xs
xsm
sm
md
lg

วช. จับมือ GISTDA และกรมโรงงานฯ ลงนาม MOU ชูศักยภาพเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน-โรคอุบัติใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



GISTDA ร่วมกับ วช. และ กรมโรงงานฯ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการบริหารจัดการ การผลิต ลดผลกระทบด้านภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งการบริหารสถานการณ์ต่างๆ และโรคอุบัติใหมใน รง. เพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในการศึกษา วิจัย พัฒนา และจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ พัฒนาต้นแบบการเฝ้าระวังและลดผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับโรงงานขนาดใหญ่ที่มีแรงงานจำนวนมาก

วันนี้ (7 ธ.ค.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการบริหารจัดการ การผลิตการลดผลกระทบด้านภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารสถานการณ์ต่าง ๆ และโรคอุบัติใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรม โดยมี รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. และนายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมเป็นประธานในพิธี ณ โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ ถนนรางนา กรุงเทพฯ
ในโอกาสนี้ รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวง อว. ได้กล่าวแสดงความยินดีว่า การตัดสินใจบนภาวะวิกฤติของประเทศ ข้อมูลถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งข้อมูลจากอวกาศจะช่วยให้เราเห็นภาพกว้าง ภาพใหญ่ ที่สามารถช่วยบริหารภาวะวิกฤติให้ดียิ่งขึ้นโดยไทยได้ประสบกับภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนามาตลอดสองปี อีกทั้งเหตุระเบิดของโรงงานสารเคมี ที่จังหวัดสมุทรปราการ ยังทำให้เกิดวิกฤติซ้ำซ้อน ภาคแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกหน่วยงานที่จะบูรณาการการทำงานร่วมกัน ด้วย อว.ประกอบไปด้วยหน่วยงานสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหวังว่าจะเกิดความร่วมมือเช่นนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ต่อจากนี้
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานฯ ตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมถึงเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ด้วยข้อมูลจากGISTDA จะเป็นการแจ้งเตือนให้กับกรมโรงงานฯในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เนื่องจากโรงงานจะตั้งอยู่ในเขตชุมชน เช่น การวางแผนอพยพหากเกิดสารเคมีรั่วไหลในโรงงาน การใช้ฐานข้อมูลด้านผู้ติดเชื้อโควิด-19 สถานการณ์น้ำท่วมโรงงานและชุมชน เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือกันในครั้งนี้จะช่วยในการบริหารจัดการโรงงานอุตสาหกรรมทางทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม สารเคมีและวัตถุอันตราย ให้เกิดความปลอดภัย และลดผลกระทบด้านภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ รวมถึงการบริหารสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งโรคอุบัติใหม่ที่มีต่อโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศได้ทันต่อเหตุการณ์ สามารถวางแผน พัฒนา ติดตามและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกรมโรงงานฯ ที่วางไว้ สามารถยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ตามกรอบความร่วมมือที่เราจัดทำในวันนี้
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า วช.ภายใต้กระทรวง อว. ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการพัฒนาเชิง platform โดยความร่วมมือในครั้งนี้ของทั้ง 3 หน่วยงาน GISTDA จะได้วางโครงสร้างของระบบ ในการเป็นต้นแบบ Demand site ตอบโจทย์ความต้องการของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อแล้วเสร็จจะมีการขยายผลออกมาในเชิงประจักษ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานของระบบ ในอนาคตจะได้เห็นภาพของการทำงานที่ใหญ่ขึ้น ทางกรมโรงงานฯจะได้รับ Role model ไปขยายผลในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง ความร่วมมือกันในครั้งนี้เราจะระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ เพื่อส่งเสริมและ สนับสนุนให้ภารกิจบรรลุตามเป้าหมาย
ขณะที่ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา GISTDA ได้ร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และ วช. ในการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงาน ย่านกิ่งแก้ว เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นต้น โดยครั้งนี้ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันประยุกต์ใช้เทคโนโลยี อวกาศและภูมิสารสนเทศในการศึกษา วิจัย พัฒนา และจัดทำฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ รวมถึงส่งเสริม และพัฒนาองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อการพัฒนาต้นแบบการเฝ้าระวังและลดผลกระทบการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินจากภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตกับโรงงานขนาดใหญ่ ที่มีแรงงานจำนวนมาก โดยการพัฒนาต้นแบบดังกล่าว จะสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับได้ และมีความทันสมัยเป็นปัจจุบัน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอย่างทันท่วงที อีกทั้งยังใช้กำหนดมาตรการ ป้องกันการควบคุมสถานการณ์การแพร่กระจายและลดผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด






















กำลังโหลดความคิดเห็น