xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้น! ก.ก.ถ.พิจารณาสิทธิรักษาพยาบาล คนท้องถิ่นทุกประเภท เทียบ ขรก.ทั่วไป หลังปี 64 ใช้สิทธิทะลุ 6.9 พัน ลบ.ค้างเงิน สปสช. 1 พัน ลบ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลุ้น! ก.ก.ถ. พิจารณาเกณฑ์จัดสรรเงินอุดหนุนสิทธิรักษาพยาบาล ขรก./ลูกจ้าง/ครอบครัว คนท้องถิ่นทุกประเภท เทียบเท่าข้าราชการทั่วไป ตามข้อเสนอจัดสรรเงินอุดหนุน ปีละ 6 พันล้าน คงไว้ทั้งที่ มท.- สปสช. แทนโอนตรงถึงท้องถิ่น เหตุ “อปท.” ยังแตกต่างทั้งขนาด/รายได้ แต่ให้สำนักงบฯ จัดสรรให้ครบถ้วนตามจำนวนบุคคลผู้มีสิทธิ พบคนท้องถิ่นเบิกค่ารักษาปี 64 เพิ่มขึ้นกว่า 6,949 ล้านบาท ค้างจ่าย สปสช.กว่า 1,223 ล้านบาท

วันนี้ (22 ธ.ค. 64) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า สุดสัปดาห์นี้ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเตรียมพิจารณาประเด็นการจัดสรรงบประมาณสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่น

เพื่อให้ความเห็นชอบให้ “เงินอุดหนุนรายการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและพนักงานท้องถิ่น” ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภทในภาพรวม

ให้ข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของ อปท. สามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อย่างมั่นคงในลักษณะเดียวกับข้าราชการทั่วไป และไม่เป็นภาระด้านการคลังและงบประมาณของ อปท. ใด อปท. หนึ่ง

โดยตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ก.ก.ถ. ยังให้คงตั้งงบประมาณไว้ที่ กรมส่งเสริมการปกครองสว่นท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย และยังคงเป็นการเบิกจ่ายแทนกันระหว่าง สถ. กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตามกฎหมายและข้อตกลง ตามที่เคยปฏิบัติ

ขอ ก.ก.ถ. ให้ สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายการดังกล่าวให้ครบถ้วนตามจำนวนบุคคลผู้มีสิทธิรับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

ทั้งในส่วนของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นที่มีสิทธิเดิม ผู้มีสิทธิใหม่หรือข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่นที่บรรจุใหม่ ข้าราชการที่ได้รับการถ่ายโอน

รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่มีสิทธิรับบริการสาธารณสุขฯ อัตราการใช้บริการจำนวนครั้ง/คน/ปี และรายจ่ายจริงของไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. - ธ.ค.) ตามที่ สปสช. สำรวจและตรวจสอบ โดยข้อมูลดังกล่าว ให้ส่งให้ สถ. เพื่อจัดทำคำขอตั้งงบประมาณ

สำหรับข้อเสนอดังกล่าว มาจากหลาย อปท. เนื่องจาก พบว่า รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่นดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อปท. ทั้งหมดมีความแตกต่างกันในด้านขนาดและรายได้อย่างชัดเจน จึงยังไม่จำเป็นที่จะจัดสรรงบประมาณโดยตรงไปยัง อปท.

“โดยปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มีรายจ่ายค่ารักษาพยาบาล 3,389 ล้านบาท ปีงบประมาณ 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 4,691 ล้านบาท และในปีงบ 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 6,949 ล้านบาท โดยในปีงบ64 พบว่ามีการเบิกจ่ายใน 3 ระบบ คือ ระบบเบิกจ่ายตรง ระบบใบเสร็จรับเงิน และระบบการฟอกเลือดล้างไต มีการเบิกจ่ายรวมเป็นเงิน 6,949,107,253 บาท จากงบประมาณค่ารักษาพยาบาลที่ได้รับจัดสรร จำนวน 5,741,583,700 บาท ส่งผลให้มีเงินค้างจ่าย จำนวน 1,223,036,327 บาท”

ในขณะที่งบประมาณที่ สปสช. ได้รับการจัดสรรลดลง เช่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 4,001 ล้านบาท ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ได้รับการจัดสรร 3,581 ล้านบาท ซึ่งไม่สอดคล้องกับรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลในแต่ละปี

ทั้งนี้ สปสช. ได้รับการพิจารณาเห็นชอบจาก ก.ก.ถ. ให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม ในปีงบ2558 จำนวน 1,000 ล้านบาท และปีงบ 2561 จำนวน 3,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหางบประมาณที่ไม่เพียงพอ ในปีงบประมาณดังกล่าวได้

ขณะที่ ในปีงบ 2564 สปสช. ได้รับงบประมาณ 5,715 ล้านบาท แต่มีรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของพนักงานส่วนท้องถิ่นที่เบิกจ่าย 6,949 ล้านบาท ติดลบ 1,223 ล้านบาท และในปีงบ 2565 ได้รับงบประมาณ 5,983 ล้านบาท คาดว่างบประมาณจะติดลบเป็น 3,099 ล้านบาท

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่องบประมาณค่ารักษาพยาบาล คือ อัตราการใช้บริการครั้ง/คน/ปี โดยในปีงบ 2557 มีอัตราการใช้บริการเท่ากับ 3.1 ครั้ง/คน/ปี ปีงบ 2558เพิ่มขึ้นเป็น 4.17 และปีงบ 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 5.23 ครั้ง/คน/ปี

ขณะที่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน/ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยในปีงบ 2557ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน/ปี เท่ากับ 5,925 บาท และในปีงบ 2564 เท่ากับ 10,989 บาท เนื่องจากราคาค่าเวชภัณฑ์และจำนวนผู้มีสิทธิในการเบิกจ่ายเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ภาระด้านงบประมาณของ สปสช. เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด

ทำให้ สปสช. ประสบปัญหาการจัดสรรไม่เพียงพอ งบประมาณ ขาดช่วงอันเป็นผลจากขั้นตอนการเบิกจ่ายงบประมาณแทนกัน โดยพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้โอนเงินงบประมาณตรงให้กับ อปท. มีผลต่อ Risk Pooling ทำให้ อปท. ขนาดเล็กได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ

“สปสช. เห็นว่า สงป. ควรจัดสรรงบประมาณในแต่ละปีให้เพียงพอ ควรปรับเปลี่ยนวิธีการและขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณ และพิจารณาหาหน่วยรับงบประมาณ และขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อสนับสนุน อปท. เป็นเงินอุดหนุนทั่วไปรายการค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาล”


กำลังโหลดความคิดเห็น