“รณกาจ ไทยสร้างไทย” โต้ “ของแพง-เงินเฟ้อ” ไม่ใช่ข่าวดี ติง “สุพัฒนพงษ์” ต้องทบทวนความเห็น หลังให้ข่าวของแพงสะท้อนกำลังซื้อเพิ่ม จี้ ผู้มีอำนาจจริงใจแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ สางปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น อย่าคิดแต่ไล่แจกเงิน-เปิดบูทขายของถูก สวดต้องเลิกวิ่งในทุ่งลาเวนเดอร์ ก่อนพาประเทศดิ่งเหวกว่าเดิม
วันนี้ (17 ม.ค.) นายรณกาจ ชินสำราญ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อ และสินค้าอุปโภคบริโภคราคาสูงขึ้นว่า เงินเฟ้อ และสินค้าแพงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ใช่ข่าวดี และไม่ได้มาจากความต้องการบริโภคสูงขึ้น นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ต้องทบทวนความเห็นที่ระบุในทำนองว่า อัตราเงินเฟ้อหรือราคาของแพงที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงกำลังการบริโภคของประชาชนมากขึ้น รวมทั้งยังอ้างถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งทั้งหมดที่ ฝ่ายบริหารกล่าวอ้างถูกเพียงครึ่งเดียว เพราะประเทศใหญ่ๆ ในโลกเริ่มฟื้นตัว คนออกมาใช้ชีวิต อัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น การบริโภคเลยเพิ่มขึ้น แต่ในไทยขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง โดยหลักเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น อธิบายได้ว่าเงินเฟ้อเกิดได้ 2 ลักษณะ คือ Cost Push (ราคาต้นทุนสูงขึ้น) และ Demand Pull (ความต้องการบริโภคสูงขึ้น) ซึ่งในไทยเองเป็น Cost Push คือต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ซึ่งก็มีนักเศรษฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักวิชาการ และนักลงทุนต่างออกมาพูดถึงเรื่องนี้กันมากมายตั้งแต่ต้นปีแล้ว
“รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ต้องทบทวนความเห็นของตัวเอง และอย่าบิดเบือนการให้ข้อเท็จจริงกับประชาชน เพราะสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ใช่อย่างท่านกล่าวอ้าง สาเหตุหลักมาจากต้นทุนทุกอย่างสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นโดยที่ความต้องการการบริโภคไม่ได้สูงขึ้นตาม” นายรณกาจ กล่าว
นายรณกาจ กล่าวต่อว่า ส่วนที่รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ออกมาให้สัมภาษณ์ พูดถึงเงินเฟ้อปีนี้อยู่ในกรอบ 1-3% ซึ่งเป็นไปตามเป้า และขอให้ดูที่ภาพรวม อย่าดูที่สินค้าตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งตนต้องขออธิบายว่า ราคาหมู ขึ้นจาก 170 มา 230 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หรือเกือบ 40%, ค่าไฟปรับขึ้นเริ่มต้นปีนี้ประมาณ 5%, ไข่ไก่ฟองละ 2.8 บาท จะปรับขึ้น 20 สตางค์ หรือ 7%, เนื้อไก่ จาก 50 กว่าบาทมาเป็น 70 บาทต่อ กก. หรือ 35%, ค่าผ่านทางด่วน จาก 50 เป็น 65 บาท หรือ 30%, แก๊สหุงต้ม ตรึงราคาไว้ถึง 31 มี.ค.นี้ หลังจากนั้น อาจปรับขึ้นได้ถึง 10-20% ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหาร ปรับขึ้นทั้งแผงทันที 5-10 บาทต่อจาน คิดเป็น 10-20% ทันที ขณะเดียวกัน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 กว่าบาท ไม่ปรับขึ้นและตัวเลขการว่างงานในไทยยังคงสูงที่สุดในรอบหลายสิบปี
“ดูแค่ตัวเลขเหล่านี้ ใครก็รู้ว่าเงินเฟ้อมีผลกระทบหนักหนาสาหัสกับทุกคนทันที โดยที่ไม่ต้องรอดูตัวเลขเงินเฟ้อในภาพรวมที่กรอบ 1-3% ตามที่ท่านรองนายกฯกล่าวอ้าง” นายรณกาจ ระบุ
นายรณกาจ กล่าวอีกว่า อยากขอให้ท่านผู้นำทั้งหลาย มีความจริงจังในการแก้ไขปัญหามากๆ และแก้ที่ต้นเหตุ คือ ต้นทุนสินค้าแพง การไปไล่แจกเงิน การเปิดจุดบริการขายสิ้นค้าราคาปกติ ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังจะเห็นได้ว่าตอนนี้ผู้ประกอบการหมดแรง หลายรายต้องยุติกิจการ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ นำมาซึ่งอัตราการจ้างงานที่ต่ำลง เงินไม่ไหลสู่ระบบ ไม่ใช่ไปแก้ที่ปลายเหตุโดยการแจกเงินตลอดเวลา การแจกเงินช่วยกระตุ้นได้ชั่วคราว ซึ่งอาจพอยืดระยะเวลาบาดเจ็บของประชาชนออกไปได้บ้าง แต่สุดท้ายแผลฉกรรจ์หรือต้นตอของปัญหายังคงอยู่
“จริงอยู่ ที่รัฐบาลมีหน้าที่ให้ข่าวเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน แต่รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ยังคงมองโลกสวยเหมือนทุ่งลาเวนเดอร์อยู่แบบนี้ คิดว่าปี 65 นี้ คงพาประเทศดิ่งลงเหวยิ่งกว่าปีที่แล้วแน่นอน” นายรณกาจ กล่าวทิ้งท้าย