xs
xsm
sm
md
lg

“ธนกร” เผยการขนส่งสินค้าท่าเรือกลับมาคึกคักยอดการส่งออกไทย 9 เดือนแรก ขยายตัว 15.5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โฆษกรัฐบาล เผย การขนส่งสินค้าท่าเรือกลับมาคึกคัก ยอดการส่งออกไทย9เดือนแรกขยายตัว 15.5% เป็นไปตามข้อสั่งการนายกฯ 

วันนี้ (18 พ.ย.) นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ผลการดำเนินงานของในรอบปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 2563 - กันยายน 2564) มีเรือเทียบท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ และท่าเรือแหลมฉบัง รวม 13,840 เที่ยว เพิ่มขึ้น 1.9% สินค้าผ่านท่า 111.630 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6.9% และตู้สินค้าผ่านท่า 9.857 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 8.6% รวมรายได้ 15,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.99% ซึ่งการเติบโตของตู้สินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น มาจากการที่ไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้นต่อเนื่อง อีกส่วนหนึ่งมาจากข้อสั่งการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่สั่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าในภาคธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลทันที ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านโดยรัฐบาลมีการมาตรการต่างๆ อาทิ กรมเจ้าท่าออกประกาศให้เรือที่มีความยาวมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้าเทียบท่า ปรับลดภาระตู้สินค้าเปล่าขาเข้าผ่านท่าเรือกรุงเทพ ชดเชยค่ายกตู้ขนส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ท่าเรือแหลมฉบับ เป็นต้น ช่วยบรรเทาการขาดแคลนตู้สินค้า สนับสนุนให้ค่าระวางเรือขนส่งจากไทยลดลง ส่งผลให้บริการสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่าสูงขึ้นด้วย

นายธนกร กล่าวว่า ที้งนี้ ผลการดำเนินงาน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกับปีที่ผ่านมา ดังนี้
1) ท่าเรือกรุงเทพ เรือเทียบท่า 4,170 เที่ยว เพิ่มขึ้น 9.1% ตู้สินค้าผ่านท่า 1.438 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 0.2%
2) ท่าเรือแหลมฉบัง เรือเทียบท่า ลดลง 1.0% ตู้สินค้าผ่านท่า 8.419 ล้าน ที.อี.ยู. เพิ่มขึ้น 10.2%
3) ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน เรือเทียบท่า 2,231 เที่ยว ลดลง 10.5% ตู้สินค้าผ่านท่า 5,064 ที.อี.ยู. ลดลง 32.3%
4) ท่าเรือเชียงของ เรือเทียบท่า ลดลง 96.6% สินค้าผ่านท่า ลดลง 98.9%
5) ท่าเรือระนอง เรือเทียบท่า เพิ่มขึ้น 15.9% ตู้สินค้าผ่านท่า เพิ่มขึ้น 53.0%
โดยในปีงบประมาณ 2565 นี้ ยังประมาณการตู้สินค้าผ่านท่าที่ท่าเรือกรุงเทพ 1.43 ล้าน ที.อี.ยู. และท่าเรือแหลมฉบัง 8.243 ล้าน ที.อี.ยู. ด้วย

นายกรัฐมนตรีผลักดันการส่งออกไทยให้เป็นเครื่องจักรสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเร่งแก้ไขปัญหาภาคส่งออกทั้งระบบ สั่งแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคการส่งออกด้วยมาตรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ส่งเสริมภาคการผลิตของไทยกลับมาดำเนินการได้มากขึ้น ประกอบกับอุปสงค์จากตลาดต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น สนับสนุนให้การส่งออกของไทย 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 199,997.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 15.5% ล่าสุด คณะรัฐมนตรียังมีมติ (9 พ.ย. 2564) รับทราบผลการคัดเลือกผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F มีมูลค่าการลงทุนรวม 79,200 ล้านบาท โดยคาดว่า ท่าเรือ F1 จะเปิดบริการได้ภายในปี 2568 รองรับสินค้าได้เพิ่มขึ้น 2 ล้านตู้ต่อปี เตรียมความพร้อมต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกของประเทศด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น