สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ชวนผู้บริโภคไปล้วงลึกว่าทำไมหมูถึงแพงจนเกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำที่ได้รับต่อวัน เกิดจากสาเหตุอะไร แล้วแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ 'หมูมีราคาที่ยุติธรรม'
ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมาเราต้องเผชิญกับโรคระบาดในคนอย่างโควิด - 19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคจำนวนมาก โดยเฉพาะผลกระทบในด้านการเงิน บางคนตกงานหรือมีรายรับน้อยลงในขณะที่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้น แต่ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะล่าสุดเรายังต้องรับมือกับโรคระบาดในหมูจนทำให้ราคาหมูแพงขึ้นอีกด้วย
‘เนื้อหมู’ โปรตีนที่คนไทยนิยมบริโภคมีการปรับราคาต่อกิโล ขึ้นมาเกือบเท่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของคนไทย ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงส่งผลกระทบกับผู้บริโภคเพียงอย่างเดียว แต่กลับส่งผลไปทั้งระบบ ตั้งแต่เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมูก็ต้องแบกรับภาระหนี้สินที่ท่วมตัว หลายรายล้มหายตายจากและออกจากระบบการเลี้ยงหมู พ่อค้าแม่ค้าแผงหมูขายหมูได้น้อยลง แผงหมูลดน้อยลงหรือปิดไปเลยก็มีเพราะขายของไม่ได้ รวมไปถึงร้านอาหารต่าง ๆ ที่มีการปรับราคาขึ้น กระทั่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือทุกภาคส่วน แต่ก็ดูเหมือนว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมูแพงได้อย่างแท้จริง และคาดว่าเร็ว ๆ นี้ราคาต่อกิโลก็มีแนวโน้มที่อาจจะสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน
_________________
‘หมูแพง’ เพราะอะไร?
_________________
“ผมเลี้ยงหมูมา 30 กว่าปีถือว่าหนักสุด” นิพัฒน์ เนื้อนิ่ม อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในฐานะนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกร เขต 7 และนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจถึงสถานการณ์ราคาหมูช่วงนี้ว่า ที่ผ่านมาคนเลี้ยงหมูหลายรายต้องเผชิญกับการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู (African Swine Fever : ASF) ซึ่งเป็นโรคที่ไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยารักษา สุดท้ายทำให้หมูล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งการระบาดยังส่งผลให้แม่หมูเหลือลดน้อยลงกว่าครึ่ง จนทำให้กำลังการผลิตลูกหมูหรือที่เรียกว่าหมูขุน ลดน้อยลงไปด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อก่อนประเทศไทยเลี้ยงหมูในระดับที่เพียงพอกับการบริโภคภายในประเทศและยังสามารถส่งออกได้ แต่ขณะนี้จำนวนหมูหายไปถึงประมาณร้อยละ 50 – 70 ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงกระทบไปทั้งระบบ ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ต้องแบกรับต้นทุนต่าง ๆ พ่อค้าแม่ค้าแผงหมูที่ต้องรับหมูมาในราคาที่สูงขึ้น ร้านอาหารก็มีการปรับราคาขึ้น และสุดท้ายผู้บริโภคก็ต้องซื้อหมูหรืออาหารที่แพงขึ้นด้วย สอดคล้องกับ วิฑูรย์ เลี่ยนจํารูญ เลขาธิการมูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย : BIOTHAI) ที่มองว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้หมูมีราคาแพง ก็คือ การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมูทำให้หมูตายไปเป็นจำนวนมาก ประกอบกับคนเลี้ยงหมูไม่สามารถรับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการที่หมูล้มตาย ท้ายที่สุดรายย่อยก็หายไปจากระบบเพราะสายป่านที่ยาวไม่มากพอเหมือนกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเมื่อคนเลี้ยงหมูหายไปย่อมส่งผลกระทบกับปริมาณเนื้อหมู แต่ทั้งนี้วิฑูรย์ กลับมองว่า การระบาดดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นมาได้สักพักแต่กรมปศุสัตว์ไทยกลับไม่ยอมรับว่ามีการระบาด เพราะอาจจะเป็นเพียงเพื่อต้องการปกป้องเรื่องการส่งออกเนื้อหมูของไทยไปยังต่างประเทศ ซึ่งการส่งออกที่ว่านี้มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งได้ประโยชน์จากการส่งออกเนื้อหมูในยามที่ทั่วเอเชียเกิดโรคระบาด
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าช่วงเดือนพฤษภาคมของปีที่ผ่านมา เวียดนามปฏิเสธการนำเข้าหมูจากไทย เนื่องจากพบว่าหมูจำนวน 980 ตัว ติดโรคอหิวาต์แอฟริกันในหมู ดังนั้น วิฑูรย์จึงเกิดคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรว่าการพบหมูติดโรคจำนวนมากขนาดนั้นกลับไม่มีการแถลงข่าวหรือปรากฏเป็นข่าวในประเทศไทยเลย ขณะที่ธีมะ กาญจนไพริน พิธีกรรายการจั๊ดซัดทุกความจริง วิเคราะห์ในรายการดังกล่าวเมื่อ 5 มกราคมที่ผ่านมาว่า ‘อาหารหมู’ เป็นปัจจัยการผลิตที่สูงที่สุดที่เกษตรกรต้องลงทุนในการเลี้ยงหมู คิดเป็นประมาณร้อยละ 60 - 70 ของต้นทุนการเลี้ยง ซึ่งอาหารหมูที่ว่านั้นก็ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลือง มันสำปะหลัง มีราคาที่สูงมากเลยทีเดียวและมีการคาดการณ์ว่าปัจจัยการผลิตเหล่านี้น่าจะมีราคาที่สูงขึ้นกว่านี้ไปอีกในอนาคต นอกเหนือจากนั้นยังมีต้นทุนที่เกิดขึ้นมาใหม่สำหรับคนเลี้ยงหมูในไทย นั่นคือ การปรับปรุงฟาร์มเลี้ยงสุกรให้เข้าสู่รูปแบบมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ รวมถึงมาตรการปฏิบัติทางการเกษตรสำหรับฟาร์มสุกรฉบับทบทวน โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสูงจากทั้งปัจจัยการผลิต รวมถึงระเบียบกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานประกาศออกมาทำให้เกษตรกรรายย่อยที่เลี้ยงหมูหายไปจากระบบ เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นได้ ผลที่ตามมา คือ หมูในประเทศไทยมีน้อยลงแต่ความต้องการมีมาก จึงต้องปรับราคาขึ้นกระทั่งขณะนี้ราคาหมูก็สูงมากจนฉุดไม่อยู่
______________________________
ราคาหมูตอนนี้ เกือบเท่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’
______________________________
“กลายเป็นว่าขณะนี้เนื้อหมูมีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 250 บาท และมีการคาดการณ์ว่าราคาจะทะลุไปถึงกิโลกรัมละ 300 บาท เท่ากับว่า ราคาเนื้อหมูขนาดนี้แถมยังเป็นโปรตีนที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภค กลับมีราคาเท่า ๆ หรือใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งกระทบกับคนส่วนใหญ่ในประเทศแน่นอน” วิฑูรย์ กล่าว
หากดูรายงานการศึกษาจะพบว่าคนส่วนใหญ่ในประเทศมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารประมาณครึ่งหนึ่งหรือกว่าร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด เพราะฉะนั้นเมื่อราคาอาหารสูงขึ้น สิ่งที่ผู้บริโภคจะทำก็คือ อาจจะมีการบริโภคอาหารหรือมีกำลังในการซื้ออาหารน้อยลง ผลที่ตามมาคือพ่อค้าแม่ค้าขายหมูได้น้อยลง แผงหมูลดน้อยลงหรือปิดไปเลยก็มีเพราะไม่สามารถขายของได้ กลายเป็นว่าเกษตรกรรายย่อย พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ผู้บริโภค ล้วนได้รับผลกระทบไปทุกภาคส่วน แต่ที่ยังอยู่ได้น่าจะเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สามารถผลิตอาหารสัตว์ได้ ผลิตหมูได้ และยังมีแหล่งกระจายเนื้อหมูของตัวเองไปยังผู้บริโภคโดยที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับรายย่อย
ด้านนิพัฒน์ ก็ได้ระบุถึงสาเหตุที่ราคาหมูพุ่งสูงไปกว่า 200 บาทต่อกิโลกรัมว่า หากรัฐบาลมีการบริหารจัดการที่รวดเร็วมากกว่านี้ เหตุการณ์อาจจะไม่รุนแรงมาก “วันนี้ผู้บริโภคเดือดร้อน คนเลี้ยงหมูก็เดือดร้อนด้วย มันไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ผู้เลี้ยงเจ็บน้อยที่สุด”
____________________
หมูต้องมี ‘ราคาที่ยุติธรรม’
____________________
เมื่อกล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะตรึงราคาหมูช่วยเหลือผู้บริโภค วิฑูรย์มองว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมูแพงได้อย่างแท้จริง และราคาหมูก็น่าจะพุ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ แบบนี้ โดยเขามองว่า ‘หมูจะต้องมีราคาที่ยุติธรรม’ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานของรัฐบาล เช่น การปกปิดเรื่องโรคระบาดเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมใหญ่ รวมถึงการปล่อยให้มีการรวมศูนย์ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ไปจนถึงการผลิตหรือการกระจายเนื้อหมู หรือเรียกได้ว่ากินรวบตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ
ดังนั้น การแก้ปัญหาเรื่องนี้ คือ ไม่ปล่อยให้มีการผูกขาดรวมศูนย์ โดยต้องเพิ่มผู้เลี้ยงหมูรายย่อยให้มีมากที่สุด ส่งเสริมให้มีการผลิตอาหารสัตว์ได้เองหรือส่งเสริมให้มีแหล่งกระจายเนื้อหมู เพื่อไม่ให้มีการพึ่งพาบริษัทอาหารสัตว์ขนาดใหญ่อีก รวมถึงต้องรักษาเกษตรกรอื่นที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตด้วย เช่น เกษตรกรที่ผลิตข้าวโพด ปลายข้าว เพื่อให้เขามีอาชีพอยู่ได้และเพื่อไม่ให้มีการรวมศูนย์ในมือของคนใดคนหนึ่ง
_________________________
เรียกร้องรัฐจัดการปัญหาหมูแพง
_________________________
นิพัฒน์ มองว่าความจริงใจของภาครัฐในการแก้ไขปัญหานี้เป็นเรื่องที่สำคัญ รัฐควรแก้ปัญหาการระบาดของโรคดังกล่าว หรือการทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูที่หายไปกว่า 2 แสนรายกลับเข้ามาเลี้ยงหมูได้เหมือนเดิม หรือแม้กระทั่งการแก้ปัญหาเรื่องราคาหมูที่แพงจนกระทบพ่อค้าแม่ค้าแผงหมู ร้านอาหาร และผู้บริโภค โดยต้องหาแนวทางในการสร้างความสมดุลกับผู้บริโภค “แม้หมูจะมีราคาแพง แต่ผู้บริโภคอย่างเราก็ไม่ควรละเลยที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการปัญหาหรือผลักดันไม่ให้มีการผูกขาดปัจจัยการผลิตต่าง ๆ” วิฑูรย์ ระบุและยังเสริมอีกว่า การเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น การกระจายการผลิตอาหารให้กับรายย่อย หรือแม้แต่มีการเสนอให้มีการนำเข้าเนื้อสัตว์เพื่อแก้ไขปัญหาตรงนี้ เขามองว่าอาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว เนื่องจากเมื่อนำเนื้อสัตว์เข้ามาจะส่งผลกระทบกับรายย่อย โดยอาจจะเกิดการรวมศูนย์หรือการผูกขาดการนำเข้า และที่ตามมาในอนาคต คือ ผู้บริโภคจะลำบาก เพราะต้องพึ่งพาต่างประเทศมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราต้องอดทนและควรเรียกร้องให้มีการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ทั้งเรื่องการผลิตอาหารสัตว์ด้วยตัวเอง การผลิตหมู หรือแม้แต่การส่งเสริมให้มีสถานที่ที่รองรับการกระจายผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์
.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวล คือ เมื่อสินค้าบริโภคจำเป็นประเภทหนึ่งมีราคาถีบตัวสูงผิดปกติ มักจะทำให้ราคาของสินค้าประเภทอื่น ๆ ถีบตัวตามไปด้วย แม้ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงจากราคาของเนื้อหมู ดังนั้น จึงจำเป็นที่รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ต้องพยุงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้เกิดความเสถียร เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินความจำเป็น
บทความโดย สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)
เครดิตคลิป ข่าวช่องวัน