น่าคิด! “ดร.อานนท์” เปิด 6 เหตุผลชัดแจ้ง สอน “อรรถวิชช์” กก.กรองคดี 112 จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม? เข้าทาง “ล้มเจ้า” สะท้อนชัด “โจนาธาน เฮด” นักข่าว BBC เคยโดนคดี ม.112 ชาวเน็ตเชียร์ ไล่ตะเพิด
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (3 ม.ค. 65) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น ดร.อานนท์ เปิด 6 เหตุผลชัดๆ สอน “อรรถวิชช์” กก.กรองคดี 112 จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม?
โดยระบุว่า จากที่วันนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า โพสต์ข้อความถึง นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า ไว้อย่างน่าสนใจว่า
“คณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 จะเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่
ผมได้ไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีอาญามาตรา 112 ให้กับพนักงานสอบสวนของตำรวจ และได้เดินทางไปเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในชั้นศาลอีกนับร้อยคดี ได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นวิทยากรอบรมพนักงานสอบสวนทั่วประเทศหลายร้อยคนในการทำคดีมาตรา 112 เพราะผมมีความตั้งใจส่วนตัวที่จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเข้มแข็ง
ผมไม่เห็นด้วยกับ อรรถวิชช์ ประเด็นเรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ที่ อรรถวิชช์ บอกว่า เป็นหลักปฏิบัตินิยมที่จะเป็นทางออกของปัญหาทางการเมืองไทย
เพราะฉะนั้น เรามีความจำเป็นต้องพูดให้เห็นได้ชัดว่า คดีมาตรา 112 นั้น ไม่ใช่คดีทางการเมือง เป็นคดีความมั่นคง จึงไม่เป็นการสมควรที่จะใช้วิธีการแก้ไขด้วยวิถีแห่งการเมืองที่ตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี เพราะเป็นการกระทำที่ผิดฝาผิดตัวและจะดึงสถาบันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองโดยไม่จำเป็น
ประการที่สอง องค์ประกอบความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น มีความชัดเจนอยู่ในตัวอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความต้องอ้างอิงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ย่อมกระทำมิได้ อันเป็นแม่บทของมาตรา 112 ป. อาญาประการที่สาม นับตั้งแต่ผมได้เกิดมา ได้รู้เห็นก็เพิ่งเคยได้พบเห็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ/ดูหมิ่น/อาฆาตมาดร้าย จ้วงจาบหยาบช้า บังอาจหยาบคายมากขนาดนี้ ต่อสถาบัน ผมยอมรับว่า ไม่เคยเห็นเช่นนี้มาก่อนจริงๆ
ในทางปฏิบัตินั้นมีคดีมาตรา 112 มากมายที่มิได้มีการดำเนินคดีต่อหรือไม่มีผู้ไปแจ้งความ กลายเป็นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเสมือนดั่งสุสานคดีมาตรา 112 ก็ว่าได้ เพราะไม่อาจดำเนินการต่อได้ โดยเฉพาะการกระทำความผิดบนระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจำเป็นต้องพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์และพิสูจน์สัญญาณจราจรทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมจะไม่ยอมให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดังกล่าวเป็นอันขาด
ประการที่สี่ โดยปกติคดีมาตรา 112 113 116 อันเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงนั้น แม้จะมีผู้ไปร้องหรือแจ้งความที่สถานีตำรวจแต่พนักงานสอบสวนตามสถานีตำรวจต่างๆ ก็ไม่สามารถตัดสินใจดำเนินคดีได้ตามอำนาจหน้าที่ เพราะต้องมีการกลั่นกรองอยู่แล้วโดยคณะกรรมการคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทุกคดีต้องเข้ามาที่ปทุมวันหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อนจะตัดสินว่าจะรับดำเนินคดีหรือไม่ ดังนั้น การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 เสนอโดย สมศักดิ์ เทพสุทิน จึงซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีอยู่แล้ว
ประการที่ห้า เมื่อผมพิจารณาถึงที่มาของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 พบว่า มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐศาสตร์และสายนิติศาสตร์ อย่างละ 2 คน ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1 คน ตัวแทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด 1 คนและตัวแทนจากศาลฎีกา 1 คน
ถ้าหากกรรมการที่แต่งตั้งหรือสรรหามาไปในทางปฏิกษัตริย์นิยม anti-royalist โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทรงคุณวุฒิสายรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์อย่างละ 2 คนนั้น ใครจะเป็นผู้สรรหามา และหากสรรหามาแล้วได้กลุ่มล้มเจ้า หรือสมาทานลัทธิล้มเจ้ามาเป็นกรรมการชุดนี้จะเกิดอะไรขึ้น? ก็เป็นสิ่งที่ฉันควรตั้งคำถามได้ และหากเป็นเช่นนั้น คดีมาตรา 112 ก็อาจจะไม่ได้รับการดำเนินคดีต่อไปเลย
การชี้ขาดเจตนานั้นเป็นหน้าที่ของตุลาการที่จะพิพากษาวินิจฉัย แต่เหตุใดเล่าจึงนำประเด็นเรื่องการขาดเจตนามาใช้ไม่ดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนและชั้นอัยการเสียแล้ว ทำให้ผมมีความรู้สึกว่าไม่สบายใจว่าคดีจะถูกละเลยและประชาชนจะไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมจะถูกกัดกร่อนขาดวิ่นไปจากหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐหรือไม่
ถ้าเราได้มีการเก็บสถิติ เช่น สถิติการลงรายวันของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดี มาตรา 112 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับคดีที่มีการสั่งฟ้องและศาลประทับรับฟ้องนั้นคงจะได้ตัวเลขที่มีค่าต่ำมาก ไม่แน่ใจว่าจะถึงร้อยละ 5 หรือไม่
ประการที่หก ผมเห็นว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ซึ่งมีผู้แทนจากศาลฎีกานั้นเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยฝ่ายบริหาร
อำนาจอธิปไตยของไทยนั้น ประกอบด้วย หนึ่ง นิติบัญญัติ สอง บริหาร และ สาม ตุลาการ หลักการสำคัญ ก็คือว่า อำนาจตุลาการจะต้องเป็นอิสระและปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายบริหารโดยเด็ดขาด เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม
ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญมาก และถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สุดของคณะกรรมการกลั่นกรองคดีมาตรา 112 ที่นำเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สมศักดิ์ เทพสุทิน ผมขออนุญาตตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหากกระทรวงยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยใช้อำนาจบริหารได้แล้วนั้น ซึ่งในที่นี้เป็นการแทรกแซงได้ทั้งในชั้นตำรวจและชั้นอัยการ
โดยส่วนตัวเมื่อผมวิเคราะห์แล้ว ผมเห็นว่า การตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดี มาตรา 112 นี้ ไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น และจะเป็นผลเสียมากกว่าจะส่งผลดี เช่น จะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีล่าช้า เกิดความซ้ำซ้อนกับคณะกรรมการคดีความมั่นคงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีอยู่แล้ว หากการสรรหาได้องค์ประกอบมาจากคนซึ่งเป็นกลุ่มปฏิกษัตริย์นิยมย่อมทำให้คดีถูกตัดตอนออกไป
นอกจากนี้ ยังเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เป็นการสมควรแต่อย่างใด ในทางการเมืองคณะกรรมการชุดนี้เหมือนจะทำให้รัฐบาลและพรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงนิยมจากฝั่งปฏิกษัตริย์นิยม หรือ ฝั่งล้มเจ้าพอสมควร เพราะพยายามประนีประนอม
แต่ผมมีความเห็นในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การที่พยายามช่วยให้คนเหล่านั้นหลุดพ้นคดี หรือพยายามหาทางออก แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นการสร้างคะแนนนิยมแต่อย่างใด เพราะถึงจะช่วยแค่ไหนเขาก็ยังไม่ชอบหรือไม่คิดจะเปลี่ยนใจมาเลือกพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามอยู่ดี กลุ่มคนที่สมาทานลัทธิล้มเจ้าก็ยังคงจะต้องการเลือกพรรคการเมืองที่มีแนวความคิดล้มเจ้าซึ่งพวกเขาสนับสนุนต่อไป
ดังนั้น กรรมการชุดนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรเลยแม้ในทางการเมืองก็ไม่ได้ช่วยให้รัฐบาลได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดไม่ แต่กลับจะทำให้ประชาชนที่จงรักภักดีเกิดความคลางแคลงใจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม”
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น เปิดหน้า “โจนาธาน เฮด” นักข่าว BBC เคยโดนแจ้ง ม.112 ชาวเน็ตเชียร์ ไล่ตะเพิดเหมือนแอมเนสตี้!?
เนื้อหาระบุว่า จากกรณีที่ทางเพจ บีบีซีไทย-BBC Thai ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีบัญชีทรัพย์สินของ นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีม หลังจากที่ “ช้างศึก” ทีมชาติไทย ภายใต้การนำทีม มาโน โพลกิ้ง เทรนเนอร์เชื้อสาย บราซิล-เยอรมัน และ นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีม สามารถคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2020 ที่สิงคโปร์ ไปครองอย่างยิ่งใหญ่ หลังเอาชนะทีมชาติอินโดนีเซียในนัดชิงชนะเลิศ ด้วยประตูรวม 6 ต่อ 2 เมื่อ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ทำให้ BBC ไทย ถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ทีมข่าวเดอะทรูธ ตรวจสอบก็พบว่า ผู้จัดการออนไลน์ ได้เคยเผยแพร่บทความ หัวข้อ ลากไส้ “บีบีซีไทย” สันดานนักล่าอาณานิคม หรือหิวเงินรับงานใครมา ไว้เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2559 โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจว่า
“บีบีซี” ถือเป็นสำนักข่าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และตลอดกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ก็ได้รับการยอมรับในความเป็น “สื่อมวลชนมืออาชีพ” แม้จะเป็นที่รู้กันว่าสำนักข่าวแห่งนี้ เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศก็ตาม
แต่พลันที่เว็บไซต์ “บีบีซีไทย” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา นำเสนอรายงานพิเศษในลักษณะจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงของไทย จึงมีคำถามไปถึงทั้ง “บีบีซีใหญ่” และ “บีบีซีไทย” ว่า มีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นประการใด จึงหาญกล้าหยามเหยียดจิตใจคนไทยทั้งประเทศเช่นนั้น
ทั้งนี้ “บีบีซีไทย” นั้น มีข้อมูลยืนยันว่า ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอังกฤษผ่าน “บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส” และได้เริ่มเปิดให้บริการข่าวสารผ่านเฟซบุ๊กมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 หลังเกิดรัฐประหารในประเทศไทยไม่นาน ก่อนที่จะเปิดเว็บไซต์ตามที่กล่าวไปแล้ว
ก่อนหน้าที่จะมีประเด็นเรื่อง “บทความต้องห้าม” นั้น บทบาทของ “บีบีซี” ในไทย ก็มีเครื่องหมายคำถามมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะบทบาทของ “โจนาธาน เฮด” ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของบีบีซี และดูแลข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทยด้วย ก็ถูกจับตามองมาโดยตลอด ว่า มีแนวทางการนำเสนอข่าวที่ส่อไปในทางสนับสนุนปกป้อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก ตลอดจน “คนเสื้อแดง” อย่างชัดเจน สำคัญไปกว่านั้น “โจนาธาน เฮด” ผู้นี้ยังเคยถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูงของไทยมาแล้ว และเมื่อ “บีบีซีไทย” เผยแพร่บทความที่ว่าออกมา หน้าของ “โจนาธาน เฮด” ก็ลอยขึ้นช่วยเพิ่มน้ำหนักของการ มี “วาระซ่อนเร้น” เข้าไปอีก
ตามมาด้วยชื่อของ นพพร วงศ์อนันต์ ที่ปรากฏชื่อเป็นบรรณาธิการบีบีซีไทย เป็น “นพพร” อดีตบรรณาธิการนิตยสาร ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ และมีชื่อเสียงในการสร้างผลงานบิดเบือนเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงมาแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ BBC ไทย โดยบอกว่า โจนาธาน เฮด BBC ภาคพื้นแปซิฟิก เคยโดน 112 นพพร วงศ์อนันต์ BBC ไทย เคยบินไปหาทักษิณหลายครั้ง BBC ไม่ใช่สื่อสารมวลชน แต่เป็นหน่วยปฏิบัติการข่าว แบบมีวาระซ่อนเร้น น่าไล่ไปเหมือนแอมเนสตี้ ถ้าดูจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลกับทุกองค์กร
สำหรับ โจนาธาน เฮด เป็นผู้สื่อข่าว BBC เคยถูกแจ้งความข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ ม.112 ฐานจำหน่ายดีวีดีจักรภพและจัดแปลบทเสวนา วีระ-ณัฐวุฒิ ออกเผยแพร่
โดยปี 2552 น.ส.ลักษณา กรณ์ศิลป อายุ 57 ปี อาชีพนักแปลและที่ปรึกษาภาคอุตสาหกรรมบริษัทเอกชน เข้าแจ้งความร้องทุกข์ กับ พ.ต.ท.เดชา พรหมสุวรรณ พนักงานสอบสวน (สบ.3) สน.ลุมพินี ให้ดำเนินคดีกับ นายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชีย และกรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย หรือ FCCT รวม 13 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี
กรณีร่วมกันนำคำบรรยายพิเศษภาษาอังกฤษ ของนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 50 โดยอ้างว่ามีถ้อยคำเข้าข่ายดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์บันทึกเป็นวีซีดีออกจำหน่ายกับประชาชน รวมทั้งจัดแปลบทเสวนาของ นายวีระ มุกสิกพงศ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สองแกนนำ นปช. ซึ่งเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูง เป็นภาษาอังกฤษออกเผยแพร่
น.ส.ลักษณา กล่าวว่า เข้าแจ้งความครั้งนี้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่รักและเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากเห็นว่าพฤติกรรมของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ที่จัดเวทีเสวนาให้กับนายจักรภพ โดยมีการเตรียมคำถามคำตอบไปในทางพาดพิงสถาบัน และบันทึกเป็นดีวีดีออกเผยแพร่กับประชาชนนั้น เข้าข่ายร่วมกันทำในลักษณะขบวนการโดยอาจมีเป้าหมายทำลายความน่าเชื่อถือของ สถาบันเบื้องสูงของไทย และบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ ยังพบว่าอาจมีสื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของไทยร่วมขบวนการด้วย
ต่อมาเมื่อปี 2560 ตัวแทนกลุ่มเยาวชนสายเลือดไทย ได้เดินทางมายังด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน เพื่อยื่นหนังสือต่อเอกอัครราชทูตประเทศอังกฤษประจำประเทศไทย
โดยกล่าวว่า ตามที่ทางสำนักข่าวบีบีซีประจำประเทศไทย เสนอข่าวไม่เหมาะสมในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ การเป็นผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย ควรมีความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างดี ในฐานะเยาวชนผู้มีสายเลือดไทย จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลอังกฤษ ให้พิจารณาการกระทำของผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีประจำประเทศไทยดังกล่าว ให้ยุติบทบาทการทำหน้าที่ในประเทศไทย พร้อมทั้งให้สำนักข่าวดังกล่าวลงบทความขอโทษประชาชนชาวไทยทั้งประเทศด้วย
แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การต่อสู้ของขบวนการล้มเจ้าในประเทศไทย ที่เวลานี้ เริ่มหาวิธีการใหม่ในการต่อสู้มากขึ้น
อย่างในทางการเมือง ถือว่า “ดร.อานนท์” ชี้แจงเอาไว้อย่างชัดแจ้ง และมองทะลุกลเกมที่จะยื่นมือเข้ามาจัดการกับ คดี ม.112 ซึ่งถือว่า เป็นอุปสรรคสำคัญของขบวนการ “ล้มเจ้า” แม้ว่าจะเป็นการประนีประนอมมากขึ้นก็ตาม แต่ถ้าทำได้ ก็ไม่แน่ว่า ต่อไปจะรุกคืบหรือไม่
ในขณะเดียวกัน กรณีที่เพิ่งมีกระแส การนำเสนอข่าวทรัพสินของ “มาดามแป้ง” ทั้งที่ไม่มีน้ำหนักของประเด็นให้เชื่อมโยง แต่เมื่อทำความรู้จักกับ “โจนาธาน เฮด” ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของบีบีซี และดูแลข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทย ซึ่งเคยถูกแจ้งความคดี ม.112 มาแล้ว ก็ยิ่งเห็นชัดว่า ทำไมต้องนำเสนอข่าวเช่นนั้น โดยเฉพาะความพยายามที่จะตีวัวกระทบคราดหรือไม่ เนื่องจาก “สามี” มาดามแป้ง ตำแหน่งล่าสุด คือ “รองเลขาธิการพระราชวัง” ซึ่งก็ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย นับเป็นเรื่องที่น่าคิด เพราะประเด็นอื่นแทบไม่มีอะไรเลย?
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า ขบวนการ 3 นิ้ว ไม่ได้สร้างสรรค์ หรือก้าวหน้าทางความคิดแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับดูเหมือน “น้ำเน่า” เกินกว่าที่หลายคนคาดคิดด้วย หรือว่าไม่จริง?