xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มพลเมืองอาสาฯ ร้อง “ชวน-พรเพชร” ตั้ง กมธ.สอบขอพระราชทานอภัยโทษ “ผู้ต้องขังคดีทุจริต”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำคณะกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นหนังสือต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร
“หมอตุลย์” พากลุ่มพลเมืองอาสาฯ ยื่นร้อง “ชวน-พรเพชร” ตั้ง กมธ.สอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องขังคดีโกง “ส.ว.สมชาย” แนะแก้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ มาตรา 8 และมาตรา 52

วันนี้ (15 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน นำคณะกลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ยื่นหนังสือต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายแทนคุณ จิตต์อิสระ เลขานุการคณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับหนังสือ พร้อมทั้งยื่นหนังสือต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา โดยมี นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อขอให้ตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ตรวจสอบการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษคดีทุจริตคอร์รัปชัน

นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตามที่มีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษลดโทษ รวม 4 ครั้ง กรณีนักโทษจำคุกในคดีโครงการรับจำนำข้าวมีหลายคนหลุดพ้นโทษไปแล้ว เนื่องจากมีการพิจารณาว่าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมจึงได้รับการลดโทษ ส่งผลให้ประชาชนที่รับความเป็นธรรมยอมรับไม่ได้และคัดค้านอย่างรุนแรง เพราะมองว่าเรื่องการทุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในประเทศ ซึ่งการลดโทษอย่างนี้ไม่มีใครรับได้แต่การลดโทษเช่นนี้เหมือนเป็นการเอื้อการทุจริตเพื่อให้คนทำผิดได้ลดโทษโดยเร็ว จึงมายื่นต่อสภาฯและวุฒิฯตรวจสอบขั้นตอนการลดโทษในการเอื้อประโยชน์ต่อคนทุริตให้พ้นโทษโดยเร็ว เพื่อนำผลจากการตรวจสอบที่ได้ไปดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

นายแทนคุณ กล่าวว่า ตนนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการ โดยตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกขั้นตอนในการดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษลดโทษผู้ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตคอร์รัปชั่นร้ายแรง ซึ่งจะนำไปดูว่าจะมีกระบวนการใดบ้างที่จะบรรเทาความไม่สบายใจขอประชาชนได้

นายสมชาย กล่าวว่า ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือในชั้น กมธ.ว่า กระบวนการในการเลื่อนชั้นนักโทษเป็นไปในลักษณะใดและเป็นอภิสิทธิ์ชนหรือไม่ เหตุใดคนไม่กี่คนใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนลดโทษเหลือเพียงไม่กี่ปี รวมถึงเห็นด้วยในการเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 8 ในเรื่องคณะกรรมการราชทัณฑ์เดิมที่มาจากการแต่งตั้งเพียง 7 คน จากรมว.ยุติธรรม ซึ่งควรมีภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีบทบาทมากกว่านี้ ส่วนมาตรา 52 ควรเพิ่มวรรคท้ายเข้าไปว่า คดีทุจริตโกงชาติ และอาชญากรรมร้ายแรงเป็นภัยต่อสังคม ต้องได้รับโทษ 1 ใน 3 ก่อน จึงจะเข้าสู่กระบวนการขอรับพระราชทานอภัยโทษ และทั้งหมดต้องรับโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของคำตัดสินที่ศาลได้พิพากษาไปแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น