หลังมีการเปิดเผยจากองค์การอนามัยโลก ถึงการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ที่ทวีปแอฟริกา ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า “โอไมครอน” เป็นสายพันธุ์ที่ 5 ของโลก พร้อมระบุว่า เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล สามารถแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อซ้ำได้ง่ายขึ้น
วันนี้ (27 พ.ย.) ทีมข่าว MGROnline ได้สอบถามจาก ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ถึงแนวทางที่ประเทศไทยต้องเตรียมตัวรับมือและป้องกันไม่ให้ “โอไมครอน” เข้ามาระบาดในประเทศ
ศ.ดร.วสันต์ บอกว่า แหล่งข้อมูลที่เปิดเผยถึงการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์โอไมครอน คือ นักวิทยาศาสตร์ระดับปรมาจารย์ที่ได้รับการยอมรับ จึงเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จากข้อมูลพบว่า มีการกลายพันธุ์ที่ “หนามแหลม” ซึ่งเปรียบเสมือน “มือ” ของเชื้อไวรัส ทำให้หนามแหลมนี้มีศักยภาพในการเข้าถึงเซลล์ของมนุษย์ได้ง่ายขึ้น คล้ายกับเป็นมือที่เพิ่มความสามารถในการเปิดลูกบิดประตูได้เก่งขึ้น ดังนั้นนี่จึงเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วกกว่าเดิม อันตรายกว่าเดิม และมี 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางการทำงานในประเทศไทย
ประเด็นแรก คือ ต้องศึกษาว่าการกลายพันธุ์ของไวรัส มีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในไทยหรือไม่ โดยเฉพาะวัคซีน MrNA ยังสามารถช่วยบรรเทาผลกระทบจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ได้หรือไม่
ประเด็นที่สอง คือ ต้องพัฒนาชุดตรวจแบบ RT-PCR ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นสำหรับการตรวจเพื่อหาเชื้อที่กลายพันธุ์ โดยเบื้องต้นมีวิธีการสังเกตผลตรวจ RT-PCR ด้วยการพิจารณาว่า หากการแสดงผลใน 3 ตำแหน่ง กลับพบว่า มี 2 ตำแหน่งให้ผลเป็น positive ส่วนอีก 1 ตำแหน่งให้ผลเป็น negative ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นสายพันธุ์โอไมครอน และต้องนำผลตรวจไปเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทันที เพราะหากเป็นเชื้อสายพันธ์เดลต้า ที่เป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย จะต้องได้ผลตรวจ 3 ตำแหน่งตรงกันทั้งหมด
ส่วนการที่ประเทศไทยจะอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา มีกระบวนการคัดกรองได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เพียงแค่ชุดตรวจ ATK ศ.ดร.วสันต์ ยืนยันว่า ยังสามารถทำได้ เพราะหากผลตรวจ ATK เป็น negative ก็จะไม่ส่งผลอะไร ดังนั้น ไทยก็ยังสามารถใช้กระบวนการเดิม คือ ให้ตรวจ RT-PCR ซ้ำ กับเฉพาะคนที่ได้ผลตรวจ ATK เป็น positive และหากพบว่ามีผลตรวจ RT-PCR ต้องสงสัยว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน จึงค่อยนำไปถอดรหัสพันธุกรรม โดยสามารถใช้แนวทางนี้กับคนไทยที่ติดเชื้อได้เช่นกัน
“เราอยากรู้ให้เร็วอยู่แล้ว ถ้าพบเชื้อที่ต้องสงสัยว่าจะเป็นเชื้อที่กลายะพันธุ์ แต่เราก็สามารถคัดกรองได้ โดยไม่ต้องตรวจวิเคราะห์กับทุกคน เพียงตรวจ RT-PCR กับคนที่มีผล ATK เป็น positive และถ้าเขามีผล RT-PCR 3 ตำแหน่งไม่ตรงกัน เราค่อยนำไปถอดรหัสพันธุกรรมว่าแป็นโอไมครอนหรือไม่ เพราะเราต้องรักษากำลังคนและงบประมาณในการตรวจไว้สำหรับสู้กับไวรัสในระยะยาวด้วย” ศ.ดร.วสันต์ กล่าว
สำหรับห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการวิเคราะห์ถอดรหัสพันธุกรรมในประเทศไทย หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มั่นใจว่า มีเพียงพอที่จะรองรับการตรวจ เช่น ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีสามารถวิเคราะห์ได้ประมาณ 1000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ ยังมีห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ถือเป็นจุดหลัก รองรับการวิเคราะห์ได้มากกว่า รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งก็สามารถทำได้ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานความร่วมมือกันเป็นภาคีเครือข่าย
“มาตรการของประเทศไทย ผมเห็นว่า ดีอยู่แล้ว ดีกว่าในหลายๆ ประเทศ เพราะเรายังใส่หน้ากากอยามัย 100% เราทะเลาะกันเรื่องวัคซีน ก็ทะเลาะกันว่าจะฉีดยี่ห้อไหน ไม่ใช่ทะเลาะกันว่าจะไม่ฉีด เรายังมีมาตรการเว้นระยะห่าง ดังนั้น ตอนนี้เราก็ต้องรอดูผลของการกลายพันธุ์ด้วย เช่น การใส่หน้ากากยังป้องกันสายพันธุ์ใหม่ได้มั้ย วัคซีนที่ใช้ยังมีผลต่อเชื้อที่กลายพันธุ์มั้ย ถ้าพบว่ามันรุนแรง ป้องกันยาก ก็ต้องไปสั่งยาต้านไวรัสเข้ามาเตรียมไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ” ศ.ดร.วสันต์ กล่าวทิ้งท้าย