xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.สมชายเอือม พิพากษาคดีโกงไร้ความหมาย ยุติธรรม-ราชทัณฑ์ลดโทษกระหน่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สมชาย แสวงการ" ส.ว.สรรหา เอือม กระทรวงยุติธรรม-กรมราชทัณฑ์ลดโทษนักโทษคดีโกงจำนำข้าวแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซล อ้างไม่ให้คนล้นคุก ประหยัดงบประมาณ ทั้งที่ศาลและอัยการเหน็ดเหนื่อยพิจารณาคดี แต่แทบจะไร้ความหมาย

วันนี้ (8 ธ.ค.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความระบุว่า "โปรดอ่านซ้ำอีกครั้ง คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง คดีจำนำข้าว เมื่อ 28 พ.ค. 2562 เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตัดสินจำคุกจำเลยในคดีสูงสุด 50 ปี 48 ปี 42 ปี 40 ปี 36 ปี 32 ปี 24 ปี 16 ปี 8 ปี 4 ปี จะได้ชัดเจนครับว่า กว่าศาลฎีกาจะพิพากษานั้นต้องพิจารณาทั้งสำนวน พยานหลักฐานและพยานบุคคลจนสิ้นสงสัย

แต่คำพิพากษานั้นแทบจะไร้ความหมาย? เมื่อมีปัญหาว่าราชทัณฑ์มีอำนาจเหนือตุลาการ? คำพิพากษาที่ถึงที่สุดหรือของศาลฎีกา ถูกยกเลิก เพิกถอน โดยอำนาจที่ไม่ใช่อำนาจตุลาการ โดยอาจอ้างเพียง "เพื่อการบริหารคนไม่ให้ล้นคุก ประหยัดงบประมาณ" แต่ลืมไปเสียซึ่งหลักการลงโทษทางอาญา ทฤษฎีการลงโทษ ทฤษฎีป้องกันปราบปราม ทฤษฎีตัดผู้กระทำผิดบุคคลอันตรายออกจากสังคม ฯลฯ

คดีทุจริตจำนำข้าวมีความเสียหายมากถึง 700,000 ล้านบาท มีชาวนาฆ่าตัวตาย 23 คน มีการชุมนุมประท้วงของ กปปส. และพี่น้องประชาชนหลายล้านคน เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนจากการถูกยิงด้วยอาวุธสงคราม และระเบิดมือจำนวนมาก จนนำไปสู่การประกาศกฎอัยการศึกวันที่ 20 พ.ค. และนำไปสู่การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พ.ค. 2557 และริเริ่มการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน ตามข้อเรียกร้องของพี่น้องประชาชน รวมทั้งข้อสัญญาที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

แต่สิ่งที่ปรากฏในวันนี้คือ การที่ราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมมีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาหรือไม่ ในการสามารถใช้กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติ ให้อำนาจผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการราชทัณฑ์ที่มีสามารถมีอำนาจเหนือตุลาการ?"

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

นอกจากนี้ นายสมชายยังโพสต์ข้อความระบุว่า "เห็นชื่อบิ๊กเนมคดีทุจริตจำนำข้าว คดีทุจริตท่องเที่ยว ฯลฯ ได้รับการลดโทษกระหน่ำซัมเมอร์เซล ขอเสนอไอเดียปิ้งปลาประชดแมวดีมั้ยครับ เรียกร้องให้ศาลไทยมีคำพิพากษาคดีทุจริตได้ไม่เกิน 5 ปี เพราะข้อเท็จจริง หลายๆ คดีทุจริตก็ติดคุกกันแค่นั้น? เลิกๆ ไปเถอะครับ กับข้อเสนอปฏิรูปเรียกร้องให้ทุจริตไม่มีอายุความ เพราะข้อเท็จจริงคือ คดีทุจริตไม่มีอายุติดคุกจริง กระบวนการยุติธรรมถูกบ่อนเซาะจนแทบไร้ความหมาย

การสืบสวนสอบสวนทุกขั้นตอนกว่าที่ ป.ป.ช.จะรวบรวมเอกสารสำนวนคดีจนมีมติและส่งฟ้อง แถมยังต้องลุ้นว่าอัยการสั่งฟ้องหรือไม่ หรือต้องตั้งคณะกรรมการร่วมหรือต้องฟ้องเอง ก็สู้กันหลายยก หมดงบประมาณไปมากโขและหมดเวลาหลายปี กว่าศาลฎีกาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะใช้เวลาพิจารณาคดี จนถึงวันตัดสินคดีพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคดีทุจริตกันได้นั้น ต้องชัดเจนมากๆ ทั้งพยานหลักฐานและพยานบุคคล จนสิ้นสงสัย ถึงได้ตัดสินโทษพิพากษาหนักจำคุกจำเลย 50 ปีได้

แต่แล้วกลับเจอขบวนการปลายน้ำในชั้นในคุก ที่น่าจะใหญ่กว่ากระมัง? ไม่ว่าศาลจะลงโทษจำคุก 50 ปีมามากมายไปเท่าใดก็เท่านั้น ผู้ต้องหาคดีทุจริตทั้งหลาย ให้มีเหตุทำเรื่องยกเกรดกลายเป็นนักโทษชั้นดีพรีเมียม ทำเรื่องขอลดโทษ ขอพระราชทานอภัยโทษกันขึ้นไปปีละหลายหน จนติดคุกจริงกันแค่ไม่กี่ปี หนี้จำนำข้าว 700,000 ล้านคนไทยยังผ่อนดอกผ่อนต้นใช้หนี้ไปไม่ถึงไหน? 555 ปีหน้าช่วยกันหามช่วยกันแห่ทำเรื่องกันอีกรอบ ก็ออกมาสุขีสุโขไชโยกันแล้ว #น่าอนิจจาประเทศไทย

อ่านโพสต์ต้นฉบับ คลิกที่นี่

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดประโยชน์ของนักโทษเด็ดขาด และเงื่อนไขที่นักโทษเด็ดขาด ซึ่งได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกหรือการพักการลงโทษและได้รับการปล่อยตัวต้องปฏิบัติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ลงนามเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564

โดยปรับแก้ในข้อ 42 "ในกรณีปกติ นักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไปอาจได้รับการพักการลงโทษไม่เกินหนึ่งในสามของกำหนดโทษที่ระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเด็ดขาด กรณีตามวรรคหนึ่ง หากมีการพระราชทานอภัยโทษ ให้ถือกำหนดโทษตามหมายแจ้งโทษเด็ดขาดฉบับหลังสุด ในกรณีนักโทษเด็ดขาดมีวันลดวันต้องโทษจำคุกตามมาตรา 52 (6) ให้นำมารวมกับระยะเวลาพักการลงโทษตามวรรคหนึ่งด้วย"

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่ปัจจุบันเรือนจำแต่ละแห่งมีผู้ต้องขังจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาความแออัดภายในเรือนจำ ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการจัดสวัสดิการและการแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยของผู้ต้องขัง ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวและให้โอกาสแก่นักโทษเด็ดขาดซึ่งกระทำความผิดซ้ำและนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ซึ่งมีความประพฤติดีและได้รับโทษจำคุกมาแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้เร็วขึ้น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การพักการลงโทษในกรณีปกติให้แก่นักโทษเด็ดขาดตั้งแต่ชั้นกลางขึ้นไป จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ต่อมาวันที่ 5 ธ.ค. มีการพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ และปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ รอบ 2 ปรากฏว่ามีนักการเมืองและอดีตข้าราชการระดับสูงที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เช่น

- นายภูมิ สาระผล อายุ 65 ปี อดีต รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิพากษาจำคุก 36 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษเหลือจำคุก 12 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 8 ปี กำหนดพ้นโทษ 25 ส.ค. 2568

- นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 61 ปี อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว พิพากษาจำคุก 48 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษเหลือจำคุก 16 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 10 ปี กำหนดพ้นโทษ 21 เม.ย. 2571

- นายมนัส สร้อยพลอย อายุ 69 ปี อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ พิพากษาจำคุก 40 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรก ลดโทษรอบสอง เหลือจำคุก 8 ปี กำหนดพ้นโทษ 11 ก.ค. 2569

- นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อายุ 64 ปี นักธุรกิจค้าข้าว พิพากษาจำคุก 48 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรกลดโทษเหลือจำคุก 9 ปี รอบสอง เหลือจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน กำหนดพ้นโทษ 26 ธ.ค. 2566

นอกจากนี้ ยังมี นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อายุ 75 ปี อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ต้องหาคดีทุจริตรับสินบนเงินใต้โต๊ะการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ (Bangkok International Film Festival) ปี 2545 พิพากษาจำคุก 50 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม รอบแรกเหลือจำคุก 17 ปี รอบสองเหลือจำคุก 9 ปี 5 เดือน 24 วัน กำหนดพ้นโทษ 16 ก.ย. 2569


กำลังโหลดความคิดเห็น