“ธีระชัย” ซัดรัฐบาลเสพติดนโยบายแจกเงิน ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมาก จนไม่สามารถลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามที่ภาคประชาชนเรียกร้องได้
วันที่ 24 พ.ย. 2564 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “เบื้องลึก น้ำมันแพงรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ เสพติดนโยบายแจกเงิน”
โดย นายธีระชัย กล่าวถึงกรณีภาคประชาชนเรียกร้องให้ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันลง 5 บาท พร้อมกับประท้วงด้วยการหยุดวิ่งรถขนส่งสินค้า แต่รัฐบาลกลับจะเอารถบรรทุกของทหารมาวิ่งแทน ว่า ไม่เคยเห็นประทศไหนเอาเอาทรัพยากรทางทหารออกมาต่อรองกับประชาชน การใช้รถทหารไม่คิดค่าบริการหรือไง ถ้าขนส่งฟรีก็เท่ากับเอาภาษีประชาชนไปใช้เพื่อการนี้ มันเป็นธรรมต่อประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ แต่ถ้าหากคิดค่าบริการ แล้วเกิดเสียหายจากการขนส่ง จะรับผิดชอบอย่างไร
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ประการแรก ที่สามารถทำให้ดีเซลลดลง 5 บาท ที่ทำได้คือ ลดอัตราภาษีสรรพสามิต สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาน้ำมันโลกสูงกว่านี้ 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนนั้นลดภาษีสรรพสามิตเหลือแค่ครึ่งสตางค์ เพื่อเป็นตัวยืดหยุ่น ทำให้ราคาน้ำมันในประเทศพอมีเวลาหายใจ และนโนบายนี้ก็ทำต่อมาถึงสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่วันนี้ ภาษีสรรพสามิตน้ำมันอยู่ที่ 5.99 บาท
นายธีระชัย กล่าวว่า เพราะนโยบายแจกเงินเพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภค ลักษณะการใช้นโยบายการคลังแบบนี้จำเป็นต้องหารายได้เยอะๆ จึงกลายเป็นว่ารัฐบาลเสพติดนโยบายแจกเงิน เลิกไม่ได้ วงการแบงก์เรียกว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ กระตุ้นจีดีพีเฉพาะปีนั้น ใช้เสร็จก็หมดไป เวลานี้ในแต่ละปีงบประมาณการเก็บภาษีไม่ทันค่าใช้จ่าย รัฐบาลต้องกู้เพิ่มทุกปี นี่คือปัญหาว่าทำไมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ถึงลดภาษีสรรพสามิตไม่ได้
ภาษีสรรพสามิตน้ำมันปีนึง 2 แสนกว่าล้าน คิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมดของกรมสรรพสามิต ถ้าลดภาษีสรรพสามิตได้ผลทันที แต่ก็จะอย่าลืมดูประเด็นอื่นๆ เช่น ขบวนการกลั่นน้ำมัน การผลิตไฟฟ้า ทั้งหมดมีเสือนอนกินที่ได้รับผลประโยชน์สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น
สิ่งแรกที่ควรทำ คือ รื้อมาตรการ กติกา อย่างการกลั่นน้ำมัน สมัยรัฐบาลชาติชาย ต้องการกระตุ้นให้ไทยมีกำลังการกลั่นน้ำมันให้เพียงพอ จึงให้ใช้ราคาอ้างอิงโรงกลั่นสิงคโปร์ บวกค่าใช้จ่ายเหมือนนำเข้าจากสิงคโปร์ แต่ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายนั้นจริง ทำให้โรงกลั่นในไทยได้กำไรสูงกว่า แต่หลังจากนั้นควรเลิกมาตรการนี้ พอไม่เลิกโรงกลั่นก็ขยายการผลิต บางช่วงผลิตเกินกว่า 1 ใน 5 พอกำลังกลั่นเกินก็ต้องส่งออกในราคาต่ำ
โฆษกพลังงานมักอ้างว่าหากใครเห็นราคาสูงเกินก็สามารถนำเข้าเพื่อแข่งขัน ทำได้หากมีการแข่งขันโรงกลั่นเสรีเต็มที่ แต่ปัจจุบันกำลังกลั่นในประเทศ 60% ควบคุมโดยบริษัทเดียว แง่ค่าการตลาด ถึงเวลาที่ต้องกลับมากำหนดอัตรากำไรที่ต้องใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราไม่ได้ปล่อยให้สูงเกินไป เงินเก็บกองทุนต่าง ๆ ก็ควรยกเลิก ทั้งกองทุนน้ำมัน กองทุนส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน
นอกจากนี้ การกำหนดราคาก๊าซหุงต้ม ก่อนสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สูตรครัวเรือนใช้คือจำนวนที่ผลิตจากอ่าวไทย มีการกำหนดเพดานคุมราคาไว้ไม่เกิน 333 ดอลลาร์ต่อตัน ตั้งแต่สมัยอภิสิทธิ์-ยิ่งลักษณ์ แต่อยู่ดีๆ มาสมัยประยุทธ์ กลับไปอ้างอิงราคาตลาดโลกแบบค่าน้ำมัน โดยอ้างอิงราคาซาอุฯ บวกค่าขนส่งต่างๆ ที่ไม่เกิดขึ้นจริง ทำให้ราคาขายปลีกขึ้น รัฐบาลก็แก้ปัญหาด้วยการไปเก็บเงินคนใช้น้ำมันเพิ่มเพื่อเข้ากองทุน ผลักภาระมาให้ประชาชนอีก คนสบายคือผู้ที่ผูกขาดธุรกิจก๊าซ