (Court Excellence)


กำลังโหลดความคิดเห็น