“นพ.ธีระวัฒน์” แนะรับมือ “โอไมครอน” ที่วัคซีนอาจเอาไม่อยู่ ด้วยการเปิดใจใช้ยาที่ตะวันตกคัดค้าน ไม่ว่าจะเป็น “ไอเวอร์เมคติน-ฟ้าทะลายโจร-ฟลูโวซามีน”
วันที่ 14 พ.ย. 2564 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน”
โดย ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ได้กล่าวว่า โควิดสายพันธุ์โอไมครอน เราภาวนากันว่าอาการจะไม่หนัก แต่ต้องพิจารณาหลายอย่าง เพราะช่วงแรกๆ พบในเด็กนักศึกษาอายุไม่มาก และฉีดวัคซีนกันหมด แต่ต้องไม่ลืมหากแพร่ไปในกลุ่มเสี่ยงก็จะเริ่มเห็นสถานการณ์ไม่สู้ดี
ปัจจัยอีกอันคือ แพร่เชื้อได้เร็วกว่าเดลตา 2-5 เท่า แม้ดูเหมือนอาการไม่มาก แต่เมื่อมีคนติดเพิ่มมากขึ้น อัตราผู้มีอาการหนักก็จะเป็นไปตามสัดส่วนของผู้ติดเชื้อตามไปด้วย ในอังกฤษเอง เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว ก็ประเมินสถานการณ์ว่า ถ้าหากฉีดวัคซีนกระตุ้นใหม่พอที่จะยับยั้งได้บ้าง คิดในทางดีที่สุด จะมีผู้ติดเชื้อในอังกฤษนับตั้งแต่ 1 ธ.ค. 64 - 30 เม.ย. 65 จำนวน 20.9 ล้านคน มีผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล 275,000 ราย มีผู้เสียชีวิต 24,700 ราย ส่วนทางเลวร้ายที่สุด จะมีผู้ติดเชื้อ 34.2 ล้านคน จาก 60 กว่าล้านคนของอังกฤษ เข้าโรงพยาบาล 496,000 ราย เสียชีวิต 74,900 คน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า วัคซีนที่ฉีดกันอยู่ขณะนี้ เชื้อตายพอพ้นเข็ม 2 ไป 2 เดือน ก็ใช้ไม่ได้แล้ว พ่วงยี่ห้ออื่นเป็นเข็มที่ 3 เมื่อมาปะทะโอไมครอนอาจอยู่ได้ประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น ขนาดคนที่ฉีดไฟเซอร์ 3 เข็มยังเอาไม่อยู่ ต่อไปนี้เราคงต้องฉีดซ้ำซาก
แล้ววัคซีนที่เรามีอาจไม่พอ เมื่อต้องฉีดใหม่หมดเลย และกระชั้นชิด ยิ่งฉีดมากก็ยิ่งเสี่ยงจากการฉีดอีก ตนเลยพยายามเผยแพร่ข้อมูลการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง อันนี้มีความหมายมาก อย่างโมเดอร์นา 1 ขวด ใช้ได้ 10 คน ก็จะเป็น 100 คนทันที สามารถสร้างภูมิได้ดีใกล้เคียงกับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และยังพบว่าผลข้างเคียง เสียชีวิต เป็นไข้ ตัวร้อน ไม่มีเลย หรือมีก็น้อยมาก น้อยกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 10 เท่า อาจมีตุ่มนิดหน่อยที่ผิวหนัง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงยารักษา ว่า สำคัญมาก โอไมครอนวัคซีนอาจไม่เก่งเท่าไหร่ อยากให้ไทยมองดูประเทศอื่นที่ตาสว่าง ว่าต้องใช้อะไร อย่างอินเดีย-ญี่ปุ่น เอายาที่ตะวันตกไม่ยอมรับ อย่าง Ivermectrin เป็นยาฆ่าพยาธิ แต่มีหลายกลไกในการป้องกันไวรัสไม่ให้เพิ่มจำนวน ป้องกันได้หลากหลายสายพันธุ์ และมีกลไกลดการอักเสบได้ แต่ต้องให้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มติดเชื้อใหม่ๆ ขนาดต้องเหมาะสม ให้พร้อมอาหาร และอาหารต้องมันนิดหน่อยถึงดูดซึมได้ดี
อีกตัวคือฟ้าทะลายโจร ที่พิสูจน์แล้วในระดับห้องทดลอง และโรงพยาบาลสนาม ใช้ในการรักษาอาการเริ่มต้น ไม่ใช่กินตลอดเวลา
อีกตัวมีการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ คือยาต้านการซึมเศร้า ฟลูโวซามีน ใช้ตามปริมาณที่กำหนด ก็ไม่ไปตีกับยาตัวอื่น มีความปลอดภัยสูง เป็นการติดอาวุธให้เราสู้กับไวรัสได้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ช่วงปีใหม่ถึงประมาณกลางเดือน ก.พ. ถึงตอนนั้นถ้าเราเชื่อในยาที่กล่าวมา ใช้ตั้งแต่นาทีแรก แม้วัคซีนฉีดจะกระท่อนกระแท่น ฉีดไม่ทัน เราน่าจะผ่านไปได้เกินเดือน ก.พ. แม้มีโอไมครอนก็ตาม เราไม่ได้ยึดอันใดอันหนึ่งในการสู้กับโรค