xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 5-11 ธ.ค.2564

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ศาลฎีกา พิพากษาจำคุก "เปรมชัย" 2 ปี 14 เดือน คดีล่าเสือดำ พร้อมชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้าน ขณะที่คนขับรถ-นายพราน เจอคุกเช่นกัน!

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ศาลจังหวัดทองผาภูมิได้นัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.219/61 และคดีหมายเลขแดงที่ 62/63 ที่พนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ เป็นโจทก์ฟ้องนายเปรมชัย กรรณสูตร อดีตประธานกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, นายยงค์ โดดเครือ คนขับรถ, นางนที เรียมแสน แม่ครัว และนายธานี ทุมมาศ พรานป่า เป็นจำเลยที่ 1-4

ในความผิดฐานร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันมีไว้ครอบครองซึ่งซากสัตว์ป่าคุ้มครองโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ฐานร่วมกันช่วยซ่อนเร้นช่วยพาเอาไปเสีย หรือรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่าอันได้มาโดยกระทำความผิดกฎหมาย และฐานร่วมกันเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีที่จำเลยได้ร่วมกันเข้าไปในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตตะวันตก จ.กาญจนบุรี แล้วร่วมกันฆ่าเสือดำ ไก่ฟ้าหลังเทา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน เพื่อเป็นอาหารเมื่อวันที่ 4 ก.พ.2561

ทั้งนี้ บรรยากาศก่อนถึงเวลาศาลอ่านคำพิพากษา เป็นไปอย่างคึกคัก โดยสื่อมวลชนทุกแขนงต่างเดินทางมารอรายงานข่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งศาลไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปภายในบริเวณพื้นที่ศาล ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด รวมทั้งมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า นายเปรมชัย กรรณสูต จำเลยที่ 1 ได้เดินทางมาศาลด้วยรถยนต์ส่วนตัว โดยมีผ้าพันแผลที่ตาและคิ้วด้านซ้าย หลังลงจากรถยนต์ได้สวมเสื้อสูทและใช้ไม้เท้าพยุงขณะเดิน จากนั้นได้ขึ้นไปบนศาลทันที ขณะที่นายยงค์ โดดเครือ จำเลยที่ 2 และนายธานี ทุมมาศ จำเลยที่ 4 เดินทางมาถึงศาลก่อนนายเปรมชัย โดยเดินทางมาด้วยรถตู้ พร้อมด้วยทีมทนายความ

ด้านนายกฤตศิลป ช่วยศรี อัยการจังหวัดทองผาภูมิ และพนักงานอัยการจังหวัดทองผาภูมิ ได้เดินทางมาศาลเช่นกัน โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำทองผาภูมิได้นำรถผู้ต้องขังมาจอดไว้ด้านหลังศาลจำนวน 2 คัน

หลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วเสร็จ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกเอกสาร สรุปว่า คดีนี้เมื่อวันที่ 30 เม.ย.61 อัยการจังหวัดทองผาภูมิได้ยื่นฟ้องนายเปรมชัย กรรณสูต, นายยงค์ โดดเครือ, นางนที เรียมแสน และนายธานี ทุมมาศ เป็นจำเลยที่ 1-4 ในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) โดยไม่ได้รับอนุญาตและข้อหาอื่นๆ อีกหลายข้อหา

ต่อมาวันที่ 19 มี.ค.62 ศาลจังหวัดทองผาภูมิพิพากษาจําคุกนายเปรมชัย 16 เดือน, นายยงค์ จำคุก 13 เดือน, นางนที จำคุก 4 เดือน ปรับ 10,000 บาท รอการลงโทษ 2 ปี และนายธานี จำคุก 2 ปี 17 เดือน

โดยยกฟ้องจำเลยบางข้อหา โดยเฉพาะนายเปรมชัย ศาลยกฟ้องในข้อหาร่วมกันเก็บของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติและข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แต่ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนในข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครอง (เสือดำ) แทน

ต่อมาวันที่ 24 พ.ค.62 อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ได้ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ทุกข้อหา

ต่อมาวันที่ 12 ธ.ค.62 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคนตามที่พนักงานอัยการศาลสูงภาค 7 ยื่นอุทธรณ์ โดยจำคุกนายเปรมชัย 2 ปี 14 เดือน, จำคุกนายยงค์ 2 ปี 17 เดือน, จำคุกนางนที 1 ปี 8 เดือน รอการลงโทษให้ตามศาลชั้นต้น และจำคุกนายธานี 2 ปี 21 เดือน

หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคนตามที่พนักงานอัยการได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว อธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 จึงมีคำสั่งไม่ฎีกา

ต่อมา วันที่ 31 มี.ค.63 จำเลยจำนวน 3 ราย ได้แก่ นายเปรมชัย, นายยงค์ และนายธานีได้ยื่นฎีกาต่อศาลฎีกา และอธิบดีอัยการศาลสูงภาค 7 ได้แก้ฎีกาเรียบร้อยแล้ว ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วจึงนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 8 ธ.ค. 64

ด้านนายสรวิศ ลิมปรังษี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ในฐานะโฆษกศาลยุติธรรม เผยว่า กรณีคดีฆ่าเสือดำคดีนี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว แม้ว่ามีการแก้ไข พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 โดย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกมาตรา 55 ร่วมกันรับไว้ซึ่งซากสัตว์ป่า แต่ยังคงมีความผิดข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.2562

ดังนั้น คงจำคุกนายเปรมชัย จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 2 ปี 14 เดือน คงจำคุกนายยงค์ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 2 ปี 17 เดือน คงจำคุกนายธานี จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 2 ปี 21 เดือน ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 2 ล้านบาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ให้ปรับแก้ไขดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

ทั้งนี้ หลังศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวนายเปรมชัยตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบ RT-PCR ก่อนถอดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลข้อเท้า EM และนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำอำเภอทองผาภูมิต่อไป

2.ศาล รธน.วินิจฉัย 5 อดีตแกนนำ กปปส. พ้นสภาพ ส.ส. หลังต้องคำพิพากษาจำคุก ด้าน "ถาวร" น้ำตาคลอ เจ็บปวดกับคำวินิจฉัย!


เมื่อวันที่ 8ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 1, นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 2, นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 3, นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ถูกร้องที่ 4 และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ผู้ถูกร้องที่ 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2) หรือไม่ จากเหตุต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้จำคุกในคดีชุมนุม กปปส. ปี 2557

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) บัญญัติว่า สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง คืออยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง และมาตรา 98 (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เนื่องจาก ส.ส.ทำหน้าที่นิติบัญญัติ จึงต้องได้รับการกลั่นกรองคุณสมบัติลักษณะต้องห้าม ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีการกระทำผิดมัวหมอง อีกทั้งมาตรา 96 และ 98 บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่นได้

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่าการทำผิดอาญาของผู้ถูกร้องที่ 1-5 มาจากการชุมนุมแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยรับรองว่า เป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญนั้น เป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับรองการกระทำผิดตามกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ ข้อโต้แย้งนี้จึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่แย้งว่า การที่ศาลอาญาไม่ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ใช่การสั่งจำคุกนั้น ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) ต้องถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ได้ ฟังไม่ขึ้น ส่วนเรื่องความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภาในสมัยประชุมที่ไม่อาจถูกจับคุมขัง หรือขัดขวางต่อการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมาประชุมสภานั้น ศาลรัฐธรรมนูญมองว่า เป็นการให้ความคุ้มกันระหว่างการพิจารณาคดี แต่กรณีดังกล่าวคดีสิ้นสุดแล้ว ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนข้อโต้แย้งที่อ้างว่า ลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เป็นลักษณะต้องห้ามที่ใช้ก่อนการรับสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า หาก ส.ส.มีลักษณะต้องห้ามตามมาตราดังกล่าว ย่อมเป็นเหตุให้ ส.ส.สิ้นสุดลงได้ ข้อโต้แย้งดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) ประกอบมาตรา 96 (2) สมาชิกภาพของผู้ถูกร้องที่ 2 และ 4 สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับตั้งแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ 7 เม.ย. 2564 และให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1-4 ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย คือวันที่ 8 ธ.ค. 2564

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าว ส่งผลให้มีตำแหน่ง ส.ส. เขตว่างลง ในพื้นที่เขต 1 ชุมพร และ เขต 6 สงขลา และให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำวินิจฉัย

ส่วนตำแหน่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ว่างลง ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศรายชื่อผู้ที่อยู่ในบัญชีลำดับถัดไปของพรรคการเมืองนั้นมาเป็น ส.ส. แทน และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 7 วัน ซึ่งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐคือ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายจักพันธ์ ปิยะพรไพบูลย์

วันเดียวกัน (8 ธ.ค.) นายถาวร เสนเนียม ซึ่งต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ จากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า แม้ตนจะยอมรับโดยหลักการ แต่เหตุผลตนไม่เชื่อถือ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ระบุว่า เปิดโอกาสให้ศาลพิจารณาคดีในสมัยการประชุมได้ แต่จะไปขัดขวางการทำหน้าที่ไปประชุมของสมาชิกไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญเขียนคำวินิจฉัยเอาไว้ว่า เมื่อพิพากษาเสร็จแล้ว ไม่ใช่กระบวนการพิจารณา เพราะฉะนั้นจะนำมาตรา 125 วรรคสี่มาบังคับใช้ไม่ได้ ถามกลับไปว่า การใช้ดุลพินิจในการให้ประกันตัว ส่งคดีไปยังศาลอุทธรณ์ การใช้ดุลพินิจในการไม่ให้ประกันตัว นั่นเขาเรียกว่าอะไร เขาไม่เรียกว่ากระบวนการพิจารณาโดยใช้ดุลพินิจของศาลหรือ

นายถาวร กล่าวด้วยว่า เมื่อศาลใช้แนวทางอย่างนี้ ต่อไปถ้าหากว่าฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐจับกุม ส.ส.สัก 20 คน ขังสัก 1 นาที ส.ส.เหล่านั้นก็จะขาดการเป็นสมาชิกภาพ ไม่สามารถประชุมลงมติไม่ได้ ก็จะมีการกลั่นแกล้ง แนวทางนี้ขอความกระจ่างจากศาลรัฐธรรมนูญในการใช้ทัศนคติ วิสัยทัศน์ในการมองการณ์ไกลสำหรับวงการการเมือง อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับโดยดุษณีภาพ ซึ่งตนจะไปร้องแรกแหกกระเชอไม่ได้

ทั้งนี้ นายถาวรยังได้นำบัตร 3 ใบมาแสดง คือบัตรประจำตัว ส.ส. สงขลา บัตรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และบัตรสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ มาโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมบอกว่า เจ็บปวดมากสำหรับชีวิตนักการเมือง เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2511 สมัยเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปี 1 มาถึงวันนี้ก็ 53 ปี เป็น 53 ปีของความภาคภูมิใจ 53 ปีของความชื่นชมพรรคประชาธิปัตย์ 53 ปีที่ทุ่มเททำงานร่วมกับเพื่อนพ้องน้องพี่พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่า ตนเป็นผู้ที่มีความมัวหมอง มีความไม่น่าไว้วางใจ มีความน่ารังเกียจจากการกระทำความผิด คุณไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเป็นนักการเมือง ที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคำวินิจฉัยของศาลวันนี้ ส่งผลให้ผมต้องขาดความเป็นสมาชิกภาพพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เพราะในข้อบังคับพรรคล้อกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98

นายถาวร กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นและน้ำตาคลอด้วยว่า "ด้วยน้ำตาตกใน ด้วยอกระทม ด้วยความเจ็บปวด ที่ไม่มีคำบรรยายใดๆทั้งสิ้น ที่จะบอกพี่น้องพรรคประชาธิปัตย์ บอกกรรมการบริหารพรรค บอกบรรพบุรุษของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ผมสิ้นแล้วซึ่งเกียรติยศที่จะเป็นสมาชิกพรรคด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต้องกราบขออภัยจริงๆ ที่ทำให้พรรคมัวหมอง ต้องกราบขอโทษผู้หลักผู้ใหญ่ในพรรคที่ทำให้ท่านผิดหวัง”

3. "หมอเหรียญทอง" ซัดกระทรวงยุติธรรม ขอพระราชทานอภัยโทษให้นักการเมืองโกงชาติคดีจำนำข้าว โดยไม่บังควร-ไม่ชอบด้วย กม. เล็งฟ้องศาลปกครอง-ศาล รธน.!



เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. มีรายงานว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธ.ค.64 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ และปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ

โดยพบว่า มีรายชื่อนักการเมืองและอดีตข้าราชการระดับสูงหลายคนที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ 2564 รอบ 2 ประกอบด้วย

1.นายภูมิ สาระผล อายุ 65 ปี จากคดีจำนำข้าว ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษา ปี 2560 กำหนดโทษ 36 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 12 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 25 ส.ค. 2568

2.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 61 ปี จากคดีจำนำข้าว ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษา ปี 2560 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เม.ย. 2571

3.นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อายุ 69 ปี จากคดีจำนำข้าว ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษา ปี 2560 กำหนดโทษ 40 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 11 ก.ค.2569 ทั้ง 3 รายจำคุกมาแล้ว 4 ปี 3 เดือน 14 วัน

4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อายุ 64 ปี จากคดีจำนำข้าว ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2561 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือโทษจำคุก 9 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน พ้นโทษ 26 ธ.ค.2566

5.นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อายุ 75 ปี นักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ 50 ปี ได้รับอภัยโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือโทษจำคุก 17 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษ ปี 2564 ในรอบสอง เหลือโทษจำคุก 9 ปี 5 เดือน 24 วัน พ้นโทษ 16 ก.ย. 2569

ซึ่งต่อมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศที่มีความประพฤติดีให้ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ และปล่อยตัว ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ รอบ 2 ซึ่งมีนักการเมืองและอดีตข้าราชการระดับสูงที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดวันต้องโทษจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. เฟซบุ๊ก “เหรียญทอง แน่นหนา” ของ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ได้โพสต์ข้อความว่า “คนรักความยุติธรรม รู้ดี รู้ชั่ว รู้คุณแผ่นดิน ซื่อสัตย์สุจริต ตั้งใจประพฤติดี รู้สึกท้อแท้กับกระบวนการของกระทรวงยุติธรรมในการลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่นักโทษปล้นชาติโกงบ้านโกงเมือง ...คุกไม่ได้มีไว้ขังนักการเมืองหรือลิ่วล้อนักการเมืองหรืออย่างไร นักการเมืองต้องโทษโกงชาติมีแต่จะต้องได้รับโทษอย่างสาหัสยิ่งกว่านักโทษทั่วไป กระทรวงยุติธรรมทำ...กันอย่างนี้หรอกหรือ?”

ต่อมา (9 ธ.ค.) พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะได้โพสต์อีกว่า "
การอาศัยช่องทางการขอพระราชทานอภัยโทษลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่นักการเมืองและลิ่วล้อโกงชาติโดยกระทรวงยุติธรรมอย่างไม่คำนึงถึงความรู้สึกรู้สำนึกของวิญญูชนของสังคมโดยรวม ทั้งยังนำมาซึ่งความเสียหายต่อพระเกียรติยศ ถือเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่งของกระทรวงยุติธรรม หากไม่ใช่เพราะผมเกรงการระคายเคืองต่อเบื้องพระยุคลบาทแล้ว ผมจะขอถวายฎีกาคัดค้านกระทรวงยุติธรรม เพื่อปกป้องพระเกียรติยศจากการกระทำไม่บังควรนี้ของกระทรวงยุติธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกานั้นถือว่า เป็นคำพิพากษาที่ดำเนินการภายใต้พระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์อันเป็นที่สุดแล้ว เมื่อพิพากษาตัดสินให้จำคุกนักการเมืองและลิ่วล้อโกงชาติต้องจำคุกหลายสิบปี แต่กระทรวงยุติธรรมกลับอาศัยช่องทางการลดหย่อนผ่อนโทษให้แก่นักโทษ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อบรรทัดฐานความดีงาม อันถือเป็นรากฐานของความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมและประเทศชาติ กระทรวงยุติธรรมได้ทำลายบรรทัดฐานการรู้ดี รู้ชั่ว และนำพาสังคมโดยรวมไปสู่ความจัญไร ไม่เคารพเกรงกลัวต่อกฎหมาย ทั้งๆที่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบหลักของกระทรวงยุติธรรม..."

ต่อมา (10 ธ.ค.) พล.ต.นพ.เหรียญทอง ได้โพสต์อีกว่า "หากนักกฎหมายได้ศึกษาลึกลงไปในรายละเอียดหลักเกณฑ์การขอลดหย่อนผ่อนโทษ, หลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ, กระบวนการประชุมของคณะกรรมการต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งการออกกฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ และหลักเกณฑ์ ตลอดจนองค์ประชุมของคณะกรรมการ/คณะทำงานต่างๆ ระเบียบวาระ พร้อมหลักฐานต่างๆแล้ว จะพบว่า มีกระบวนการหรือขั้นตอนที่กฎกระทรวง ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนการพิจารณาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ ลดหย่อน ผ่อนโทษให้แก่นักโทษมีจุดบกพร่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ. ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ที่ออกตามความในมาตราต่างๆที่เกี่ยวข้อง

"ผมต้องการสื่อความหมายว่า กระบวนการขอพระราชทานอภัยโทษของกระทรวงยุติธรรมนั้นขัดต่อกฎหมายที่มีระดับสูงขึ้นไป หรือหมายความว่า การขอพระราชทานอภัยโทษของกระทรวงยุติธรรมนั้นขัตต่อกฎหมายแม่หรือไม่ชอบด้วยกฎหมายนั่นเอง นักกฎหมายท่านใดจะรับอาสาจับผิดในเรื่องนี้ให้ผมได้บ้าง ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการฟ้องคดีปกครองต่อศาลปกครองหรือศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีคำพิพากษาว่า การขอพระราชทานอภัยโทษโดยกระทรวงยุติธรรมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะมีผลบังคับให้กระทรวงยุติธรรมต้องดำเนินการขอพระราชทานการยกเลิกการพระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษบางราย ทั้งนี้ เพื่อความสงบสุขเรียบร้อยแก่สังคมโดยรวม นักกฎหมายที่มีจิตอาสาในเรื่องนี้ดำเนินการอย่างอิสระได้เลย ได้ผลประการใด แจ้งให้ผมทราบด้วย โทร.02-574-5000 ต่อ 8800 สำนักงาน ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ"

4. “แม่ชีศันสนีย์” ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน คืนสู่ธรรมชาติ จากไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง สิริอายุ 68 ปี!



เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. เพจ “เสถียรธรรมสถาน Sathira Dhammasathan” ได้ออกแถลงการณ์แจ้งข่าวการคืนสู่ธรรมชาติของแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถาน โดยระบุว่า “จากที่ท่านแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ป่วยเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารและเข้ารับการรักษาตั้งแต่ พ.ศ.2560 โดยมีอาการดีขึ้นในช่วงปีแรก และตรวจพบก้อนมะเร็งอีกครั้งในกลางปี 2563 และเข้ารับการรักษาโดยคณะแพทย์อย่างเต็มความสามารถ

กระทั่งวันที่ 3 ธันวาคม พศ 2564 พบว่าอาการไม่ปกติ อ่อนเพลียมาก คณะผู้ดูแลจึงพาท่านเข้ารับการรักษาอีกครั้ง คณะแพทย์พบว่า ก้อนมะเร็งได้ขยายขนาดและลุกลามอย่างมาก ผู้ดูแลจึงตัดสินใจพาท่านกลับมาพำนักที่เสถียรธรรมสถานตามปณิธานของท่านในวันที่ 6 ธันวาคม และคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2564 เวลา 18.23 น สิริอายุ 68 ปี 1 เดือน 7 วัน และนับเป็น 41 พรรษาบนมรรคาแห่งการตื่น..."

วันต่อมา (8 ธ.ค.) น.ส.สายสัมพันธ์ ปัญญสิริ (คุณยายตุ๋ม) พี่สาวของแม่ชีศันสนีย์ และ น.ส.ช่อผกา วิริยานนท์ ลูกศิษย์ของแม่ชีศันสนีย์ ร่วมแถลงกำหนดการพิธีศพของแม่ชีศันสนีย์ว่า การจัดพิธีศพจะดำเนินการใน 3 แนวทาง วันที่ 8-14 ธันวาคม จะจัดพิธีสวดอภิธรรมศพและกราบเคารพกายสังขารเป็นการภายในสำหรับลูกศิษย์เท่านั้น ณ เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพฯ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันโควิด-19 โดยจะมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊ก "เสถียรธรรมสถาน Sathira Dhammasathan" เวลา 18.00 น. ของทุกวัน และเปิดสมุดเยี่ยมออนไลน์ แสดงกตัญญุตาส่งถึงดวงจิตของแม่ชีศันสนีย์

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องการเดินทางมากราบเคารพกายสังขาร จะเปิดให้เข้าตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564-15 กุมภาพันธ์ 2565 โดยขอความร่วมมือแต่งกายชุดขาวเท่านั้น งดพวงหรีด และผู้เดินทางมาร่วมงานจะต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม หากไม่ครบจะต้องมีผลตรวจ ATK ภายใน 24 ชั่วโมง รวมทั้งจำกัดจำนวนคนในการเข้างานด้วย ซึ่งจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

สำหรับพิธีวันที่ 15 ธันวาคม จะมีการเคลื่อนกายสังขารของแม่ชี ไปที่ถ้ำนิพพานชิมลอง จากนั้นจะเคลื่อนกายสังขารของแม่ชีไปสู่หุบเขาโพธิสัตว์ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี

ส่วนการดำเนินงานของเสถียรธรรมสถานหลังจากนี้ น.ส.สายสัมพันธ์ จะเป็นผู้ดูแลหลักแทนแม่ชีศันสนีย์ ซึ่งจะทำมรดกกรรม มรดกธรรม โดยดำเนินทุกกิจกรรมเหมือนกับตอนที่แม่ชียังอยู่ ซึ่งจะดำเนินการผ่านชุมชนนักบวช ฆราวาส และอาสาสมัครมืออาชีพ

สำหรับแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หรือนามเดิม ศันสนีย์ ปัญญศิริ (ตุ๊กตา) เกิดเมื่อวันที่ 31 ต.ค.2496 เป็นบุตรีของนายเฉลียว จรัสศรี อดีตนายอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนางจำลอง พรหมินทะโรจน์ อดีตครูประจำโรงเรียนบางปะหัน (เชื่อมประชานุกูล) สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนฝึกหัดครู วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา และปริญญาตรีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

แม่ชีศันสนีย์สละทางโลก บวชชีที่วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต ถนนวัชรพล แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2523 โดยมีพระครูภาวนาภิธาน หรือพระครูสรวิชัย (เส็ง) ยสินธโร อดีตเจ้าอาวาสผู้ก่อตั้งวัด เป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งเมื่อปี 2530 ได้ก่อตั้ง ‘เสถียรธรรมสถาน’ สถานปฏิบัติธรรมบนพื้นที่ 14 ไร่ บนถนนวัชรพล ก่อนจะขยับขยายก่อตั้ง สาวิกาสิกขาลัย ในรูปแบบมหาวิชชาลัยธรรมะเพื่อเยียวยาสังคม เมื่อปี 2551 และก่อตั้งธรรมาศรม ชุมชนสาธิตของวิถีชีวิตด้านธรรมะในปี 2560

5. ไทยพบผู้ป่วยโควิด “โอมิครอน” แล้ว 4 ราย ด้าน สธ.ยัน ยังไม่พบการติดเชื้อในไทย!



เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงถึงการเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนว่า ได้มีการตรวจพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยแล้ว โดยเป็นชายชาวอเมริกัน แต่เดินทางมาจากสเปน เข้าไทยในรูปแบบ test and go เก็บตัวอย่างครั้งที่ 1 วันที่ 30 พ.ย.64 พบว่า โอกาสเป็นสายพันธุ์โอไมครอนสูงมาก 99.92% และตรวจเชื้อซ้ำเมื่อ 3 ธ.ค. เบื้องต้น ค่อนข้างแน่นอนว่า เป็นสายพันธุ์โอมิครอนรายแรกของไทย โดยขณะนี้เข้ารับการรักษาในระบบแล้ว

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า องค์การอนามัยโลกระบุว่า ยังไม่มีการรายงานผู้เสียชีวิตจากโอมิครอนแม้แต่รายเดียว ตรงกับข้อมูลหลายหน่วยงานว่า ความรุนแรงน้อยกว่าเดลต้าค่อนข้างมาก

หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนจากต่างประเทศรายแรกในไทย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปวางมาตรการและกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับความชัดเจนกรณีการวางมาตรการและการปรับเพิ่มระดับความเข้มข้นของพื้นที่ เพื่อป้องกันเชื้อโอมิครอน คาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงเดือน ม.ค. เนื่องจากต้องรวบรวมข้อมูล และต้องเรียกบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมาแจกแจงว่า อาการเป็นอย่างไร มีการเสียชีวิตหรือไม่ และเกิดในพื้นที่ใด เพราะแต่ละพื้นที่เองก็มีความแตกต่างกันในเรื่องของการฉีดวัคซีนด้วย แต่ขณะนี้ข้อมูลยังไม่มากพอที่จะสรุปข้อมูล”

2 วันต่อมา (8 ธ.ค.) นพ.โอภาส การย์กวินพงษ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า ได้ตรวจพบหญิงไทยที่เดินทางกลับจากไนจีเรีย 2 ราย ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน แต่รักษาหายแล้ว โดยเป็นการตรวจสอบย้อนหลัง หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้โอมิครอนเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เมื่อวันที่ 26 พ.ย. และได้รับข้อมูลจากหลายประเทศว่า เจอโอมิครอนมาตั้งแต่ต้นเดือน พ.ย. หรือก่อนหน้าแล้ว จึงนำเชื้อของผู้ที่เข้าประเทศไทยผ่านระบบกักตัวที่เดินทางมาก่อน 24 พ.ย. ที่มีผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก เอาเชื้อไปตรวจซ้ำ จึงพบว่า มี 2 รายที่ติดเชื้อโอมิครอน

วันเดียวกัน (8 ธ.ค.) ศบค.แถลงว่า หญิงไทย 2 รายที่ติดเชื้อโอมิครอนดังกล่าว อายุ 36 ปี และ 46 ปี เป็นล่าม และได้ไปเข้าร่วมประชุมเป็นตัวแทนคริสตจักรที่ประเทศไนจีเรีย โดยมีผู้เดินทางไปด้วยกันทั้งหมด 20 คน อีก 17 คนเป็นชาวต่างชาติ ไปประชุมวันที่ 13-23 พ.ย. โดยหญิงไทย 2 รายดังกล่าวได้ตรวจ RT-PCR ที่ไนจีเรียวันที่ 21 พ.ย. ก่อนเดินทางกลับไทย 23 พ.ย. และเริ่มมีอาการเมื่อถึงไทย โดยเข้าสู่ระบบกักตัวทันที และพบว่า เป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้ระหว่างประชุมที่ไนจีเรียมีการทำกิจกรรมที่ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย เมื่อผลตรวจ RT-PCR วันแรกที่มาถึงเป็นบวกทั้งคู่ จึงย้ายไปรักษาที่ รพ.จนครบกำหนดวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษก ศบค.เผยด้วยว่า “วันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งที่ประชุมจะมีการพิจารณาผ่อนคลายต่างๆ เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น และมีการพิจารณาจากความครอบคลุมในการได้รับวัคซีนของจังหวัดต่างๆ”

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่า พบชายไทยที่มีโอกาสติดโควิดสายพันธุ์โอมิครอนอีก 1 รายเป็นรายที่ 4 ที่ไทยตรวจพบ โดยชายไทยดังกล่าว อายุ 41 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ยูเอ็น เดินทางจากดีอาร์ คองโก เข้าไทยผ่านระบบไม่กักตัว (Test and go) มีประวัติรับวัคซีนแอสตร้าฯ 2 เข็ม ตรวจเบื้องต้น วินิจฉัยขณะนี้ว่า มีโอกาสเป็นโอไมครอน

นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า “สรุปไทยมีคอนเฟิร์มโอมิครอน 3 ราย เป็นชาวอเมริกัน 1 ราย และเป็นหญิงไทย 2 ราย ที่เดินทางจากประเทศไนจีเรีย ส่วนรายที่ 4 เป็นชายไทย เดินทางมาจากต่างประเทศ ย้ำว่า ยังไม่พบเคสที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะนี้ผลตรวจรายที่ 4 เบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นโอมิครอน ซึ่งต้องรอผลการตรวจยืนยันอีกครั้ง และทางกรมควบคุมโรคกำลังสอบสวนติดตามผู้สัมผัส”


กำลังโหลดความคิดเห็น