เมืองไทย 360 องศา
หากพิจารณาไทม์ไลน์ ตามวาระของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็เหลือเวลาอีกเพียงแค่ปีเศษ หรือตามตัวเลขก็จะอยู่ราวๆ หนึ่งปีกับสองเดือน ก็จะครบวาระในเดือนมีนาคม 2566 หากไม่มีอุบัติเหตุ หรือเหตุไม่คาดหมายเกิดขึ้นมาเสียก่อน
สำหรับอุบัติเหตุทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นที่ว่านั้น ก็น่าจะมีเพียงสองเรื่องหลัก นั่นคือ ไม่ลาออก ก็ยุบสภา ซึ่งหากให้เดาทางที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด หากมีทางเลือกแค่สองทางดังกล่าว ก็น่าจะออกมาอย่างหลัง คือ ยุบสภามากกว่า
แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องมาวิเคราะห์ถึงความเป็นจริงอีกว่า แรงกดดันให้เกิดการยุบสภานั้น “มันเป็นความต้องการจริง หรือเป็นเพียงแค่การแสดงต้องการตีกินทางการเมืองเท่านั้น”
เหมือนกับในเวลานี้ที่บรรดาพรรคฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่เร่งเร้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รีบยุบสภานั้น คำถามที่ตามมา ต้องการอย่างนั้นจริงหรือ เพราะในความเป็นจริง สิ่งที่พรรคเพื่อไทยและพรรคขนาดใหญ่ต้องการ ก็คือ “บัตรเลือกตั้งสองใบ” ที่เวลานี้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับ และ กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง และว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งตามขั้นตอนที่แม้ว่าจะเร่งรัดให้เร็วที่สุดตามที่ กูรูด้านกฎหมายอย่าง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุเอาไว้ว่า น่าจะเสร็จในราวเดือนกรกฎาคม
“หากเกิดการยุบสภาในระหว่างกฎหมายลูกดังกล่าวยังไม่เสร็จ ก็จะเกิดปัญหา เพราะยังไม่มีกฎหมายลูก ซึ่งที่จริงอาจจะกล้อมแกล้มทำอะไรไปได้ แต่จะเกิดการถกเถียงกันขึ้น เพราะเมื่อไม่มีกฎหมาย ก็ไม่ได้ข้อยุติ ก็จะยุ่งยาก” รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายระบุ
เมื่อถามว่า การออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หรือประกาศของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) จะสามารถทำได้ หรือไม่ หากเกิดการยุบสภา นายวิษณุ กล่าวว่า กกต.ก็ไม่กล้าออก และ พ.ร.ก. ถ้าไว้ใจให้รัฐบาลออก รัฐบาลก็ออกได้ แต่คงไม่ไว้ใจ เพราะรัฐบาลเป็นคนกำหนดกติกาเอง ก็จะทำให้เกิดปัญหา ส่วนรัฐบาลมีการเตรียมความพร้อม หรือไม่ หรือรอให้เหตุเกิดแล้วค่อยแก้ไข นายวิษณุ กล่าวว่า ก็แล้วแต่ บางครั้งอาจไม่ต้องรอให้เหตุเกิดก็ได้ ไม่เป็นอะไรก็ช่วยกันแสดงความคิดเห็นได้
ถามย้ำว่า บรรยากาศแบบนี้ นายกฯ สั่งให้เตรียมความพร้อมไว้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่รู้จะเตรียมอย่างไร เพราะ กกต.จะต้องเป็นคนเตรียมในเรื่องนี้ การยุบสภาเป็นอำนาจของรัฐบาล แต่การจัดการเลือกตั้งหลังยุบสภา เป็นเรื่องของ กกต.ทั้งหมด ทั้งเรื่องเลือกตั้ง วันรับสมัคร และการนับคะแนน กกต.จะต้องเป็นคนบอก หากจะให้ออก พ.ร.ก. รัฐบาลจะต้องเป็นคนออก ซึ่งก็ไม่มีใครไว้ใจให้รัฐบาลเขียนกติกาเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าทุกอย่างผ่านไปตามที่กล่าวมา กฎหมายลูกก็จะประกาศใช้ได้ในเดือนก.ค. ซึ่งอาจจะช้ากว่านั้น แต่ไม่ก่อนหน้านั้นแน่นอน
นั่นคือ ไทม์ไลน์ของกฎหมายสำคัญสองฉบับ ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่พรรคการเมืองต้องการให้คลอดออกมาโดยเร็ว โดยทำให้การเลือกตั้งต้องใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ แต่เมื่อเร่งไม่ได้มาก ทุกอย่างต้องไปตามขั้นตอนที่คาดว่าจะออกมาในเดือนกรกฎาคม และหากยุบสภาก่อน ก็จะยุ่งวุ่นวายตามที่ระบุเอาไว้ มันถึงได้บอกว่าที่เรียกร้องให้ยุบสภานั้น “ปากตรงกับใจ” หรือไม่
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งเมื่อหันมาที่ฝั่งของรัฐบาล โดยเฉพาะ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ต้องยอมรับว่า กำลังอยู่ในภาวะถูกดดันรอบทิศทาง แม้ว่าจะเริ่มพอหายใจหายคอได้บ้าง ในช่วงปิดสภาในปลายเดือนนี้ แม้ว่าจะช่วงวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์นี้ จะมีการ “ซักฟอก” จากฝ่ายค้าน แต่ไม่มีผลต่อสถานะนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นการอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ไม่มีการลงมติ แต่ให้จับตาหลังเปิดสภาสมัยสามัญอีกครั้ง ในเดือนพฤษภาคม ที่คาดว่าจะต้องเจอมรสุมรุมเร้าทุกทิศทาง
อย่างไรก็ดี หากมองในแง่บวกในช่วงเดือนพฤษภาคม ตามตารางที่รัฐบาลกำหนดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งหากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ หากไม่มีตัวบุคคลที่โดดเด่นพอ ซึ่งมองในมุม “ไม่ส่ง” นาทีนี้น่าจะมีผลดีมากกว่า “ส่ง” ผู้สมัคร เพราะหาก “ไม่ชัวร์จริง” เกิดแพ้ขึ้นมาอีกคราวนี้ก็เละ สะเทือนมาถึง “บิ๊กตู่” เข้าจังเบอร์ ประเภท “ขาลง” ชัดเจน ทำนองชาวบ้านปฏิเสธรัฐบาล และพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ขวัญเสียกันทั้งพรรคแน่นอน เพราะใกล้จะครบวาระ อีกทั้งในช่วงเวลาที่กฎหมายลูกสองฉบับกำลังจะคลอดออกมาพอดี เสียงเรียกร้องให้ยุบสภา ก็จะดังกระหึ่มแน่นอน
ดังนั้น เมื่อพิจารณาด้วยเงื่อนไขเวลา ไม่ว่าจะครบกำหนดตามวาระ หรือเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดการเลือกตั้งก่อนกำหนด ซึ่งอย่างเร็วก็น่าจะเป็นช่วงเดือน “พฤษภา-กรกฎาฯ” ทุกอย่างเร่งรัดเข้ามาแล้ว สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องชัดเจนกว่าเดิม แน่นอนว่า สำหรับในพรรคนั้นหลังจากที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกไปแล้ว หากมองตามความเป็นจริงก็ต้องบอกว่า “คลายความอึมครึม” ลงไปมาก อีกทั้งเมื่อผ่านการพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมต่อเนื่องกันสามครั้งรวด มันก็ทำให้มีเวลาได้ทบทวนกันมากขึ้น
ขณะเดียวกัน นาทีนี้หากโฟกัสไปที่ “บิ๊กตู่” ก็จะเห็นว่า กำลังใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้ “คุ้มค่ามากที่สุด” โดยเร็วในช่วงที่เรียกว่า “โค้งสุดท้าย” เร่งสร้างผลงานให้ออกมาเกิดผลเป็นรูปธรรม และ “เข้าตา” ให้มากที่สุด และที่สำคัญ ก็ต้องทำให้เกิดภาพลักษณ์ในลักษณะ “ชาวบ้าน” ให้มากที่สุด เหมือนกับเวลานี้ ที่กำลังเร่งแก้ปัญหา “สลากฯเกินราคา” ที่มอบหมายให้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นประธาน และมี นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจฯ ซึ่งได้ประกาศอย่างมั่นใจว่า อนาคตจะไม่มีเรื่อง “สลากฯราคาแพง” ก็แสดงว่ามั่นใจว่าทำได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เร่งรัดให้ดำเนินการให้เกิดผลตามที่ได้มีการปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย ให้กลับมาเป็นปกติในรอบกว่าสามสิบปี ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในทุกด้าน ภายในสองเดือน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน ท่องเที่ยว แรงงาน ซึ่งหากทำได้ตามเป้าหมาย ก็น่าจะส่งผลดีเป็นการสร้างผลงานให้เด่นชัดได้อีกทาง โดยเฉพาะในเรื่องแรงงานและการท่องเที่ยว รวมไปถึงการส่งออก รวมไปถึงการเร่งผลักดันโครงการช่วยเหลือประชาชนในหลายรูปแบบ เช่น “คนละครึ่งเฟส 4” และเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น เป็นการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความพึงพอใจให้ชาวบ้านในช่วง “สินค้าแพง”
ดังนั้น หากพิจารณาจากสถานการณ์และโอกาสที่มีอยู่ในช่วงเวลาอันจำกัดเข้ามาเรื่อยๆ เชื่อว่า ในช่วงโค้งสุดท้าย โดยเฉพาะสองสามเดือนนับจากนี้ ได้มีเวลาได้หายใจบ้าง โดยเฉพาะเป็นช่วงปิดสภา และยังเป็นการเร่งสร้างผลงาน เป้าหมายเน้นไปที่ระดับชาวบ้าน เพื่อหวัง “กระชากเรตติ้ง” ให้กลับมาได้บ้าง ก่อนที่มาประเมินกันอีกครั้งว่าจะไปต่อ หรือพอแค่นี้ !!