เรียกว่าถอดใจกันไปแล้วทั้งประเทศ กับกรณีค่าโง่คดีโฮปเวลล์ หลังจากที่ศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาสั่งกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่ โฮปเวลล์ โฮลดิ้งส์ จำกัดจำนวน 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ภายใน 180 วัน เบ็ดเสร็จ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท
มาถึงขนาดนี้ เรียกว่าถึงทางตัน ต้องหาทางจ่ายค่าโง่กันแล้ว จะมีก็เพียง รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทย อย่างนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี(กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนา คมที่เห็นต่างออกไป
ย้อนกลับไปปี 2562 เมื่อครั้งที่นายศักดิ์สยาม เข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ คำหนึ่งที่นักข่าวจำได้ดีคือ
“ยุคนี้ จะไม่มีการเสียค่าโง่”
เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทย มักจะต้องเสียงบประมาณมหาศาล ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน ไปกลับการเสียค่าปรับ เนื่องด้วยปัญหาความแล้วเสร็จของโครงการรัฐ ซึ่งมาจากสารพัดเหตุผล แต่ที่พ่ายแพ้คือประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สยามนั้น หาใช่คนที่พูดเอาหล่อ แต่ได้หาช่อง หาทาง ทำได้จริง
4 มีนาคม 2565 ประวัติศาสตร์ต้องจารึก
เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ (คดีโฮปเวลล์) ไว้พิจารณา มี กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ร้องที่ 1 และ การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ร้องที่ 2 กับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน
นายศักดิ์สยาม ใช้สารพัดหนทาง กว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้น เริ่มจากการเปิดเผย 9 ข้อพิรุธ ของบริษัทโฮปเวล ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย และไม่เคยถูกรัฐ ยกมาใช้ ในการต่อสู้ทางคดีมาก่อน อาทิ
รายละเอียดโครงการไม่ตรงตามมติ ครม. การดำเนินงานของคณะกรรมการฯ รวดเร็วผิดปกติ และให้สิทธิประโยชน์มากกว่าตามหลักการที่เป็นมติ ครม.
มีการเอื้อประโยชน์ในการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีสิทธิได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
กระทั่งไปถึงเรื่องที่ บริษัทโฮปเวลล์ เป็นบริษัทต่างด้าวจดทะเบียนไม่ถูกต้อง แต่ทั้งหมด ก็ถูกตีตกโดยศาลปกครองสูงสุดไม่รับคำฟ้อง
กระนั้น นายศักด์สยาม ยังไม่ถอดใจ มีการปรึกษากับนายอนุทิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงหนทางที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า พร้อมกับการตั้งทีมกฎหมาย นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ เป็นหัวหน้าทีม และมีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม คอยให้คำแนะนำ
ที่สุดแล้ว ก็เจอช่องโหว่ทางกฎหมาย
เมื่อมีการพบหลักฐานว่า การตัดสินของศาลปกครอง ที่เสร็จสิ้นไปแล้วนั้น ไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย กล่าวคือ
1.การพิจารณานั้น ไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้
2.การกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ศาลปกครองเปิดทำการคือตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งผิดไปจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่าให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี”
คำร้องทั้งหมด ถูกส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน กระทั่งมีการชี้ขาดว่า
“มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองดังกล่าวเป็นอันใช้บังคับมิได้มาตั้งแต่ต้น”
ต่อมากระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย นำคำพิจารณาข้างต้นไปยื่นขอให้ศาลปกครองกลาง เพื่อให้รื้อคดีโฮปเวลล์มาพิจารณาใหม่ ทว่า ทางศาลไม่รับพิจารณา
แต่นี่คือ “ชนวน” ที่ทำให้วันที่ 4 มีนาคม 2565
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งที่ 81 – 83/2565 (ซึ่งวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด) ให้กลับคำสั่งศาลปกครองกลาง โดยให้รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ไว้พิจารณา
“จึงต้องงดการบังคับคดีจ่ายค่าโง่ไว้ก่อน”
ดังนั้นเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท ที่เคยคิดว่า ประเทศไทย จะต้องเสียไปแน่ๆ
บัดนี้ ยังคงอยู่ในกระเป๋าของชาติ
ทั้งหมดยังคงเป็นไปตามที่นายอนุทิน และนายศักดิ์สยามพูดไว้เมื่อปี 2562
“ยุคนี้ จะไม่มีค่าโง่”