“อริย์ธัช” หนุน “คมนาคม” ชน “มหาดไทย” ค้านต่อสัมปทาน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หวั่น ค่าโดยสารแพงตลอดกาล
วันนี้ (11 ก.พ. ) นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาจัดระเบียบสายไฟฟ้า สายสื่อสาร และการบริหารจัดการไฟฟ้า ส่องสว่างในพื้นที่ประวัติศาสตร์และพื้นที่เศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า หนึ่งในภาระค่าใช้จ่ายที่คนกรุงเทพฯ ต้องแบกรับจนหลังแอ่น คือ ค่าเดินทาง แม้ขณะนี้จะมีโครงข่ายรถไฟฟ้ากระจายทั่วกรุงเทพฯ เป็นขนส่งสาธารณะทางเลือกที่รวดเร็ว ทำให้ควบคุมเวลาได้ แต่ก็ต้องแลกกับการจ่ายค่าโดยสารที่แพงมาก ยิ่งเมื่อต้องเปลี่ยนสายเป็นรถไฟฟ้าสีอื่น หรือเส้นทางอื่นที่มีผู้ได้รับสัญญาสัมปทานเป็นคนละเจ้าก็ต้องเสียค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน
ปัญหาเหล่านี้จะแก้ไม่ได้เลย หากรัฐบาลยังมีแนวทางต่ออายุสัญญาสัมปทานเรื่อยๆ ไปทีละเจ้า เพราะจะทำให้ กทม.ไม่สามารถดึงเอาปัญหาค่าโดยสารทั้งหมดมาวางเป็นระบบเดียวกัน เพื่อทำให้ค่าโดยสารถูกลงได้ ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนค่าโดยสาร หรือการคิดค่าแรกเข้าครั้งเดียวไม่ว่าขึ้นสายไหนสีใดเป็นสถานีแรก ที่เรียกว่า “ระบบตั๋วร่วม”
“ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งที่ทางกระทรวงกระทรวงคมนาคม มีท่าทีที่ชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับวาระพิจารณาการต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่กระทรวงมหาดไทย พยายามเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของกฎหมายและตามหลักธรรมาภิบาลก่อนนำเสนอเข้ามา เพราะเรื่องนี้ยังมีหลายประเด็นทาง กทม.ทำไม่รอบด้านและครบถ้วน เช่น เรื่อง การคำนวณอัตราค่าโดยสารที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้บริการ ว่า มีการใช้หลักการคำนวณอย่างไรจึงทำให้ค่าโดยสารสูงสุดแพงถึง 65 บาท ทั้งที่ควรจะมีราคาถูกลงกว่านี้ได้ อีกทั้งยังมีความเห็นที่จาก กมธ.วิสามัญศึกษาการต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้า ที่มติเสียงข้างมากออกมาชัดเจนว่าไม่ควรต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว”
นายอริย์ธัช กล่าวต่อว่า ตนยืนยันว่า การทำให้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งระบบถูกลง จะเป็นไปไม่ได้เลย หากรัฐบาลยังคงต่ออายุสัญญาเอกชน หลีกเลี่ยงการนำมาบริหารเองทั้งระบบ โดยกลัวคำขู่เรื่องการทวงหนี้ค่าเดินรถที่ค้างจ่ายก้อนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า ในเรื่องนี้ กทม.มีงบประมาณเพียงพอในการชำระทั้งปัจจุบันและยาวไปจนหมดอายุสัมปทาน รวมถึงจะต้องหาทางเจรจาต่อรองให้ได้ จะต้องไม่ยอมให้ใครจับประชาชนเป็นตัวประกันเพื่อต่ออายุสัญญาไปอีก 30 ปี โดยนับจากปี 2572 ซึ่งขณะนี้ยังคงเหลือเวลาอายุสัญญาสัมปทานอีกถึง 7 ปี ผมจึงยังไม่เห็นความจำเป็นใดที่จะต้องรีบประเคนสัมปทานให้กลุ่มทุนตั้งแต่ตอนนี้ เพราะจะนำไปสู่ปัญหาค่าโดยสารแพงตลอดกาล มันจะผูกพันและพันกันไปเรื่อยๆเป็นวัวพันหลัก การแก้ปัญหาจะยากขึ้นเรื่อยๆ หากยังเห็นแก่คนกรุงเทพฯ สิ่งที่ควรทำที่สุด คือ การไม่ต่ออายุสัมปทานให้เอกชนรายใดเมื่อหมดสัญญา หรือกำหนดเงื่อนไขระบบตั๋วร่วมเอาไว้ในสัญญา เพื่อให้อำนาจการบริหารในการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด กลับมาอยู่ในมือ กทม. โดยเร็ว