สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็น “กรอบแผนพลังงานชาติ” ผ่านระบบออนไลน์ และแบบออนไซต์ แล้วจำนวน 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน คาดแผนพลังงานแห่งชาติจะเริ่มใช้ได้จริงปี 2566 ก่อนมอบให้แต่ละหน่วยงานจัดทำ 5 แผนย่อย เพื่อสรุปเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอีกครั้งช่วงปลายปี 2565
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมานั้น สนพ.ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ในรูปแบบออนไลน์ และแบบออนไซต์ จำนวน 5 ครั้ง โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พบว่ามีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ ที่เป็นหน่วยงานเอกชน และภาครัฐ โดยเร็วๆ นี้ สนพ.จะเร่งเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนทั่วประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชน และ NGO ในลำดับต่อไป ก่อนจะนำไปสู่การจัดทำแผนย่อย 5 แผนเพื่อเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ปลายปี 2565 และเริ่มใช้ได้จริงปี 2566
“การจัดทำแผนดังกล่าวยังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่เสนอ กพช. ที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Neutral-carbon economy) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด” นายวัฒนพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สนพ.ได้เปิดรับความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น / กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 กลุ่มสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้แทนด้าน Renewable Energy ผู้แทนจากสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย ผู้แทนจากสมาคมค้าเอทานอลไทย ผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ผู้แทนจากภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันการเงิน คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เป็นต้น
นอกจากนี้ ประชาชนจากทุกภาคส่วนยังสามารถเข้าแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพลังงานชาติฉบับนี้ได้ที่ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันนี้-วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเชื่อว่าการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคมจะทำให้ได้แผนพลังงานชาติที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจัดทำแผนฯ ร่วมกันกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย และจะนำเสนอ กบง.และ กพช. ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
สำหรับกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) นั้น จะเป็นแผนที่กำหนดทิศทางของกรอบเป้าหมายนโยบายพลังงานให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ดังนั้น กรอบแผนนี้จะเป็นการบูรณาการว่าทิศทางในการพัฒนาพลังงานของประเทศในอีก 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีข้างหน้านั้นจะไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร เช่น การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการใช้ฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว และการมีนวัตกรรมใหม่ต่างๆ มารองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ รวมทั้งการประชุม COP26 ในระดับผู้นำ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยจะบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality” ในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุการเป็นประเทศ Net Zero Emission ในปี ค.ศ. 2065
ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมลพิษสู่อากาศทั้งสิ้น 225 ล้านตัน โดยมาจากภาคพลังงาน 90 ล้านตัน และประมาณ 70 ล้านตันพบว่ามาจากภาคการขนส่ง 2 ส่วนนี้คิดเป็น 60% ดังนั้น หากมีการกำหนดมาตรการลดคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมกับมีการดำเนินการด้านการลงทุนของพลังงานสะอาดก็จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย ทั้งนี้ สนพ.จึงมีการกำหนดกรอบแผนพลังงานนี้อีกครั้ง โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) จะมีความคืบหน้าในหลายๆ ด้าน เช่น การสนับสนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการประกาศนโยบาย 30@30 การสนับสนุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) สำหรับการสำรองไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบปัจจุบัน การพัฒนาระบบสายส่งให้เป็นลักษณะการสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) เป็นต้น