รัฐสภาเดินหน้าประชุมร่างกฎหมายพรรคการเมือง 6 ฉบับ “ประชาชาติ” ชงเลิก ม.28-29 เครื่องมือยุบพรรคง่าย ขณะที่ “หมอชลน่าน” การันตีไม่มียัดไส้เปิดโอกาสให้คนภายนอกมาครอบงำพรรคการ ด้าน “วิเชียร” ร่ายยาวหลักการ 8 ข้อ ส่วน “ก้าวไกล” ย้ำจุดยืนยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง
วันที่ 24 ก.พ. 2565 เวลา 18.05 น. ที่รัฐสภา ในมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 6 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง ได้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่… ) พ.ศ…. จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ ร่างที่เสนอโดย ครม. 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทยกับคณะ 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ และคณะ 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล 1 ฉบับ ร่างที่เสนอโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กับคณะ 1 ฉบับ และร่างที่เสนอโดย นายอนันต์ ผลอำนวย ส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ 1 ฉบับ โดยมี นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่วาระการประชุม นายชวน ได้ให้ผู้ที่เสนอเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่… ) พ.ศ…. แต่ละฉบับได้อภิปรายเหตุผลและหลักการในการแก้ไขในฉบับของตนเอง
อาทิ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ เป็นตัวแทนกล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างพรรคประชาชาติ โดยได้ท้วงติงขั้นตอนที่สร้างความยุ่งยากในการเป็นสมาชิกแต่ละจังหวัด ที่ผ่านมาเหมือนการแสดงละครให้ กกต.ดู ทางปฏิบัติมีการล็อกโหวต ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เรื่องไพรมารีโหวต เป็นระบบขยะของการเลือกตั้ง ส.ส. น่าจะยกเลิกระบบตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และที่เสนอให้ยกเลิก มาตรา 28-29 เรื่อง ครอบงำชี้นำพรรคการเมืองให้ขาดความอิสระ เพราะคนที่ตัดสินความเติบโตพรรคการเมืองได้ คือ ประชาชน ไม่ใช่กฎระเบียบที่บีบรัดไม่ให้พรรคการเมืองเจริญเติบโต อีกทั้งยังมีมาตรา 45 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ออกกฎหมายลูก ให้กำหนดมาตรการป้องกัน ไม่ให้มีการครอบงำชี้นำเอาไว้อยู่แล้ว มาตรา 28-29 จึงกลายเป็นเครื่องมือเปิดช่องให้มีการยุบพรรคง่าย เป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวนำเสนอว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีอุปสรรคบางประการ มีการจำกัดเสรีภาพประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้สมาชิกพรรค ชำระค่าสมาชิกพรรค ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพของบุคคล และมีปัญหาทางปฏิบัติ การกำหนดเหตุยุบพรรคมากเกินไป ที่อาจมีการใช้กฎหมายยุบพรรคการเมืองได้ง่ายเกินไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน พรรคเพื่อไทยจึงขอเสนอสาระสำคัญที่ควรแก้ไขมีทั้งสิ้น 29 มาตรา เช่น เรื่องการกำหนดคุณสมบัติสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ควรใช้คุณสมบัติเดียวกับผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส. จึงขอให้มีการยกเลิก เรื่องการเก็บค่าบำรุงพรรคการเมือง เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่มีการกำหนดให้เขาต้องจ่ายค่าสมาชิก เพื่อมาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองสร้างปัญหา สุ่มเสี่ยงใช้เงื่อนไขนี้ ทำให้เกิดการกระทำผิด จึงขอยกเลิกบทบัญญัติมาตรานี้ แล้วไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคแทนว่า จะมีการเก็บค่าสมาชิกพรรคอย่างไร
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า การแก้ไขมาตรา 28-29 ที่มีการพูดถึงกันมาก พรรคเพื่อไทยถูกกล่าวหามีการยัดไส้ เปิดโอกาสให้คนภายนอกมาครอบงำ ชี้นำ กิจกรรมของพรรคการเมือง แต่สิ่งที่พรรคเห็นและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง คือ มีการใช้มาตรานี้กลั่นแกล้งทางการเมือง พรรคจึงขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามา โดยใช้คำว่า การกระทำในวรรคหนึ่ง มิให้รวมถึงการชี้แนะ การให้คำปรึกษา การให้ข้อมูล เพื่อประกอบการทำกิจกรรมพรรคการเมือง เราได้ขยายความให้ชัดเจนมากขึ้นว่า บรรดาการให้คำปรึกษา แนะนำ ชี้แนะ ให้ข้อมูลเสนอแนะ แล้วพรรคนำไปประกอบการทำกิจกรรมในพรรคการเมือง ไม่ถือเป็นการชี้นำ เรื่องนี้ไม่ได้มีการสอดไส้ใดๆ แต่เป็นการป้องกันการตีความเพื่อกลั่นแกล้งทางการเมือง พรรคการเมืองต้องเป็นสถาบันการเมือง ไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกเท่านั้น ที่จะมีส่วนร่วมได้ บุคคลทั่วไปก็สามารถทำได้ กลไกการมีส่วนร่วม เป็นกลไกทางสาธารณะ เป็นการรับฟังความเห็นเชิงสาธารณะ เพราะถ้าตีความเพื่อเอาผิด หากเราไปรับฟังความเห็น การทำประชาพิจารณ์ แล้วมาตีความบุคคลภายนอกครอบงำ มาหาเหตุให้ยุบพรรคได้ จึงต้องเขียนป้องกันเอาไว้
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ประเด็นการยุบพรรคการเมือง หลายพรรคหวั่นไหวมาก เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล เราจึงเขียนให้ชัด เหตุการณ์ยุบพรรคได้นั้น จะมีเพียงกรณีเดียว คือ การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเท่านั้น และคำวินิจฉัยศาลต้องมีหลักฐาน โดยปราศจากข้อสงสัย ไม่ใช่เพียงมีเหตุอันเชื่อได้ว่า แล้วยุบพรรคการเมือง ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชน และพรรคการเมืองหายไป ที่ผ่านมา พรรคไทยรักไทยที่มีสมาชิกพรรค 19 ล้านเสียงต้องหายไป ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น นอกจากนี้ พรรคได้เขียนบทเฉพาะกาลให้นำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ขอให้สมาชิกรัฐสภา รับร่างของพรรคเพื่อไทย ขณะเดียวกัน เมื่อดูร่างทั้งหมด 6 ร่าง มีหลักการใกล้เคียงกัน อยากให้สมาชิกสภารับหลักการทั้งหมดทุกร่าง เหมือนกับที่ได้รับหลักการวาระ 1 ทุกร่างของร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
ด้าน นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นตัวแทนชี้แจงหลักการและเหตุผลร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ว่า แนวทางแก้ไข คือ 1. การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมือง 2. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด 3. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเงื่อนไขของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 4. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต 5. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 6. ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญีรายชื่อ 7. แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยงกับข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ 8. ยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับบทกำหนดโทษของการฝ่าฝืนข้อห้ามในการดำเนินการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เหตุผลโดยที่บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมฉบับที่ 1 พ.ศ. 2564 ได้กำหนดให้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน และ ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน โดยให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบ การกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี และการแบ่งเขตการคำนวณสัดส่วนผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่จะได้รับเลือกตั้งที่เป็นธรรมต่อพรรคการเมือง และเคารพสิทธิและเสียงของประชาชนจึงควรแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า โดยในร่างแก้ไขของพรรคร่วมรัฐบาลมีทั้งหมด 13 มาตรา เพราะมีที่มาคือการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง จึงมีเหตุผลและความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง เพราะการเลือกตั้ง ส.ส.เขตนั้น จะนำไปสู่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงประชากรในปีใด ถ้าจะมีการเลือกตั้งเมื่อใดก็ตามให้คำนวนจำนวน ส.ส. กระจายเป็นเขตในแต่ละจังหวัด โดยใช้ประกาศจำนวนประชากรปีก่อนการเลือกตั้ง เพราะแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรตลอดเวลา ซึ่งการจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตเลือกตั้ง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงตัวแทนพรรคการเมืองประจำเขตการเลือกตั้งนั้นที่ไม่ได้เป็นสำนักงาน แต่เกิดการรวมตัวของสมาชิกพรรคการเมืองตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และจัดตั้งให้มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดขึ้น การเคลื่อนไหวเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยุ่งยาก ซ้ำซ้อน และผูกพันการสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมสมาชิก ทำให้กระทบกับการตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเขต และกระทบสมาชิกที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวนมาก เป็นกระบวนการที่ซ้บซ้อน ยุ่งยากเป็นภาระประชาชน และพรรคการเมืองที่ต้องทำงานธุรการที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเมือง ทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายและใช้บุคลากรจำนวนมาก ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความเข้มแข็ง อีกทั้งกระบวนการทำไพรมารีโหวตที่นั้นมีความซับซ้อน จึงต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ส่วน นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอร่างของพรรคก้าวไกล ว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มีบทบัญญัติที่เป็นอุปสรรคต่อการพรรคการเมือง สร้างภาระขั้นตอนทางธุรการ มีบทกำหนดโทษที่ไม่ได้สัดส่วน วันนี้ จึงเป็นโอกาสนี้ที่ดีที่เราจะได้มาแก้ไขผลพวงของรัฐบาลสมัย คสช.ที่ออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จนทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะผู้ร่างไม่ได้ใช้ ผู้ใช้ไม่ได้มีโอกาสร่าง โดยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่พรรคก้าวไกลเสนอนั้น ยืนบนหลักการว่าพรรคการเมืองต้องเข้มแข็ง เพื่อจะได้เป็นสถาบันการเมืองที่สะท้อนความต้องการและเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งพรรคการเมืองจะเข้มแข็งได้ พรรคต้องตั้งง่าย แต่ยุบยาก ต้องไม่บังคับการเก็บค่าสมาชิก รวมทั้งต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์การอุดหนุนเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองมาเป็นตามสัดส่วนจำนวนสมาชิกพรรค เพราะจะทำให้พรรคเข้มแข็ง มีทุนเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ยกเลิกการกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีเงินทุนประเดิม 1 ล้านบาท เป็นต้น
นายวรภพ กล่าวต่อว่า เมื่อจุดเริ่มต้นของพรรคการเมืองมาจากประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน จึงไม่ควรมีอำนาจใดที่จะมีสิทธิตัดสินยุบพรรคการเมืองได้ เพราะมันคือการทำลายหลักการประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดของประเทศ เพราะพรรคการเมืองไม่สามารถอยู่ได้ หากไม่มีประชาชนสนับสนุน ประชาชนจึงควรเป็นผู้ตัดสินพรรคการเมืองผ่านการเลือกตั้ง โดยโทษยุบพรรค ถูกกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ใช้เป็นบ่อนทำลายพรรค ทำให้พรรคตั้งยากแต่ยุบง่าย และอ่อนแอ ดังนั้น การยุติและยกเลิกการใช้อำนาจที่นอกเหนือจากประชาชนอย่างศาลรัฐธรรมนูญเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประชาธิปไตยไทย ด้วยเหตุนี้พรรคก้าวไกลจึงเสนอยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง
จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว