เปิดโครงสร้าง “ภาษีน้ำมันดีเซล” ตะลึง ประชาชนถูกรีด 8 บาท/ลิตร ทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็น 40% ของราคาน้ำมัน “อิฐบูรณ์” ชี้ 7 ปีรัฐบาล “บิ๊กตู่” ภาษีสรรพสามิตดีเซลพุ่งจากลิตรละ 0.005 บาท ในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เป็นลิตรละ 5.99 บาท เพิ่มขึ้นถึง 1.1 แสนเปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับ 1.1 พันเท่า ด้าน “สภาองค์กรผู้บริโภค” เตรียมยื่นข้อเสนอกดดัน ก.พลังงาน ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันในสัปดาห์หน้า
จากกรณีการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนและสหพันธ์การชนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่เรียกร้องให้รัฐบาลลด “ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล” ลงลิตรละ 5 บาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ลิตรละ 25 บาท เพื่อช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและภาคการขนส่งซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลกลับเพิกเฉยเนื่องจากเกรงจะสูญเสียรายได้จากภาษีดังกล่าวซึ่งสูงถึงปีละ 1.5 แสนล้านบาท
ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าในเมื่อมูลค่าภาษีมากมายขนาดนั้น แล้วต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่
ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ในน้ำมัน 1 ลิตรนั้นจะมี “ต้นทุนเนื้อน้ำมัน” อยู่ 40-60% เท่านั้น ที่เหลือจะเป็น “ค่าการตลาด” ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายและกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน 10-18% “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” 5-10% และ “ภาษีต่างๆ” 30-40% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก และดูจะขัดแย้งกับหลักการในการจัดเก็บภาษีที่หากสินค้าใดเป็นสินค้าจำเป็น รัฐบาลจะต้องกำหนดอัตราภาษีในอัตราที่ต่ำเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน
หากพิจารณาโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลในปัจจุบัน ยกตัวอย่าง ณ วันที่ 20 ต.ค.2564 จะพบว่า ภายใต้ราคาน้ำมัน 29.29 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 20 ต.ค.นั้น มีต้นทุนภาษีที่ถูกจัดเก็บถึง 3 ตัวด้วยกัน คือ ภาษีสรรพสามิต 5.99 บาทต่อลิตร ภาษีเทศบาล 0.599 บาทต่อลิตร และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 1.872 บาทต่อลิตร รวมเป็น 8.461 บาทต่อลิตร ดังนั้น ถ้าปรับลดภาษีสรรพสามิตลงตามข้อเรียกร้องของภาคการขนส่งและเครือข่ายภาคประชาชนจะช่วยให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างมาก
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ระบุว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ครั้งที่เป็นรัฐบาล คสช. เรื่อยมาจนถึงเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้มีการปรับขึ้นภาษีน้ำมันอย่างต่อเนื่อง จากอัตราภาษีน้ำมันดีเซลในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งอยู่ที่ 0.005 บาทต่อลิตร มาสมัยรัฐบาล คสช.ได้อาศัยช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล
“เนื่องจากต้นทุนน้ำมันดิบลดลง เมื่อนำภาษีที่เพิ่มบวกเข้ากับค่าใช้จ่ายอีก 3 ส่วน คือ ต้นทุนเนื้อน้ำมัน เงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมัน และค่าการตลาด ราคาน้ำมันดีเซลยังคงอยู่ที่ประมาณ 29 บาทกว่าๆ ต่อลิตรเท่ากับช่วงที่ยังไม่มีการขึ้นภาษีสรรพสามิต ประชาชนจึงไม่รู้สึกอะไร และรัฐบาลใช้วิธีนี้ในการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในขณะนี้อยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร ซึ่งถือว่าสูงมาก” นายอิฐบูรณ์ กล่าว
จะเห็นได้ว่า วันที่ 26 พ.ค.2557 ก่อนที่รัฐบาล คสช. จะเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 106.61 เหรียญต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไทย อยู่ที่ 29.99 บาทต่อลิตร ขณะที่วันที่ 20 ต.ค.2564 ราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 82.64 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศก็ยังอยู่ที่ 29.29 บาทต่อลิตร ไม่ได้มีการปรับลดลงตามกลไกตลาดอย่างที่ควรจะเป็น เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันในอัตราที่สูงมากนั่นเอง
และหากย้อนไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว จะพบข้อมูลที่น่าตกใจอย่างยิ่ง เพราะนับตั้งแต่รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ส.ค.2557 ได้มีการปรับขึ้น “ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล” อย่างต่อเนื่อง จากอัตราที่จัดเก็บในเดือน เม.ย.2557 สมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่ 0.005 บาท/ลิตร ขึ้นเป็น 0.75 บาท/ลิตร ในปี 2557 และเพิ่มพรวดเป็น 4.25 บาท/ลิตร ในปี 2558 จากนั้นในปี 2559 มีการปรับขึ้นภาษีน้ำมันดีเซลอีกหลายครั้ง กระทั่งมาอยู่ที่ 5.85 บาท/ลิตร ในช่วงปลายปี 2559
และแม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมา “รัฐบาลพลังประชารัฐ” ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดิม จะปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลไม่มากนัก แต่อัตราภาษี ณ ปัจจุบันก็ขึ้นไปอยู่ที่ 5.99 บาท/ลิตร หรือเพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ในสมัย “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ซึ่งอยู่ 0.005 บาท/ลิตร ถึง 119,800 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับ 1,198 เท่า เลยทีเดียว
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตราที่สูงมาก ทั้งที่น้ำมันจัดเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน เพราะรัฐบาลมีมุมมองว่า “ภาษีน้ำมัน” คือรายได้หลักของรัฐบาล โดยไม่ได้ใส่ใจว่าแนวคิดเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชนเนื่องจากน้ำมันคือต้นทุนใหญ่ในการผลิตและขนส่งสินค้า
โดย นายลวรรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยเมื่อเดือน ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ว่า กรมสรรพสามิตมีรายได้จากจัดเก็บภาษีน้ำมันปีละกว่า 200,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40% ของรายได้ทั้งหมดของกรมสรรพสามิต
ขณะที่กระทรวงการคลังได้คัดค้านการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ตามที่ภาคประชาชนเสนอ โดยให้เหตุผลว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง 1.5 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าแนวคิดที่กำหนดให้ภาษีน้ำมันเป็นแหล่งรายได้หลักของรัฐนั้นเริ่มเกิดขึ้นในปี 2558 สมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งในการประชุมจัดทำกรอบงบประมาณปี 2559 ที่มีขึ้นในเดือน ม.ค.2558 โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธานนั้น กระทรวงการคลังได้จัดทำกรอบเป้าหมายจัดเก็บรายได้โดยเสนอให้เพิ่มการจัดเก็บรายได้จาก “ภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล” เพื่อเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐและลดการขาดดุลงบประมาณ
ซึ่งขณะนั้นประมาณการว่า หากมีการจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.005 บาทต่อลิตร รัฐจะมีรายได้เพียง 106.62 ล้านบาทต่อปี หากเก็บภาษีในอัตรา 0.75 บาทต่อลิตร จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 15,093.70 ล้านบาทต่อปี ถ้าเก็บในอัตรา 2.50 บาทต่อลิตร จะคิดเป็นรายได้ 53,312.33 ล้านบาทต่อปี หากเก็บภาษีในอัตรา 3.25 บาทต่อลิตร จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 69,306.02 ล้านบาทต่อปี และหากเก็บในอัตราสูงสุด 5.25 บาทต่อลิตร จะมีรายได้เพิ่มเป็น 111,955.88 ล้านบาทต่อปี
นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ในขณะนั้น ระบุว่า “ราคาน้ำมันลดลงต่อเนื่องทำให้รัฐบาลสามารถปรับเพิ่มการเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลจะเพิ่มรายได้ของรัฐ”
ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน อีกคนหนึ่งมองว่า เนื่องจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลของประเทศไทย (ในขณะนั้น) อยู่ที่วันละ 58 ล้านลิตร เพราะฉะนั้นการเพิ่มการเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลทุกๆ 1 บาท จะทำให้มีรายได้เข้ารัฐเพิ่มขึ้นถึงวันละ 58 ล้านบาท
ดังนั้น หากรัฐบาลยังมีแนวคิดที่จะหารายได้จากภาษีที่เก็บจากสินค้าจำเป็นอย่างน้ำมัน แม้ในยามที่คนไทยทั้งประเทศกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักจากผลพวงของวิกฤตโควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งนั้นมาจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล ก็คงยากที่ไทยจะผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจที่หนักหนาสาหัสในครั้งนี้ไปได้ เพราะตราบใดที่ต้นทุนการผลิตและขนส่งยังสูงอยู่ สินค้าต่างๆ ย่อมมีราคาแพงตามไปด้วย นอกจากประชาชนจะไม่มีกำลังซื้อแล้ว การแข่งขันในตลาดส่งออกคงเป็นเรื่องยากเช่นกัน
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้มีการหารือเรื่องปัญหาราคาน้ำมันและได้ศึกษาถึงโครงสร้างของราคาน้ำมันแต่ละประเภท ซึ่งพบว่าภายใต้โครงสร้างดังกล่าวมีต้นทุนที่ไม่จำเป็นอยู่หลายตัว และหากคิดราคาน้ำมันดีเซลจากราคาตลาดโลกจริงๆ ต้นทุนน้ำมันจะอยู่ที่ลิตรละ 18 บาท บวกค่าการตลาดอีกลิตรละ 1.40 บาท เป็นลิตรละ 19.50 บาท ดังนั้นถ้ารัฐบาลกำหนดราคาขายน้ำมันดีเซลที่ลิตรละ 25 บาท ก็ยังมีกำไรอยู่
“จากการศึกษาโครงสร้างน้ำมันดีเซลพบว่ามีต้นทุนน้ำมันบางตัวที่เป็นต้นทุนเทียม เช่น ค่าขนส่งน้ำมันจากสิงคโปร์ ซึ่งไม่มีอยู่จริงเพราะน้ำมันที่นำมากลั่นนั้นไทยไม่ได้นำเข้าจากสิงคโปร์ รัฐบาลจึงควรปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและลดต้นทุนที่สร้างภาระให้ประชาชนอย่างภาษีสรรพสามิต โดยในสัปดาห์หน้าสภาองค์กรของผู้บริโภคจะทำข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรมถึงรัฐบาลและกระทรวงพลังงานเพื่อให้แก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในการกำหนดราคาน้ำมันดีเซล” สารี ระบุ