จากกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่ว่า เติมน้ำมันดีเซลบนเรือกลางแม่น้ำโขง ที่รับมาจากบริษัท ปตท. ถูกกว่าไทยลิตรละ 10 บาท บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงข้อมูลว่า ปตท. ไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพื่อให้บริการเติมน้ำมันให้เรือขนส่งที่กลางแม่น้ำโขงตามที่ระบุในคลิป และไม่มีคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจให้บริการในลักษณะดังกล่าว และการให้บริการเติมน้ำมันในลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยของ โออาร์
วันนี้ (26 ต.ค.) ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่มีคลิปวิดีโอปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ประเด็นเรื่อง เติมน้ำมันดีเซลบนเรือกลางแม่น้ำโขง ที่รับมาจากบริษัท ปตท. ถูกกว่าไทยลิตรละ 10 บาท ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาระบุว่า เติมน้ำมันกลางแม่น้ำโขงถูกกว่าไทยถึงลิตรละ 10 บาท โดยน้ำมันดังกล่าวรับมาจากบริษัท ปตท. นั้น ทางบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวและชี้แจงข้อมูลว่า
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพื่อให้บริการเติมน้ำมันให้เรือขนส่งที่กลางแม่น้ำโขงตามที่ระบุในคลิปที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย และ โออาร์ ไม่มีคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจให้บริการในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ การให้บริการเติมน้ำมันในลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยของ โออาร์ ดังนั้น การให้บริการเติมน้ำมันตามที่ระบุในคลิปว่าเป็นการรับน้ำมันมาจาก โออาร์ (หรือ ปตท.) จึงเป็นการแอบอ้าง โดยเป็นการกล่าวแบบลอย ๆ ไม่ปรากฏหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่แสดงให้เห็นว่า มีการรับน้ำมันมาจาก โออาร์ (หรือ ปตท.) หรือ โออาร์ มีส่วนเกี่ยวข้องในประการใด และ โออาร์ ขอย้ำว่า โออาร์ ไม่มีนโยบายหรือแนวทางที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ การจำหน่ายน้ำมันดีเซล 100% (น้ำมัน HSD B0) ในประเทศไทย จะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมธุรกิจพลังงานเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปได้โดยพลการ
สำหรับประเด็นราคาที่ขายถูกกว่าราคาน้ำมันในประเทศไทยถึง 10 บาทนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการกล่าวอ้าง โดยการอ้างอิงกับราคาน้ำมันส่งออก ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีและกองทุนที่ภาครัฐเรียกเก็บ อีกทั้งยังไม่ใช่การอ้างอิงราคาที่จำหน่ายในประเทศปลายทาง ซึ่งมักจะต้องมีส่วนของภาษีที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ เรียกเก็บรวมอยู่ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า การกล่าวอ้างราคาน้ำมันที่ถูกกว่าราคาที่ควรเป็นค่อนข้างมากจะเป็นการอ้างข้อมูลราคาที่เป็นเท็จ หรือเป็นการจำหน่ายน้ำมันผ่านช่องทางให้บริการที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย สามารถแบ่งคร่าวๆ ออกได้เป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก คือ ต้นทุนของเนื้อน้ำมันจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ เคลื่อนไหวขึ้น-ลง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยในช่วงวันที่ 19 ตุลาคม 2564 (ช่วงเวลาเดียวกับในคลิป) มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 75% ส่วนที่ 2 คือ ภาษีและเงินนำส่งกองทุนต่าง ๆ ที่ภาครัฐบาลเรียกเก็บ โดยมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 23% ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล หรือ “ภาษีบำรุงท้องถิ่น” และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเรียกเก็บโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และกระทรวงพลังงานมีการจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน และ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ 3 คือ ค่าการตลาดของผู้ประกอบการ (Marketing Margin) มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งยังไม่ใช่กำไรสุทธิ แต่เป็นรายได้จากการขายน้ำมันที่สถานีบริการ ซึ่งยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใด ๆ
ตัวอย่างโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลวันที่ 19 ตุลาคม 2564 จากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานซึ่งต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 22.2307 บาท และเมื่อรวมภาษีและกองทุนต่าง ๆ แล้ว ทำให้ราคาขายน้ำมันกลุ่มดีเซลที่สถานีบริการในประเทศไทยอยู่ที่ 29.49 บาท (ราคา ณ กรุงเทพมหานคร ที่ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น) หรือสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากลิงก์ http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆและเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pttor.com หรือโทร. 1365 Contact Center
บทสรุปของเรื่องนี้ : ปตท. หรือ โออาร์ ไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพื่อให้บริการเติมน้ำมันให้เรือขนส่งที่กลางแม่น้ำโขงตามที่ระบุในคลิป และไม่มีคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจให้บริการในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ การให้บริการเติมน้ำมันในลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยของ โออาร์ อีกทั้งการกล่าวอ้างราคาน้ำมันที่ถูกกว่าราคาที่ควรเป็นค่อนข้างมากอาจเป็นการอ้างข้อมูลราคาที่เป็นเท็จ หรือเป็นการจำหน่ายน้ำมันผ่านช่องทางให้บริการที่ผิดกฎหมาย
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน