เปิดแผน 2 การไฟฟ้าฯ “จัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟ” หลังลุงตู่ ฉะ! กลางวง ครม. “รกรุงรัง” เฉพาะ “กฟน.” จัดแล้ว 100 กม. 17 เส้นทาง มีแผน 3 ปี ยุบรวมสาย 1.5 พัน กม. พื้นที่ กทม./นนท์/ปากน้ำ ให้เหลือน้อยที่สุด รับยังไม่ได้รื้อสายไม่ใช้งาน โวย! “คอนไม้” ของ NT ผุพังไร้ของใหม่ทดแทน แถมคอนสายสื่อสารซับซ้อน ปูดถูก “กสทช.” สั่งชะลอ ด้าน “กฟภ.” ย้ำแผน 5 ปี จัดระเบียบ 4.5 พันเส้นทาง 7.9 พัน กม. ส่วน “ทางหลวง” 1-4 เริ่มปี 69
วันนี้ ( 5 ธ.ค. 64 ) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้รายงานความคืบหน้าโครงการการจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ให้ที่ประชุมติดตามนโยาบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทยรับทราบ
ภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มีข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะให้เร่งจัดระเบียบสายสื่อสารบนเสาไฟฟ้า ที่รกรุงรังในหลายพื้นที่ส่วนกลางและในระดับภูมิภาค
กฟน. รายงานว่า จากแผนดำเนินการเขตพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี และ สมุทรปราการ ระยะทางรวม 350 กิโลเมตร (กม.) ภายในปี 2564
“พบว่า สายสื่อสารที่มีจำนวนมาก รกรุงรัง เนื่องจากยังไม่มีการรื้อสายที่ไม่ใช้งานออก พบว่า คอนไม้ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (บมจ.NT) ผุพังไม่มีการเปลี่ยนทดแทนใหม่ ไม่มีคอน ยึดสายไว้ที่เสา Loop (สายขด) มากเกินไป ไม่เป็นมาตรฐาน และมีคอนสายสื่อสารที่ซับซ้อน”
กำลังอยู่ในขั้นตอนคัดเลือกเส้นทาง 3 ช่องจราจร ที่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เพื่อติดตั้งคอนสายลื่อสาร ดำเนินการติดสติกเกอร์แสดงเจ้าของสาย ยึดสายที่ใช้งานไว้บนคอนสายฯ ของ กฟน. คัดสายที่ไม่ใช้งาน หรือ ยุบรวมสายให้เหลือน้อยที่สุด (รายละไม่เกิน 3 เส้น)
โดยจะทำการบันทึกข้อมูลใน Application “CCM” ที่ออนไลน์ ระหว่างโอเปเรเตอร์ กฟน .และ กสทช. จัดเก็บข้อมูล เพื่อใช้ตรวจสอบ ควบคุม ติดตามการพาดสายสื่อสาร และให้ผู้ประกอบกิจการฯ ขออนุญาตพาดสายแบบ ออนไลน์ ที่จะเริ่มใช้งานเดือน ธ.ค. 2564
ล่าสุด ได้จัดระเบียบการพาดสายบนเสาไฟฟ้า 100 กิโลเมตร 17 เส้นทาง ในเส้นทางหลัก 4 ช่องจราจรขึ้นไป อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ ตามมาตรฐานใหม่ โดยให้ติดตั้งอุปกรณ์จับยึดสายสื่อสารบนคอนสายสื่อสาร ส่วนที่เหลือจะดำเนินการในปี 2565
ยังมีแผนในปี 2565-2567 จัดระเบียบ 1,500 กม. ด้วยวิธีติดตั้งคอนสายสื่อสาร ในปี 2564 ระยะทาง 100 กม. ปี 2565 ระยะทาง 450 กม. ปี 2566 ระยะทาง 450 กม. และปี 2567 ระยะ 500 กม.
กฟน.ยังยอมรับว่า การจัดระเบียบไม่เป็นไปตามแผนฯ เนื่องจาก ที่ผ่านมา กสทช. แจ้งให้ชะลอการจัดระเบียบสายสื่อสาร เนื่องจากได้รับการร้องขอจากสมาคมโทรคมนาคมฯขอลดปริมาณการจัดระเบียบสายสื่อสาร จาก 750 กิโลเมตร/ปี เป็น 350 กิโลเมตร/ปี และชะลอการจัดระเบียบสายสื่อสาร แบ่งเป็นเฟสๆ
รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการ ควบคุมของภาครัฐในการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรค โควิด-19
โดยหวังลดปัญหาเสาไฟฟ้าล้ม เนื่องจากรถยนต์เกี่ยวสายสื่อสาร ลดปัญหาเพลิงไหม้สายสื่อสาร และควบคุมการละเมิดพาดสายสื่อสาร
ขณะที่ กฟภ. รายงาน โครงการเดียวกันว่า กฟภ.เข้ามาเป็นตัวกลางฯ จัดทำแผน กำหนดเส้นทาง และว่าจ้างผู้รับเหมาควบคุมงาน และจัดหาคอนสายสื่อสาร และ Network Operator จ่ายค่าใช้จ่ายในการจัดระเรียบให้ กฟภ.
ขณะที่ในปี 2563 ดำเนินการแล้ว 3,891 เส้นทาง จาก 7,608 กม. ทั่วประเทศ ตามข้อมูล ณ 26 พ.ย. 64 ได้ดำเนินการในปี 2564 แล้ว 1,240 เส้นทาง 2,691 กม. ทั่วประเทศ ดำเนินการแล้วเสร็จ 462 เส้นทาง หรือ 37.26%
กฟภ. มีแผน 5 ปี จัดระเบียบ จำนวน 4,538 เส้นทาง ระยะ 7,935.74 กม.
ตามแผนปี 2565 เส้นทางวิกฤต 1,165 เส้นทาง ระยะ 1,892.5 กม. ที่มีสายอุปกรณ์สื่อสารจำนวนมาก ซึ่งเกินมาตรฐานความสามารถของเสาไฟฟ้า ในการรองรับสายและหรืออุปกรณ์สื่อสารฯ และมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการแก้ไข)
ปี 2566 เส้นทางในเขตเทศบาล ที่มีสายสื่อสารโทรคมนาคมหนาแน่น หรืออยู่ในสภาพรกรุ่งรัง 862 เส้นทาง ระยะ 1,478.45 กม.
ปี 2567 เส้นทางแหล่งท่องเที่ยว หรือสถานที่ราชการที่สำคัญๆ ที่มีสายสื่อสารโทรคมนาคมจำนวนมาก และอยู่ในสภาพรกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย 846 เส้นทาง 1,608.64 กม.
ปี 2568 เส้นทางหน้าสำนักงานการไฟฬาส่วนภูมิภาคทุกแห่ง 848 เส้นทาง ระยะ 1,478.42 กม.
ปี 2569 เส้นทางถนนสายหลักที่มีผู้คนสัญจรเป็นจำนวนมาก และมีสายสื่อสารโทรคมนาคมอยู่ในสภาพรกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบหรือเป็นเส้นทางวิกฺฤต หรือจุดอันตราย จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพยสินของประชาชนที่อาศัยหรือสัญจรเส้นทางดังกล่าว เช่น ถนนทางหลวงหมายเลข 1-4 เป็นต้น 817 เส้นทาง ระยะทาง 817 ระยะ 1,477.73 กม.