“เชาว์” จี้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์แจงหลักเกณฑ์ลดโทษให้นักโทษคดีจำนำข้าว ชี้ ผิดปกติตั้งแต่กรณี “สรยุทธ” ถามคนเหล่านั้นทำคุณงามความดีอะไร แนะหน่วยงานราชทัณฑ์ต้องเป็นอิสระไม่ควรขึ้นตรงกับกระทรวงใด
วันที่ 15 พ.ย. 2564 นายเชาว์ มีขวด ทนายความ และอดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “คดีนักการเมืองโกงชาติ ยุติธรรมต้องลงโทษอย่างไร ?”
โดย นายเชาว์ กล่าวว่า ยุคหลังๆ นักโทษคดีใหญ่ๆ ซึ่งยุ่งเกี่ยวกับการเมือง นักธุรกิจใหญ่ เข้าไปอยู่ในเรือนจำมากมาย เพราะมาตรการของศาลที่เข้มข้น ตอนนี้คนรวยก็ติดคุกได้ แต่เวลาไปอยู่ในเรือนจำต่างกันทันที ไม่เฉพาะคดีทุจริตจำนำข้าว อย่างกรณีนักข่าวดัง ตนก็เคยเอามาตีแผ่
การปฏิบัติต่อนักโทษในเรือนจำ เรื่องพิจารณาการลดโทษ การพักโทษ สำคัญคือชั้นนักโทษ ซึ่งดุลพินิจสูงสุดเป็นของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวยุติธรรม เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
ตามหลักเกณฑ์วางไว้ดี กรณีเลื่อนชั้นนักโทษ ปกติค่อยๆ ขยับ ใน 1 ปี ทำได้ 2 ครั้งเท่านั้น แต่ถ้ามีเหตุกรณีพิเศษ ให้อำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์พิจารณาลดโทษได้
นายเชาว์ กล่าวอีกว่า เรียกร้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า มีหลักเกณฑ์กำหนดชั้นโทษขาใหญ่ในเรือนจำอย่างไร พวกเขาทำคุณงามความดีอะไร ต้องตอบสังคมให้ได้ อย่างกรณีเสี่ยเปี๋ยง ปีเดียวได้เลื่อนชั้นถึง 4 ครั้ง
ชั้นนักโทษสำคัญ เพราะจะนำพาไปซึ่งการพิจารณาลดโทษ เมื่อมีพระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ นักโทษที่ได้ชั้นเยี่ยม จะได้รับวันลดโทษในอัตราสูงกว่าคนอื่น ทุกคนจึงต้องการเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมในเวลาอันรวดเร็ว ตามหลักแล้ว จากนักโทษชั้นกลาง 6 เดือน เลื่อนขึ้นเป็นชั้นดี อีก 6 เดือน เลื่อนเป็นดีมาก และอีก 6 เดือน ขึ้นเป็นชั้นเยี่ยม ถ้าทำดีและภายใต้หลักเกณฑ์ และต้องเป็นธรรมกับนักโทษรายอื่นด้วย ไม่ใช่เพราะมีเงิน มีอิทธิพล อยู่สบายแล้วยังใช้อำนาจเงิน อิทธิพลส่วนตัวจูงใจให้ข้าราชการช่วยเหลือ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากปล่อยไปโดยไม่มีคำตอบจะเป็นค่านิยมที่ผิดๆ
นายเชาว์ กล่าวด้วยว่า งานราชทัณฑ์ไม่ควรขึ้นตรงกับกระทรวงใด เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมือง เป็นผู้ทุจริต แล้วเอานักการเมืองมาคุม ซึ่งคุ้นเคยกันมา มีผลประโยชน์ร่วมกัน รัฐมนตรีมีอำนาจในการแต่งตั้งอธิบดีฯ สามารถสั่งการได้ กรมราชทัณฑ์ หรือหน่วยงานราชทัณฑ์ ควรตั้งออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ