xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เผยภาคประชาชนเสนอ กบง.คุมค่าการตลาดน้ำมัน เลิกใช้ค่าเฉลี่ยแล้วคิดสูงเกินควร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” เผย การประชุมคณะทำงานเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม เมื่อ 8 ธ.ค.ตัวแทนภาคประชาชนยื่นข้อเสนอผ่านปลัดกระทรวงเพื่อให้ กบง.มีมติควบคุมค่าการตลาดน้ำมัน ไม่ให้ใช้วิธีเฉลี่ยอย่างที่เคยทำมา เพื่อให้ราคาน้ำมันสอดคล้องตามราคาที่ควรจะเป็น

วันนี้ (9 ธ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ผู้เสนอตัวลงสมัครรับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ ภาคประชาชนเสนอ กบง.คุมค่าการตลาดตามมติตัวเองเพื่อคุ้มครองประโยชน์ผู้ใช้น้ำมัน มีรายละเอียดระบุว่า เมื่อวานนี้ (8 ธค. 2564) มีการประชุมคณะทำงานเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม ที่กระทรวงพลังงาน โดยมีปลัด กุลิศ สมบัติศิริ เป็นประธานในที่ประชุม ผู้ประชุมประกอบด้วยทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักนโยบายและแผนพลังาน และคณะผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่านจากกระทรวงพลังงาน ส่วนภาคประชาชนคือกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกมีผู้ทรงคุณวุฒิฝ่ายประชาชน 3 ท่าน
การพูดคุยในเมื่อวานนี้เป็นประเด็นเรื่องค่าการตลาดในโครงสร้างราคาน้ำมัน

จากการเก็บข้อมูลของฝ่ายประชาชน ค่าการตลาดเป็นปัญหาในการลดราคาน้ำมันเมื่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ที่สูตรราคาน้ำมันไทยใช้อ้างอิงลดลง ราคาน้ำมันหน้าปั๊มจะลดน้อยกว่าที่ควรเป็นอยู่หลายครั้ง ยกตัวอย่างเมื่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ลดลงเฉลี่ย 1 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากโรงกลั่นในประเทศไทยลดลงประมาณ 20 สตางค์/ลิตร แต่สิ่งที่ปรากฏคือราคาน้ำมันหน้าปั๊มมักจะลดน้อยกว่าที่ควรเป็น ตัวอย่างเช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ลดลงเฉลี่ย 3 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ราคาน้ำมันในประเทศเราที่หน้าปั๊มควรจะลดลง 60 สตางค์/ลิตร แต่เท่าที่เก็บข้อมูลที่ผ่านมาราคาน้ำมันหน้าปั๊มในประเทศอาจจะลดแค่ 20 หรือ 40 สตางค์/ลิตร ทำให้ส่วนต่างค่าน้ำมันส่วนที่เหลือจะถูกโยกไปไว้ในค่าการตลาดน้ำมันแทนที่จะลดให้ผู้ใช้น้ำมัน

ค่าการตลาดที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)ได้ให้ความเห็นชอบ ได้ระบุไว้ว่าน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอลล์ 95 และ 91 อยู่ 1.85 บาท/ลิตร และดีเซลบี7 อยู่ที่ 1.40 บาท/ลิตร แต่ที่ผ่านมาผู้ค้าน้ำมันมักอ้างว่าเป็นการเฉลี่ยค่าการตลาดทั้งปี แต่ก็ไม่เคยพบว่าค่าการตลาดน้ำมันเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 1.85 บาท/ลิตร

จากการประชุมคณะทำงานเพื่อราคาพลังงานที่เป็นธรรม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรเป็นมรรคเป็นผลในการทำให้เกิดราคาน้ำมันที่เป็นธรรมต่อประชาชน ในส่วนของการคิดราคาเนื้อน้ำมัน การเรียกร้องของฝ่ายประชาชนขอให้ยกเลิกต้นทุนสมมติว่าไทยนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์มาไทยที่มีการบวกสูตรค่าขนส่ง ค่าประกันภัยและค่าน้ำมันหกเอาไว้ทั้งที่น้ำมันสำเร็จรูปกลั่นในไทยทั้งหมดจึงเป็นต้นทุนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ ยังมีการบวกค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เรียกรวมกันว่าค่าพรีเมี่ยม ทำให้เนื้อน้ำมันหน้าโรงกลั่นแพงกว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ที่ไทยใช้อ้างอิงอยู่ประมาณ 1-1.20 บาท/ลิตร แต่ละปีเป็นเงินที่เก็บเกินจากประชาชนถึงประมาณ 36,000 ล้านบาท

แม้ว่าในการประชุมเมื่อต้นปี 2564 ปลัดกระทรวงพลังงานให้ลดราคาเนื้อน้ำมันลงไป 50 สตางค์/ลิตร โดยระบุว่าเป็นการลดเพื่อความเป็นธรรม แต่ไม่ตัดสิทธิการถกเถียงเรื่องราคาเนื้อน้ำมันที่เหมาะสมต่อไป
แต่การลดราคาเนื้อน้ำมัน 50 สตางค์/ลิตร ไม่เกิดผลให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มจะลดลงอย่างเหมาะสม ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลงเพราะผู้ประกอบการสามารถย้ายค่าน้ำมันที่ลดลงไปไว้ในค่าการตลาดแทนที่จะลดให้ประชาชน
การประชุมเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 ดิฉันและคณะทำงานฝ่ายประชาชนขอให้ท่านปลัดได้นำเรื่องเสนอต่อ กบง. เพื่อกำกับมติของ กบง.เรื่องค่าการตลาดน้ำมันที่เหมาะสมโดยให้ผู้ประกอบการคุมค่าการตลาดน้ำมันชนิดที่มียอดใช้มากที่สุดต่อวันคือ แก๊สโซฮอล์ 95 ไม่เกิน 1.85 บาท/ลิตร และดีเซล บี7 ไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร โดยไม่ให้ใช้วิธีเฉลี่ยอย่างที่เคยทำมาตลอด ซึ่งทำให้การลดราคาน้ำมันที่หน้าปั๊มไม่ได้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ให้ทดลองปฏิบัติในระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม 2565 เพื่อนำมาประเมินผลต่อไปว่าสามารถกำกับราคาน้ำมันในโครงสร้างราคาอย่างเป็นธรรมได้หรือไม่
ท่านปลัดกุลิศยินดีนำเรื่องนี้เข้าเสนอต่อที่ประชุม กบง.ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธานภายในเดือนธันวาคมนี้ จึงถือว่าการประชุมนัดนี้ เป็นการประชุมที่มีข้อตกลงที่สำคัญ

อย่างไรก็ดี ก่อนปิดประชุม ผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงพลังงานท่านหนึ่ง เสนอว่าไม่ให้บันทึกว่าข้อตกลงนี้เป็นมติในที่ประชุม แต่ให้เป็นมติของภาคประชาชนของกลุ่มผีเสื้อกระพือปีกที่ท่านปลัดกระทรวง จะนำไปเสนอต่อ กบง.เอง
ก็ต้องรอดูต่อไปว่าข้อเสนอของภาคประชาชนที่เรียกร้องให้ กบง.มีการกำกับดูแลให้ฝ่ายผู้ประกอบการปฏิบัติตามมติ กบง.ที่ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงพลังงานเรียกว่าเป็นมติของภาคประชาชนฝ่ายเดียวนั้น ทั้งที่เป็นมติที่ออกโดย กบง. มาตั้งแต่ต้น กบง.จะยอมรับและกำกับให้เป็นไปตามมตินั้นหรือไม่






กำลังโหลดความคิดเห็น