"หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ" ชี้ไทยฉีดวัคซีนสูตรไขว้ช่วยให้รับมือโควิดกลายพันธุ์ได้ดี เพราะหากไวรัสดื้อต่อวัคซีนตัวหนึ่ง อาจถูกวัคซีนอีกตัวช่วยปกป้องได้ โดยเฉพาะเชื้อตายที่ร่างกายจดจำไวรัสทั้งตัว ต่อให้หนามต่างไปจากเดิมก็ยังช่วยได้อยู่ ชี้ข้อมูล "โอไมครอน" ยังไม่มากพอ อย่าเพิ่งด่วนสรุปร้ายกาจกว่าเดลตา พร้อมยันไม่ว่าสายพันธุ์ไหนยังไม่สามารถหลบหลีกการตรวจได้
วันที่ 29 พ.ย. 2564 ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง “นิวส์วัน” ในหัวข้อ “โอไมครอน ส่อแผลงฤทธิ์ระบาดทั่วโลก?”
ศ.ดร.วสันต์ กล่าวว่า โอไมครอน พบว่า สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์จากสายพันธุ์อู่ฮั่นไปมากถึง 70 ตำแหน่ง กลายพันธุ์จากเดลตา 60 ตำแหน่ง ตำแหน่งเหล่านั้นมีตำแหน่งที่ทำให้ติดเชื้อได้ดี หลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกัน คือ เอาลักษณะเด่นของแต่ละสายพันธุ์มารวมอยู่ด้วยกัน แต่การกลายพันธุ์ใช่ว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเสมอไป อาจทุพพลภาพแข่งกับใครไม่ได้
แล้วที่การกลายพันธุ์มักมาจากแอฟริกา เนื่องจากมีหลายพื้นที่ที่วัคซีนเข้าไม่ถึง และไม่มีการเก็บตรวจรหัสพันธุกรรม อีกหลายประเทศทั่วโลกก็ไม่นิยมถอดรหัสพันธุกรรมเช่นกัน แต่การกลายพันธุ์เกิดในไทยได้ยาก เพราะทุกพื้นที่ถูกเฝ้ามองโดยกรมควบคุมโรค ระบาดได้ไม่กี่เจนเนอเรชัน ก็ควบคุมได้แล้ว โอกาสกลายพันธุ์คือการติดเชื้อจากคนสู่คนอย่างรวดเร็ว
ศ.ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้ยังมีข้อมูลไม่มากพอ ที่จะชี้ชัดว่าโอไมครอนจะร้ายกาจกว่าเดลตา ต้องจับตาไปที่แอฟริกาใต้ และยุโรปที่ติดต่อกับแอฟริกา เพราะยุโรปมีเดลต้าอยู่แล้ว ก็คอยดูว่าระหว่างเดลต้ากับโอไมครอนใครจะชนะ
ส่วนอาการของโอไมครอน มีแพทย์หญิงในโรงพยาบาลแอฟริกาใต้ บอกว่าอาการไม่รุนแรง ไม่มีรายไหนเลยที่อาการหนักต้องเข้าโรงพยาบาล แต่ WHO ก็เตือนว่าอย่าเพิ่งด่วนสรุป เพราะตอนนี้คนที่ติดส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่น ต้องรอให้แพร่ไปยังผู้สูงอายุ และคนมีโรคประจำตัว ประมาณอีกสัก 3 สัปดาห์ - 1 เดือน การที่โอไมครอนหนามเยอะ คาดคะเนว่าอาจรุนแรงกว่า แต่ก็ต้องรอดูอาจพลิกผันก็ได้
ศ.ดร.วสันต์ กล่าวต่ออีกว่า ไทยมีการฉีดวัคซีนหลายลักษณะ หลายตัว เชื้อตายคือเอาเชื้อทั้งตัวเข้าไปให้ร่างกายจดจำ ภูมิอาจขึ้นไม่สูงนัก แต่จดจำได้ทั้งร่าง ฉะนั้นเมื่อมีไวรัสตัวใหม่เข้ามาต่อให้หนามต่างไปจากเดิม แต่ส่วนอื่นยังใช้ได้ ภูมิคุ้มกันจากเชื้อตายอาจจดจำและปกป้องเราได้
การฉีดไขว้ของเรา ส่วนใหญ่เป็นเชื้อตายและตามด้วยวัคซีนใช้ไวรัสเป็นพาหะ เป็นการผสมผสานของภูมิคุ้มกัน รวมแล้วน่าจะเป็นข้อดี พูดง่ายๆ ไวรัสตัวใหม่แม้ว่าจะกลายพันธุ์ ดื้อต่อวัคซีน ก. ก็ไม่จำเป็นต้องดื้อกับ ข. และ ค.
ศ.ดร.วสันต์ กล่าวว่า ตอนนี้เราทุกคนเป็นหนูลองยาในยุคโควิด ยังบอกไม่ได้ว่าวัคซีนตัวไหนครอบคลุม การฉีดหลากหลาย ทำให้โอกาสติดเชื้อเหมือนๆ กันหมดเป็นไปได้ยาก ซึ่งประเทศอื่นไม่มีหลากหลายเท่าเรา แม้ตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลมากพอที่บอกว่า mRNA ป้องกันโอไมครอนได้ดีกว่า ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลมากกว่านี้
ส่วนเรื่องโอไมครอนหลบหลีกการตรวจได้ดี ศ.ดร.วสันต์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะตรวจด้วย ATK หรือ PCR ยังสามารถตรวจเจอได้ว่าติดโควิด ไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหนก็ตาม เพียงแต่ถ้าต้องการทราบว่าเป็นสายพันธุ์ไหนต้องตรวจด้วยวิธีอื่นต่อไป