ไม่แปลกใจ! ถ้า “ปิยบุตร” ลี้ภัย? นักวิชาการดัง ผู้แจ้งจับ 2 ข้อหาหนัก ม.108 และ 112 ดักคอไม่ใช่คดีการเมือง “ลดโทษคดีโกง” จาก 40 กว่าปี เหลือ 10 ปี คนไทยรับไม่ได้ “ทำดีซื่อสัตย์ท้อแท้” จี้ เลิกขอพระราชทานอภัยโทษ
น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (9 ธ.ค. 64) เพจเฟซบุ๊ก THE TRUTH โพสต์ประเด็น สะพัด “ปิยบุตร” จะลี้ภัย? นักวิชาการดัง ผู้แจ้งจับ 2 ข้อหาหนัก ดักคอนี่ไม่ใช่คดีการเมือง!
โดยระบุว่า จากเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 64 นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักประวัติศาสตร์ โพสต์ข้อความระบุว่า…บันทึกการไปโรงพัก แจ้งความอาจารย์ปิยบุตร วันนี้ เวลา 11.00 น. ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต อันที่จริงเคยแจ้งมาแล้วครั้งหนึ่ง ครั้งนี้นำเอกสารและหลักฐานไปมอบให้พนักงานสอบสวน
ทั้งนี้ เมื่อได้อ่านบทบัญญัติมาตรา 50 ในรัฐธรรมนูญซึ่งระบุว่า บุคคลมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข บุคคลอย่างเราๆ จึงมีสิทธิกล่าวโทษผู้ที่ไม่รู้จักหน้าที่ความเป็นคนไทยที่ตราไว้ในบทบัญัติของรัฐธรรมนูญ
ผมได้รวบรวมหลักฐานอันเป็นหลักฐานชั้นต้นของอาจารย์ปิยบุตร ที่เขียนขึ้นในทวิตเตอร์ ใน Facebook และในบล็อกคณะก้าวหน้า แม้ผมไม่ใช่นักกฎหมายเพราะเรียนมาทางประวัติศาสตร์ แต่ก็มีผู้รู้ทางกฎหมายได้เสนอแนวทางมาบ้าง
ผมอ้างข้อบทในรัฐธรรมนูญที่ มาตรา 3-4 ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ยกเว้นการละเมิดเรื่องความมั่นคง เมื่อเข้าไปดู ป.อาญา มาตรา 108 และ 112 มันน่าจะเข้าข่ายมาตรา 108 ผู้ใดกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิตผู้ใดพยายามกระทำการเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน
ถ้าการกระทำนั้นมีลักษณะอันน่าจะเป็นอันตรายแก่พระชนม์ ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการตระเตรียมเพื่อประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ หรือรู้ว่ามีผู้จะกระทำการประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระมหากษัตริย์ กระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี (เสรีภาพตามมาตรา 4 แห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ได้รับความคุ้มครองและเสมอภาพกัน)
มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
ดังนั้น ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกของอาจารย์ปิยบุตรที่จะโดนคดีจริงๆ เสียที หวังว่าการกระทำของเขาจะได้รับการสนอง ผมขอไม่บอกอะไรมาก เพราะสั้นๆกระชับๆ ครับ
ล่าสุด นายเทพมนตรี ได้โพสต์ข้อความถึงนายปิยบุตร โดยระบุข้อความว่า ถึงอาจารย์ปิยบุตร ระหว่างเราไม่มีความแค้นส่วนตัว อยากให้อาจารย์เข้าใจ ดังนั้น คดีความที่อาจารย์กำลังจะเผชิญตรงหน้ามันคือคดีอาญา ไม่ใช่คดีการเมือง
ผมเป็นคนรักเจ้า รักสถาบันพระมหากษัตริย์ และศึกษาเรื่องแบบนี้มานาน อาจนานกว่าอาจารย์ เพราะผมมีอายุแก่กว่าหลายปี ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นการปฏิรูปภายในพระบรมมหาราชวัง ทั้งในรัชกาลก่อนและรัชกาลปัจจุบันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ราชการงานภายในถูกจัดระบบ ระเบียบ มีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างมากมาย จนถ้าใครได้ทำการศึกษาอย่างจริงจัง ก็จะได้ทราบความจริง
ผมเองมองดูทรงแล้ว อาจารย์ปิยบุตร ไม่ได้ศึกษาแบบเจาะลึกในรายละเอียด หรือใช้ความถูกต้องยุติธรรมในการศึกษาค้นคว้าแต่อย่างใดเลย อาจารย์ใช้วิธีการเปรียบเทียบ หรือเทียบเคียงจากสถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศ จนหลงลืมรากเหง้าความเป็นไทยเรา (สยาม) และคิดเพ้อไปเองในหลายเรื่อง
อันที่จริงแล้ว ถ้า นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ เขามีความปรารถนาดีกับอาจารย์จริงๆ เขาต้องแนะนำอาจารย์ว่าให้ทำเรื่องราวการปฏิรูปสถาบันที่อาจารย์มุ่งมั่นนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายความเห็นแด่พระองค์ท่านโดยตรงก็ได้ เพราะเขาย่อมทราบถึงพระราชอัธยาศัยของพระองค์ท่านที่ทรงมีพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณสูงมาก โดยเฉพาะกับตัวของเขาเอง
ผมยังมองเห็นว่า ถ้าอาจารย์ได้ทำเช่นที่ว่านั้น มันจะเป็นการดีกับทุกฝ่าย แต่ทว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผมเองก็ไม่เคยได้เห็นเลย
สิ่งที่อาจารย์ได้กระทำมิได้เป็นเช่นนั้น มิได้มุ่งหวังให้เกิดการปฏิรูปอย่างประนีประนอม หรือต้องการให้สังคมไทยสงบสุข มีความสมานฉันท์ต่อคำเรียกร้อง ที่ผ่านมา อาจารย์พยายามสร้างวาทกรรมการปฏิรูปและการปฏิวัติสลับเล่นจนเกินความเหมาะสม จนกลายเป็นแบบอย่างให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษานำไปใช้เป็นข้อเรียกร้องจนเป็นคดีความ
อันที่จริงแล้ว ผมดูที่เจตนาของอาจารย์เป็นสำคัญ เพราะเราสองคนไม่เคยรู้จักกันแต่อย่างใด ไม่มีอดีตหรือชาติที่แล้วที่เราเป็นศัตรูกันแบบข้ามภพข้ามชาติ ไม่มีแม้แต่ชาตินี้ที่เราได้เกิดมาจนปัจจุบัน
ขอให้อาจารย์จงจดจำไว้ด้วยว่า คดีความที่อาจารย์จะได้รับจากการพูด การเขียนมันเป็นคดีความอาญา ไม่ใช่คดีการเมือง ในฐานะอาจารย์สมอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ย่อมต้องมีอุดมการณ์ความซื่อสัตย์ในแง่เป็นครูบาอาจารย์หรือนักเรียนอยู่บ้าง ที่เขาเรียกว่า จริยธรรมของนักนิติศาสตร์ ถ้าไม่ได้ถูกสั่งสอนมา ผมก็คิดไปเองว่าช่างน่าเสียดาย เหมือนอย่างที่ผมเรียนประวัติศาสตร์มาก็ย่อมมีหลักการและจริยธรรมเรื่องประวัติศาสตร์ที่ต้องยืนยันความจริงในอดีตจากหลักฐานที่ถูกต้อง
…..แต่ทว่า ความจริงในวันนี้ของอาจารย์ที่จะต้องใส่ใจเอาไว้ ก็คือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 108 และมาตรา 112 มันคือคดีความอาญา ไม่ใช่คดีความการเมือง การมุ่งหวังจะไปลี้ภัย มันจึงเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายหลายชั้น
ยกเว้นว่า อาจารย์สิ้นแล้วซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบทั้งในใจที่คิดและการกระทำที่แสดงออก!
ขณะเดียวกัน THE TRUTH ยังโพสต์ประเด็น คนไทยลุกฮือ! จี้ รมว.ยธ.แจง เลิกลดโทษคดีโกง กระทุ้งถึงนายกฯ ปชช.รับไม่ได้
เนื้อหาระบุว่า จากที่ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความถึงนักโทษคดีสำคัญๆ ได้รับการลดโทษแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ บิ๊กเนมคดีทุจริตจำนำข้าว คดีทุจริตท่องเที่ยว ฯลฯ ทุจริตก็ติดคุกกันแค่นั้น? กระบวนการยุติธรรมถูกบ่อนเซาะจนแทบไร้ความหมาย???
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของทีมข่าวเดอะทรูธ พบว่า เอกสารของประกาศราชกิจจาฯ ได้กำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุก หรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ นักโทษเด็ดขาด ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีความประพฤติดี มีความอุตสาหะ มีความก้าวหน้า ในการศึกษา และทำการงานเกิดผลดี หรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ อาจได้รับการพิจารณาเลื่อนชั้น
การแต่งตั้งให้มีตำแหน่งหน้าที่ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานเรือนจำ การลดขั้นต้องโทษ จำคุก การลดวันต้องโทษจำคุกลงอีกไม่เกินจำนวนวันที่ทำงานสาธารณะ หรือทำงานอื่นใดเพื่อประโยชน์ ของทางราชการนอกเรือนจํา การพักการลงโทษ การฝึกวิชาชีพในสถานประกอบการนอกเรือนจํา หรือ การรับการศึกษาอบรมนอกเรือนจํา โดยให้นำพฤติการณ์การกระทำความผิด ลักษณะความผิด ความรุนแรงของคดี และการกระทำความผิดที่ได้กระทํามาก่อนแล้ว มาประกอบการพิจารณา ให้ประโยชน์ในแต่ละกรณีด้วย
โดยให้ผู้บัญชาการเรือนจำแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบการเลื่อนขั้นนักโทษชั้นเด็ดขาดประจำเรือนจำ ประกอบด้วยผู้บัญชาการเรือนจำเป็นประธาน และเจ้าพนักงานเรือนจำจำนวนไม่น้อยกว่าห้าคนเป็นคณะทำงาน และให้เจ้าพนักงานเรือนจำคนหนึ่งเป็นเลขานุการ
ทำให้ นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี แสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า
“#การลดโทษของราชทัณฑ์ กรณีล่าสุด ที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะคดีรับจำนำข้าวและคดีอื่นๆ ได้รับการลดโทษ ซึ่งดำเนินการโดยกรมราชทัณฑ์
1. นายภูมิ สาระผล จากโทษจำคุก 36 ปี ล่าสุด เหลือวันต้องโทษ 8ปี 2. นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ กำหนดโทษจำคุก 48 ปี ล่าสุด เหลือวันต้องโทษ 10 ปี 3. นายมนัส สร้อยพลอย กำหนดโทษจำคุก 40 ปี ล่าสุด เหลือวันต้องโทษ 8 ปี 4. นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) กำหนดโทษ 48 ปี ล่าสุด เหลือวันต้องโทษ 6 ปี 3 เดือน 5. นางจุฑามาศ ศิริวรรณ กำหนดโทษ 75 ปี ล่าสุด เหลือวันต้องโทษ 9 ปี 5 เดือน
สิ่งที่ต้องช่วยกันพิจารณา นั่นคือ การทุจริตที่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชาติ แม้จะผ่านกระบวนตุลาการโดยใช้เวลาหลายปี แต่สุดท้าย ก็ถูกกำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ ให้เหลือไม่กี่ปี
แบบนี้นักการเมืองจะไม่กลัวเรื่องโกง เพราะขนาดเป็นแสนล้านยังเหลือไม่กี่ปี น่าจะต้องมีการทบทวนระเบียบได้แล้ว โดยเฉพาะคดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ขณะที่ นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว “Nantiwat Samart” ว่า “โกงแผ่นดินแสนล้าน กว่าศาลจะลงโทษแรมปี ติดคุกแปร๊บเดียว ลดโทษเร็ว โกงแผ่นดินควรลดโทษมั้ย”
ต่อมาเมื่อข้อความของอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองฯเผยแพร่ออกไปก็ปรากฏว่ามีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก อาทิ
เหรียญทอง แน่นหนา “เห็นด้วยกับพี่เป็นอย่างยิ่ง เพราะหน่อมแน้มช่วยเหลือกันอย่างนี้ มันจึงไม่เกรงกลัวกฎหมายกัน ชาติก็ไม่มีวันเจริญ คนทำดีซื่อสัตย์มันก็ท้อแท้กันไปหมด ผมเห็นข่าวนี้แล้วบอกพี่ตรงๆ ว่า รู้สึกท้อ”
ด้าน นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา ก็ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดต่อกรณีดังกล่าวด้วยเช่นกันว่า “ต้องยกเลิกระเบียบการขอพระราชทานอภัยโทษบางข้อ โดยเฉพาะนักโทษโกงชาติ ให้เสมอล้มล้างราชวงศ์”
จากนั้นก็มีคนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีบางข้อความที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ชวนให้ประชาชนคนไทย ตั้งคำถามในความน่าสงสัยในเรื่องดังกล่าว ว่า
“เห็นด้วยค่ะ ควรแก้กฎหมายการขอพระราชทานอภัยโทษ ไม่ให้นักโทษข้อหาร้ายแรงประเภททำร้ายทำลายประเทศชาติไม่ว่ารูปแบบใด ได้รับการเสนอชื่อเข้าขอการอภัยโทษได้ง่ายๆ
คำตัดสินของศาลไม่ได้เป็นไปตามนั้น เพราะขออภัยโทษได้ ซึ่งมีวาระมากมาย คนทำผิดหนักๆติดคุกไม่กี่ปีก็ออกได้แล้ว ไม่สมกับความผิดเลย”
แน่นอน, ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ ก็คือ ความผิดของนักการเมือง เทียบกับคนธรรมดา
นักการเมือง เมื่อทำความผิด มีหลายทางเลือก ต่อให้เป็นคดีอาญา ซึ่ง ไม่สามารถลี้ภัยทางการเมืองได้ก็ตาม คือ สู้คดีอย่างลูกผู้ชาย แพ้คดีก็ติดคุก สอง หนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ อย่างหน้าตัวเมีย และสาม “ลี้ภัย” โดยอ้างถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แม้ว่า แท้จริงแล้ว ทำผิดคดีอาญา อย่าง ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นต้น
ส่วนคนธรรมดา ไม่ว่าคดีอะไรก็ตาม มีทางเลือกเดียวคือ สู้คดี แพ้ติดคุก และเป็น “แพะรับบาป” ชนะก็รอดตัวไป โดยที่ไม่มีใครสนใจ
แต่ไม่เพียงเท่านั้น สำหรับนักการเมือง ยังมีการลดโทษแบบก้าวกระโดดอีกต่างหาก
ยิ่งล่าสุด ที่พบว่า นักโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน โกงกินบ้านเมือง อย่าง คดีทุจริตจำนำข้าว และอื่นๆ มีการลดโทษครั้งเดียว กว่า 30 ปี ตัวอย่าง นายบุญทรง เตริยาภิรมณ์ กำหนดโทษจำคุก 48 ปี ล่าสุดเหลือวันต้องโทษ 10 ปี เป็นต้น
เห็นได้ชัดว่า ความแตกต่างราวฟ้ากับดิน ไม่รู้ใครเป็นคนกำหนด การลดครั้งนี้ มีการเมือง มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องหรือไม่ และก็ไม่แปลกที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างสูง
ขณะเดียวกัน การหนีคดี และการลี้ภัยทางการเมือง สำหรับนักการเมือง ก็ง่ายราวปอกกล้วยเข้าปาก ต่อให้เป็นคดีอาญา ถ้าเส้นสายใหญ่โตกว้างขวาง ใกล้ชิดกลุ่มการเมืองข้ามชาติ จากคดีอาญาที่เป็นข้อตกลงไม่ให้ลี้ภัย ก็จะกลายเป็นคดีกลั่นแกล้งทางการเมืองไปทันควัน
และต่อให้เป็นพวกที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ก็ไม่เคยที่จะยึดถือความเป็นธรรมอย่างแท้จริง เมื่อเป็นผลประโยชน์ตัวเอง อย่าง กรณีปิยบุตร ถ้าลี้ภัยจริง ก็ไม่ต่างกัน ที่ไม่ทำตัวเสมอคนธรรมดา หรือไม่จริง