จากกรณีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาระบุว่า เติมน้ำมันกลางแม่น้ำโขงถูกกว่าไทยถึงลิตรละ 10 บาท โดยน้ำมันดังกล่าวรับมาจากบริษัท ปตท. นั้น ทางบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) กระทรวงพลังงาน ได้ตรวจสอบคลิปวิดีโอดังกล่าวและชี้แจงข้อมูลว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ไม่ได้จำหน่ายน้ำมันเพื่อให้บริการเติมน้ำมันให้เรือขนส่งที่กลางแม่น้ำโขงตามที่ระบุในคลิปที่มีการเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย และ โออาร์ ไม่มีคู่ค้าที่ดำเนินธุรกิจให้บริการในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ การให้บริการเติมน้ำมันในลักษณะดังกล่าวไม่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติด้านความปลอดภัยของ โออาร์ ดังนั้น การให้บริการเติมน้ำมันตามที่ระบุในคลิปว่าเป็นการรับน้ำมันมาจาก โออาร์ (หรือ ปตท.) จึงเป็นการแอบอ้าง โดยเป็นการกล่าวแบบลอย ๆ ไม่ปรากฏหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่แสดงให้เห็นว่า มีการรับน้ำมันมาจาก โออาร์ (หรือ ปตท.) หรือ โออาร์ มีส่วนเกี่ยวข้องในประการใด และ โออาร์ ขอย้ำว่า โออาร์ ไม่มีนโยบายหรือแนวทางที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจในลักษณะดังกล่าว นอกจากนี้ การจำหน่ายน้ำมันดีเซล 100% (น้ำมัน HSD B0) ในประเทศไทย จะต้องได้รับการอนุมัติจากกรมธุรกิจพลังงานเท่านั้น ไม่สามารถจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปได้โดยพลการ
สำหรับประเด็นราคาที่ขายถูกกว่าราคาน้ำมันในประเทศไทยถึง 10 บาทนั้น มีความเป็นไปได้ว่าเป็นการกล่าวอ้าง โดยการอ้างอิงกับราคาน้ำมันส่งออก ซึ่งเป็นราคาที่ยังไม่รวมภาษีและกองทุนที่ภาครัฐเรียกเก็บ อีกทั้งยังไม่ใช่การอ้างอิงราคาที่จำหน่ายในประเทศปลายทาง ซึ่งมักจะต้องมีส่วนของภาษีที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ เรียกเก็บรวมอยู่ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ว่า การกล่าวอ้างราคาน้ำมันที่ถูกกว่าราคาที่ควรเป็นค่อนข้างมากจะเป็นการอ้างข้อมูลราคาที่เป็นเท็จ หรือเป็นการจำหน่ายน้ำมันผ่านช่องทางให้บริการที่ผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย สามารถแบ่งคร่าวๆ ออกได้เป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก คือ ต้นทุนของเนื้อน้ำมันจากโรงกลั่น ซึ่งอ้างอิงมาจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดสิงคโปร์ เคลื่อนไหวขึ้น-ลง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยในช่วงวันที่ 19 ตุลาคม 2564 (ช่วงเวลาเดียวกับในคลิป) มีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 75% ส่วนที่ 2 คือ ภาษีและเงินนำส่งกองทุนต่าง ๆ ที่ภาครัฐบาลเรียกเก็บ โดยมีสัดส่วนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 23% ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล หรือ “ภาษีบำรุงท้องถิ่น” และภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งเรียกเก็บโดยกระทรวงการคลัง เพื่อนำไปใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และกระทรวงพลังงานมีการจัดเก็บเงินเข้า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมัน และ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนที่ 3 คือ ค่าการตลาดของผู้ประกอบการ (Marketing Margin) มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งยังไม่ใช่กำไรสุทธิ แต่เป็นรายได้จากการขายน้ำมันที่สถานีบริการ ซึ่งยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายใดๆ
ตัวอย่างโครงสร้างราคาน้ำมันดีเซลวันที่ 19 ตุลาคม 2564 จากข้อมูลของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานซึ่งต้นทุนเนื้อน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 22.2307 บาท และเมื่อรวมภาษีและกองทุนต่าง ๆ แล้ว ทำให้ราคาขายน้ำมันกลุ่มดีเซลที่สถานีบริการในประเทศไทยอยู่ที่ 29.49 บาท (ราคา ณ กรุงเทพมหานคร ที่ยังไม่รวมภาษีบำรุงท้องถิ่น) หรือสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากลิงก์ http://www.eppo.go.th/index.php/th/petroleum/price/structure-oil-price
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆและเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และบริการจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.pttor.com หรือโทร. 1365 Contact Center