xs
xsm
sm
md
lg

“ราเมศ” เผย ปชป.ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ คุมเข้มโทษหนัก หลังลดโทษโกงจำนำข้าว จาก 48 ปี เหลือเพียง 10 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เผย ปชป.ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ คุมเข้มโทษหนัก หลังลดโทษโกงจำนำข้าว จาก 48 ปี เหลือเพียง 10 ปี เชื่อคนไทยใจหายรับไม่ได้

วันนี้ (16 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีการพักโทษ ลดโทษในคดีทุจริตตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ว่า พรรค ปชป.มีมติให้ยื่นร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ต่อสภา เพื่อให้มีการแก้ไขในประเด็นที่สำคัญ เช่น รูปแบบโครงสร้างของคณะกรรมการราชทัณฑ์ ให้มีความอิสระ โปร่งใส และมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง หลักเกณฑ์การลดวันต้องโทษจำคุก โดยเฉพาะคดีทุจริตจะมีการกำหนดความสำคัญไว้ให้มีกระบวนการที่รัดกุม และให้มีคณะกรรมการพิจารณาลดวันต้องโทษจำคุกคดีทุจริต โดยมีกระบวนสรรหาคณะกรรมการเช่นเดียวกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้มีความอิสระที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาขั้นต้น หากคดีที่มีคำพิพากษาให้ต้องโทษจำคุก 15 ปีขึ้นไป ต้องส่งไปให้ศาลที่คดีถึงที่สุดพิจารณาการลดวันต้องโทษจำคุก โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีการรับโทษมาแล้วกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลได้มีคำพิพากษา เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว ถึงจะมีสิทธิได้รับการพิจารณาลดโทษ เช่นเดียวกับคดียาเสพติดที่ร้ายแรง และคดีอื่นๆ ที่เป็นภัยต่อสังคมอย่างร้ายแรง

นายราเมศ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีการยกร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไว้แล้ว รอการพิจารณาร่วมกันของคณะกรรมการกฎหมายพรรค เพื่อที่จะให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ลงลายมือชื่อเพื่อยื่นต่อสภาต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกฎหมายของพรรครวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่ที่มีข่าวเรื่องการลดวันต้องโทษจำคุกของจำเลยในคดีจำนำข้าว ซึ่งถือได้ว่าเป็นคดีที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติเป็นอย่างมากสูญเสียงบประมาณแผ่นดินไปหลายแสนล้านบาท และศาลได้มีคำพิพากษาให้จำคุกบางราย ศาลตัดสินจำคุก 48 ปี ในปี 2560 แต่ขณะนี้ได้มีการลดวันต้องโทษมาหลายครั้งจนท้ายที่สุดปัจจุบันเหลือวันต้องโทษ 10 ปี เป็นการลดวันต้องโทษที่ประชาชนคนไทยใจหายมากที่สุด เพราะจำเลยแต่ละคนสร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาล แต่กลับติดคุกจริงเพียงระยะเวลาอันสั้น

“ตุลาการที่ได้พิพากษาตัดสินไปแล้วก็เกิดความไม่สบายใจ เพราะเมื่อตัดสินไปแล้วไม่มีอำนาจเข้าไปมีส่วนในกระบวนการต่างๆ เลย ข้อเท็จจริงในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายคดี คดีที่ฆ่าผู้อื่นเป็นคดีอุกฉกรรจ์ ตัดสินจำคุก ตลอดชีวิต ท้ายสุดติดคุกจริงไม่กี่ปี ความจริงเหล่านี้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายราชทัณฑ์ เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ให้มีความโปร่งใสมีคณะกรรมการที่มีความอิสระและท้ายที่สุดให้ศาลได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดระยะเวลาปลอดภัยให้สังคม ถือว่าเป็นแนวทางที่ดีที่สุด โดยจะมีการยื่นต่อสภาฯ ในสัปดาห์หน้า” นายราเมศ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น