xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เร่งยกระดับมาตรฐานท่าเรือสำราญ ชายฝั่งอ่าวไทย พร้อมพัฒนาและฟื้นฟูหาดทราย กระตุ้นการท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รมว.คมนาคม เร่งยกระดับมาตรฐานท่าเรือสำราญ (Marina) บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย พร้อมพัฒนาและฟื้นฟูหาดทราย เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว สร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ

วันนี้ (9 ธ.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลและสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า (จท.) พร้อมมอบให้ จท. เร่งพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศของไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี นายขวัญเลิศ พานิชมาท สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมคณะตรวจราชการ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด จังหวัดชลบุรี

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า จท. ได้จัดทำแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเล ด้านการเสริมทรายชายหาด (Beach Nourishment) เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ฟื้นฟูพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง จท. ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเสริมทรายฟื้นฟูชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้ง สตรีท แล้วเสร็จในปี 2562 จึงเป็นต้นแบบขยายโครงการต่อเนื่องไปในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี ระยะที่ 1 ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร คาดว่า จะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2565 รวมทั้งมีแผนงานเสริมทรายชายหาดท่องเที่ยวในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น ชายหาดบางแสน ชายหาดสมิหลา ชายหาดชะอำ ชายหาดเขาหลัก ชายหาดบางเสร่ ชายหาดอ่าวดงตาล ชายหาดแสงจันทร์ ชายหาดปราณบุรี และชายหาดทรายรี เป็นต้น โดยใช้งบประมาณ 5,400 ล้านบาท ระยะทางรวมประมาณ 42 กิโลเมตร ซึ่งการเสริมทรายชายหาดนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะและฟื้นฟูชายหาดอย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยส่งเสริม สนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับประเทศอีกด้วย

กระทรวงคมนาคมเล็งเห็นโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือสำราญขนาดใหญ่ของภูมิภาค เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังจ่ายสูง เนื่องด้วยประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร พร้อมทั้งทรัพยากรเกาะแก่ง แหล่งท่องเที่ยว และเมืองริมชายฝั่งที่มีความสวยงาม มีชื่อเสียง ท่าเรือมารีน่า เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูง ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและกระจุกตัวอยู่ทางด้านบริเวณชายฝั่งอันดามัน จึงมีแผนงานโครงการเพื่อพัฒนาท่าเรือมารีน่าบริเวณชายฝั่งอ่าวไทย ประกอบด้วย 1) ศึกษาและวิเคราะห์ให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี 2) ศึกษาสำรวจออกแบบท่าเรือต้นทาง สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน และ 3) ศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจการออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ซึ่งได้เริ่มศึกษาในปี 2563 โดยจะดำเนินการเวลา 2 ปี เมื่อแล้วเสร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรมจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันช่วยเพิ่มสัดส่วนรายได้ด้านการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ และเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางผ่านด่านทางน้ำ รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้  สร้างโอกาสให้แก่ประเทศชาติและประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีข้อสั่งการให้ จท. ดำเนินการศึกษาการพัฒนาท่าเรือมารีน่าในรูปแบบ การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ การบริหารจัดการให้แก่ผู้ใช้บริการ รวมถึงเป็นการเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้ภาครัฐเพื่อนำมาใช้ ในการศึกษาแผนพัฒนา ควบคุม กำกับ ดูแลท่าเรือมารีน่าในระยะต่อๆ ไป

สำหรับการตรวจสอบสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่รับผิดชอบ จท. ได้นำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศและข้อมูล ภาพถ่ายทางอากาศมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสนับสนุนการบริหารงาน ด้านการกำกับ ดูแล ควบคุม แก้ไข ตรวจสอบ รวมทั้งสนับสนุนการวางแผนและแก้ไขปัญหาการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ได้ตรวจสอบและรายงานสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 1,360 รายการ ดังนี้

1) สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่แจ้งการครอบครอง ตาม พ.ร.บ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 32/2560 จำนวน 1,307 รายการ  2) ขออนุญาต และตรวจพบ ตาม พ.ร.บ.การเดินเรือฯ จำนวน 53 รายการ  3) สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ได้รับอนุญาต จำนวน 453 รายการ 4) สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 247 รายการ 5) สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 352 รายการ 6) สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณา จำนวน 308 รายการ

ซึ่งที่ผ่านมา จท. ได้ประชุมคณะทำงาน เพื่อบังคับให้มีการรื้อถอนหรือแก้ไขสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รื้อถอนหรือแก้ไขสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามคำสั่งกรมเจ้าท่า ที่ 615/2563 เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามข้อกฎหมายที่ถูกต้อง


















กำลังโหลดความคิดเห็น