xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เสียววาบ! “เทพมนตรี” จี้รับผิดชอบลดโทษคดีทุจริตร้ายแรง “สมชาย” ร่อนจม.รื้อใหญ่กม.ราชทัณฑ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพ “บิ๊กตู่” เสียววาบ! “เทพมนตรี” จี้รับผิดชอบลดโทษคดีทุจริตร้ายแรง ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก  THE TRUTH
“เทพมนตรี” จี้ “นายกฯ” รับผิดชอบ ชี้ การทุจริตทำเป็นขบวนการ ไม่ควรลดโทษให้คนโกงกินบ้านเมือง เตือนเสียคนเพราะลิ่วล้อ กองเชียร์ “สมชาย” ส่ง จม.ถึง “นายกฯ-ครม.-ศาลยุติธรรม” ตั้ง กก.สอบ ชะลอลดโทษ-รื้อ กม.

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (12 ธ.ค. 64) เฟจเฟซบุ๊ก
THE TRUTH โพสต์ประเด็น “เทพมนตรี” ไม่ทนแล้ว ซัดขบวนการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมแซะ นายกฯ เสียคนเพราะลิ่วล้อ กองเชียร์!?

โดยระบุว่า กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมาก เมื่อมีการเปิดเผยจาก นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ถึงประเด็นนักโทษบิ๊กเนม ในคดีสำคัญๆ โดยเฉพาะ คดีทุจริตจำนำข้าว ที่ได้รับการลดโทษแบบกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ ในช่วงนี้ จนทำให้คนไทยจำนวนมาก เริ่มเกิดความไม่พอใจ

ล่าสุด นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ในหัวข้อว่า นายกรัฐมนตรีในจินตนาการ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เรื่องทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องใหญ่บางประเทศจัดให้นำไปประหารชีวิต เพราะส่วนใหญ่กระทำกันเป็นขบวนการไม่ใช่กระทำโดยลำพังได้ง่าย ยิ่งโครงการใหญ่มีงบประมาณมากด้วยแล้ว คนระดับนายกรัฐมนตรีก็ต้องรู้เห็นเป็นใจ ต้องรู้รับผิดชอบจึงจะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำ เช่นเดียวกัน เมื่อมีรัฐมนตรีในรัฐบาลทำตัวต้องสงสัยในพฤติกรรม บริหารราชการโดยขาดความรอบคอบ ไม่มีความยุติธรรมและจริยธรรมอยู่ในใจ คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำเยี่ยงไร

แม้มีอำนาจวาสนามากมายมันก็ไม่จีรังยั่งยืน คุณความดีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่สนับสนุนคนกระทำผิด กระทำเลว ชั่วช้า แม้เป็นพวกพ้องก็ต้องคงไว้ซึ่งสัจจะความจริงนั้นต่างหาก จึงจะได้ชื่อว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความซื่อสัตย์สุจริต รับสนองพระบรมราชโองการเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ตามระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระ มหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำว่าเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงมีคุณค่ามีความหมายเป็นความรับผิดชอบอันวิเศษ

ความรับผิดชอบอันวิเศษที่ว่านี้มาพร้อมกับหน้าที่ที่จะต้องเลือกสรรบุคคลให้เป็นองค์คณะรัฐมนตรี

การกำหนดตัวบุคคล พร้อมคุณสมบัติอันเหมาะสมถูกที่ถูกเวลา ใช้สติปัญญาแสวงหาคนที่มีความรู้ความสามารถมีความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อนำเสนอรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯถวายย่อมเป็นการกลั่นกรองชั้น ๑ และกล้าหาญที่จะรับผิดชอบอยู่เสมอ

ภาพ นายเทพมนตรี ลิมปพยอม ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก  THE TRUTH
นายกรัฐมนตรีที่มีคุณสมบัติอย่างที่ว่านี้ ประเทศไทยจะมีสักกี่คน จะมีบ้างไหม

แน่นอนที่สุดสำหรับประเทศไทยแล้วแทบจะไม่มีเลย เพราะมันเป็นเรื่องยาก แม้นายกรัฐมนตรีบางคน ถือดีว่ามีผู้สนับสนุนเป็นจำนวนมาก จนทำอะไรได้ไปเสียทุกอย่าง ทั้งลิ่วล้อ กองเชียร์ ส่งเสริมเสียจนเสียผู้เสียคนก็มี กระนั้นก็ไม่อาจนำมาตัดสินคุณธรรมและจริยธรรมความเป็นนายกรัฐมนตรีได้

ประชาชนอย่างเราก็ได้แต่เฝ้ามอง ว่าเมื่อไหร่แผ่นดินนี้จะมีนายกรัฐมนตรีในจินตนาการที่เป็นจริง

ขณะเดียวกัน THE TRUTH โพสต์ประเด็น ส.ว.สมชาย ส่งจม.ถึง “นายกฯ-ครม.-ศาลยุติธรรม” ชี้คดีทุจริตจำนำข้าว ไม่ควรอยู่ในเกณฑ์ลดโทษ!?
.
เนื้อหาระบุว่า นายสมชาย แสวงการ ได้โพสต์ข้อความ เป็นจดหมายเปิดถึงนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ศาลยุติธรรม คณะกรรมการ ปปช องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น โดยระบุถึงเรื่องข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริหารจัดการและข้อกฎหมาย ที่ทำให้เกิดการลดหย่อนโทษในคดีคอรัปชั่นที่มีปัญหาและสังคมตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะคดีทุจริตสำคัญร้ายแรงทุจริตจำนำข้าว
.

ภาพ “สมชาย” ร่อน จม.รื้อใหญ่ กม.ราชทัณฑ์ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก  THE TRUTH
โดยแบ่งแนวทางการแก้ไขเป็น 3 ระยะดังนี้
แนวทางเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีควรสั่งให้ตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ที่สังคมให้ความเชื่อถือ โดยอย่างน้อยต้องมีผู้แทน จากกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม กรรมการอัยการ กรรมการปปช องค์กรต่อต้านคอรัปชั่น ผู้แทนสื่อมวลชน ฯลฯ ร่วมดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จใน 30 วัน ระหว่างนี้ให้ชะลอการบังคับใช้การลดหย่อนโทษดังกล่าวออกไประยะหนึ่งก่อน โดยกรรมการควรมีหน้าที่ตรวจสอบอย่างน้อยดังนี้

1) ตรวจสอบกฎกติกาและกระบวนการเลื่อนชั้นนักโทษที่มีรายชื่อเข้าเกณฑ์ลดโทษในคดีร้ายแรงสำคัญเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับคดีนักค้ายาเสพติดรายใหญ่ร้ายแรง คดีฆ่าคนตายที่มีโทษประหารชีวิต คดีฆ่าข่มขืนที่เป็นภัยสังคมร้ายแรง คดีค้ามนุษย์ ฯลฯ ที่เดิมมีนโยบายไม่ลดโทษแบบคดีทั่วไป เพราะคดีทุจริตโกงจำนำข้าวเป็นคดีพิเศษร้ายแรงสำคัญ
ไม่ควรอยู่ในเกณฑ์ลดโทษเช่นคดีปกติทั่วไป

2) เร่งตรวจสอบกระบวนการภายในของกรมราชทัณฑ์ ในการใช้ดุลยพินิจทุกขั้นตอนของผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดี และคณะกรรมการราชทัณฑ์ ในการพิจารณาเลื่อนชั้นนักโทษเด็ดขาดเป็นชั้นดี ชั้นเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ว่า มีเหตุต้องสงสัยหรือไม่ ที่อาจมุ่งให้เฉพาะนักโทษเด็ดขาดบางคน มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ได้รับสิทธิพิเศษต่อเนื่อง เพื่อรอเวลาพระราชทานอภัยโทษตามห้วงเวลาสำคัญประจำปี โดยอ้างว่าทำถูกกฎหมายและระเบียบหรือไม่

3) ถ้าพบปัญหาจากข้อ1)และข้อ2)เป็นรายบุคคลให้นำเสนอแนวทางแก้ไขเฉพาะรายหรือเฉพาะคดี หากเป็นปัญหาข้อกฎหมายให้เสนอแก้ไขกฎหมายหรือกฎกระทรวงหรือระเบียบ

4) ให้แก้ไขนำหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 กลับมาใช้เป็นเกณฑ์

แนวทางระยะกลาง
1) ครม./ส.ส. /ประชาชน ยื่นเสนอแก้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ 2560 มาตรา 52 และมาตราที่เกี่ยวข้อง ให้เพิ่มระยะเวลาปลอดภัยแก่สังคม 15-20 ปี เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้มีโทษหนักประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือมีโทษจำคุกในคดีสำคัญพิเศษร้ายแรง ได้แก่ คดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ คดีฆาตกรฆ่าข่มขืน คดีทุจริตสำคัญร้ายแรง ฯลฯ ต้องได้รับโทษขังในเรือนจำขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15-20 ปี หรืออย่างน้อย 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งของโทษโดยจะไม่มีการพิจารณาลดโทษ พักโทษ หรือปล่อยตัวก่อนกำหนด เพื่อให้สังคมมั่นใจว่า สังคมจะปลอดภัยจากผู้กระทำผิดร้ายแรงที่เป็นภัยสังคมจะยังอยู่ในเรือนจำ ในระยะเวลาอย่างน้อย 15-20 ปี หรืออย่างน้อย1ใน3หรือกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลมีคำพิพากษา

2) ให้ศาลเข้ามาเป็นผู้พิจารณาและสั่งการลดโทษหรือพักโทษหรือปล่อยนักโทษก่อนกำหนด โดยเฉพาะคดีความผิดภัยสังคมร้ายแรง ที่มีโทษประหารชีวิต โทษจำคุกตลอดชีวิต หรือโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป โดยให้กรมราชทัณฑ์ ทำเรื่องขอไปยังศาลให้พิจารณา และเป็นการช่วยคัดกรองการรับโทษอย่างเหมาะสมพอเพียง การปรับปรุงตัว ก่อนที่กรมราชทัณฑ์จะทำเรื่องนำนักโทษคดีสำคัญเหล่านั้น เข้ากระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษ ส่วนความผิดต่ำกว่านั้นให้คณะกรรมการราชทัณฑ์ดำเนินการตามกฎหมายเองได้ต่อไป

3) ควรแก้ไขกฎหระทรวงและระเบียบราชทัณฑ์นักโทษคดีสำคัญ ที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม ได้แก่นักโทษประหารชีวิต นักโทษจำคุกตลอดชีวิต นักโทษจำคุก 20-50 ปีขึ้นไป นักโทษคดีทุจริตร้ายแรง หรือนักโทษที่เป็นภัยสังคม เช่น ฆ่า ข่มขืน หรือพวกใช้ความรุนแรง ก่อนที่นักโทษเหล่านี้จะได้รับลดโทษการปล่อยตัวจำเป็นต้องมีการประเมินความพร้อม และต้องจัดให้มีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่เข้าประเมินร่วมด้วย

ภาพ ลดโทษคดีทุจริตร้ายแรง ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก  THE TRUTH
แนวทางระยะยาว
1) แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 เพื่อให้ผู้ต้องหาที่กระทำผิดร้ายแรงหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระ เพื่อให้ศาลได้พิพากษาให้นักโทษได้รับการลงโทษจริงมากกว่ามีข้อห้ามจำคุกไว้ไม่เกิน 50 ปี ตามที่มีข้อจำกัดเดิม

2) เร่งแก้ไขปัญหาคนล้นคุกอย่างจริงจัง ควบคู่มาตรการอื่นๆ อย่างจริงจัง อาทิ มาตรการค่าปรับแทนจำคุก การบริการทางทางสังคม การบำบัดยาเสพติด การเข้ารับการบำบัดพฤติกรรม การให้คำปรึกษาทางการเงินสำหรับผู้มีหนี้สิน การติดแท็กส์อิเลกทรอนิกส์ติดตามความเคลื่อนไหว ฯลฯ และการให้ประกันตัวผู้ต้องหาแทนการคุมขังระหว่างสู้คดี

3) ควรพิจารณาอนุญาตให้มีโครงการเรือนจำเอกชน และโครงการจัดแยกสถานที่กักขังผู้ต้องหาที่ศาลไม่อนุญาตประกันตัว ออกจากเรือนจำปกติ

ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา
กฎหมายประเทศในยุโรปและหลายประเทศสากล เช่น ฝรั่งเศส ได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 132-23(6) กำหนดว่า คดีที่ศาลพิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต ศาลจะต้องกำหนดมาตรการปลอดภัยให้สังคมคือการห้ามลดโทษ พักโทษหรือปล่อยตัวก่อน 18 ปี และหากศาลเห็นว่า เป็นผู้กระทำผิด ศาลสามารถกำหนดระยะเวลาปลอดภัยให้สังคมได้ 18-22 ปี ดังนั้นนักโทษร้ายแรงที่ถูกศาลจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษหนัก 50 ปี จะต้องถูกคุมขังในเรือนจำแน่นอนอย่างน้อย 18-22 ปี โดยไม่รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด และเมื่อครบกำหนด 18-22 ปี ในระยะปลอดภัยของสังคมที่ศาลกำหนดแล้ว ศาลจะเป็นผู้ประเมินการปล่อยตัวเป็นรายๆพร้อมกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวหรืออาจยังให้ยังขังต่อไปในเรือนจำจนกว่าจะครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาหรือมีการเสนอให้ศาลประเมินใหม่

กระบวนการลดโทษ ปล่อยตัวของไทยเป็นระบบปิด โดยฝ่ายบริหารของกรมราชทัณฑ์ และคณะกรรมการราชทัณฑ์ โดยศาลไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องใด ทั้งๆ ที่กระบวนการยุติธรรมของไทยเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นสืบสวนสอบสวนในชั้นตำรวจ ป.ป.ช. จนถึงชั้นอัยการในการส่งฟ้อง และมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลาพิจารณาคดีนานอย่างหนักทั้งผู้ฟ้องคดี อัยการ โจทก์ หรือจำเลย บางคดีต่อสู้กันถึง 3 ชั้นศาล แต่พอชั้นพักโทษ ลดโทษ หรือปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาด ให้คนออกจากคุก กลับไม่มีกระบวนการให้ยุติธรรมแบบเดียวกัน จึงสมควรแก้กฎหมายให้ศาลเป็นผู้พิจารณาพักการลดโทษหรือปล่อยตัวนักโทษคดีสำคัญร้ายแรง คดีอุกฉกรรจ์ ที่ส่งผลร้ายต่อสังคม ก่อนที่คณะกรรมการราชทัณฑ์ จะนำเข้าสู่กระบวนลดโทษ พักโทษหรือขอพระราชทานอภัยโทษ ครับ จึงเรียนเสนอมาเพื่อช่วยกันพิจารณาแก้ไขหาทางออกคืนความเป็นธรรมและความยุติธรรมให้กับชาติบ้านเมืองและสังคมไทยครับ

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน THE TRUTH เผยว่า แหล่งข่าวระดับสูงในกรมราชทัณฑ์ ได้เปิดเผยกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีผู้ต้องขังบางคนในคดีทุจริตจำนำข้าวพ้นโทษแล้วนั้น โดยได้รับข้อมูลว่า มีคนที่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจริง รวมทั้งหมด 8 คน และยังต้องโทษอยู่รวม 7 คน โดยคนที่ถูกปล่อยตัว เป็นคนที่ได้รับโทษน้อย และผ่านการอภัยโทษหลายครั้ง ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ยืนยันว่า ไม่ได้มีการแอบปล่อยตัวนักโทษแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่พ้นโทษไปแล้ว อาทิ
- นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7 โทษจำคุก 12 ปี ได้รับการอภัยโทษ 2 ครั้ง
- นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือ ทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และอดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 จำคุก 24 ปี ได้รับการอภัยโทษ 3 ครั้ง
- นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8 จำคุก 8 ปี ได้รับการอภัยโทษ 2 ครั้ง
- นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18 จำคุก 4 ปี เป็นต้น

ภาพ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ขอบคุณภาพจากเพจเฟซบุ๊ก  THE TRUTH
ซึ่งก่อนหน้านี้ นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยถึงกรณีของ นายบุญทรง คดีจำนำข้าวที่ปรากฏเป็นข่าว ถือเป็นคดีอาญาร้ายแรง ศาลได้ตัดสินจำคุก มีกำหนดโทษ 48 ปี และได้รับการอภัยโทษจำนวน 4 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 15 ส.ค. 2563 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 4 ชั้นดีมาก) เหลือโทษจำคุก 36 ปี
ครั้งที่ 2 วันที่ 5 ธ.ค. 2563 ได้ลดโทษ 12 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 24 ปี
ครั้งที่ 3 วันที่ 28 ก.ค. 2564 ได้ลดโทษ 8 ปี (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 16 ปี
ครั้งที่ 4 วันที่ 6 ธ.ค. 2564 ได้ลดโทษ 5 ปี 4 เดือน (ลดโทษ 1 ใน 3 ชั้นเยี่ยม) เหลือโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน...

แน่นอน, ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มองปัญหาเรื่องนี้อย่างไร รู้เห็นหรือไม่ ก่อนที่ รมว.ยุติธรรม จะขอพระราชทานอภัยโทษเพื่อลดโทษดังกล่าว ถ้ารู้เห็นมาก่อนแล้ว ทำไมจึงปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไป

ไหนบอกว่า ต้องการเข้ามาแก้ปัญหา ทำสัญญาประชาคมเอาไว้มากมาย เรื่องแค่นี้ทำไม่ได้ แล้วยังจะเอาสติปัญญาอะไร ไปคิดอ่านปฏิรูปประเทศ หรือแค่ข้ออ้าง???

สิ่งที่นายกฯควรทำความเข้าใจก็คือ ปัญหาที่นำมาสู่การรัฐประหาร ปัญหาหนึ่งก็คือ นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน อย่างกรณีจำนำข้าว จนมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์เองก็มีส่วนรู้เห็น เพื่อปราบโกง

แล้วนี่มันเกิดอะไรขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ ลืม หรือจำเป็นต้องปล่อยให้นักการเมืองทำอะไรก็ได้ เพื่อตัวเองจะได้อยู่ในอำนาจ และหรือต้องการสืบทอดอำนาจ โดยซื้อใจนักการเมืองเหล่านี้ค้ำบัลลังก์ หรือ ทั้งหมด???

ดังนั้น สิ่งที่ “เทพมนตรี” และ ส.ว.สมชาย รวมทั้งอีกหลายต่อหลายคนออกมาสะท้อนปัญหา ล้วนน่าคิดน่ารับฟังทั้งสิ้น แต่ไม่เห็น พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความกระตือรือร้น ที่จะรับผิดชอบ ตรวจสอบ หรือ อะไรก็ตามที่สมกับสัญญากับประชาชนว่าจะเข้ามาแก้ไขสิ่งผิด หรือ พล.อ.ประยุทธ์ เห็นดีเห็นงามแล้ว?

อย่าให้สิ่งที่ “3 นิ้ว” โจมตีว่า คสช.ต้องการสืบทอดอำนาจ โดยไม่สนใจความถูกต้องชอบธรรม เป็นเรื่องจริง เพราะฝ่ายที่ยังให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะไม่เหลืออยู่อีกต่อไป ไม่เชื่อคอยดู!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น